ผลิตอวัยวะจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในอวกาศ โดยไม่ต้องรอการบริจาค

Logo Thai PBS
ผลิตอวัยวะจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในอวกาศ โดยไม่ต้องรอการบริจาค
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำรวจความเป็นไปได้ของการผลิตอวัยวะด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติในอวกาศ ซึ่งอาจช่วยแก้ไขปัญหาอวัยวะบริจาคขาดแคลนในปัจจุบัน

การปลูกถ่ายอวัยวะนั้น ถือว่าเป็นศาสตร์ทางการแพทย์ที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยมาหลายล้านชีวิตทั่วโลกแล้ว แต่ทว่าในปัจจุบันความต้องการอวัยวะปลูกถ่ายที่สูงขึ้น ทำให้ยอดบริจาคไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน มิหนำซ้ำผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการปลูกถ่ายก็กลับถูกภูมิคุ้มกันของตนปฏิเสธอวัยวะใหม่ ซึ่งนำไปสู่การใช้ยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต จนกว่าจะได้รับอวัยวะปลูกถ่ายชิ้นใหม่

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นในปัจจุบันได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ "เครื่องพิมพ์ 3 มิติ" ว่าสักวันหนึ่งอาจจะสามารถพิมพ์อวัยวะสำหรับการปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยได้ไม่ว่าจะเป็นม้าม ตับ ไต หรือปอดก็ตาม โดยที่ไม่ต้องรอเวลาบริจาค ขณะที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ ต่อผู้ป่วย

ด้วยการใช้วิธีนำ “สเต็มเซลล์” (Stem Cell) ของผู้ป่วยเองมาใช้ในกระบวนการพิมพ์ ซึ่งสเต็มเซลล์นี้ ก็คือเซลล์ต้นกำเนิดที่สามารถแบ่งตัวเป็นอวัยวะต่าง ๆ ได้ มาจัดเรียงในโครงสร้างอวัยวะที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ คล้ายกับการเตรียมนั่งร้านก่อสร้างให้สเต็มเซลล์มาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป

แต่ทว่าแรงโน้มถ่วงของโลกนั้นกลับทำให้โครงสร้างที่บอบบางและประณีตนี้ล้มลงหรือผิดรูปไปด้วยน้ำหนักของตน จึงทำให้ในปัจจุบันเราสามารถผลิตแค่ชิ้นส่วนอวัยวะเล็ก ๆ อย่างเนื้อเยื่อผิวหนังบางส่วน และหลอดเลือดเท่านั้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ได้เสนอวิธีการแก้ไขนี้ด้วยการนำเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ขึ้นไปบนอวกาศ เนื่องจากคุณสมบัติสภาวะไร้น้ำหนักของอวกาศที่เอื้อต่อการพิมพ์อวัยวะมากกว่า

ล่าสุดทาง Redwire บริษัทอวกาศสัญชาติสหรัฐฯ ได้ส่งเครื่องพิมพ์ 3 มิติรุ่นทดสอบ ขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติผ่านทางองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Aeronautics and Space Administration - NASA) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา เพื่อทดลองการพิมพ์ "หมอนรองกระดูกข้อเข่า" เป็นครั้งแรก

หากภารกิจนี้ประสบความสำเร็จไปด้วยดี การผลิตอวัยวะปลูกถ่ายที่ซับซ้อนมากขึ้นก็จะถูกนำไปพัฒนาต่อไป ซึ่งจะช่วยผู้ป่วยที่กำลังเฝ้าคอยอวัยวะจากการบริจาคได้หลายชีวิตในอนาคต

ที่มาข้อมูล: PHYS.ORG , Nation Library of Medicine
ที่มาภาพ: The French National Centre for Scientific Research
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง