พบอีก 3 จุดซีเซียม-137 ในเตาหลอมเหล็ก-ดึงกลาโหมลุยค้นหา

อาชญากรรม
21 มี.ค. 66
19:28
2,170
Logo Thai PBS
พบอีก 3 จุดซีเซียม-137 ในเตาหลอมเหล็ก-ดึงกลาโหมลุยค้นหา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปส.พบอีก 3 จุดสารซีเซียม-137 ในโรงหลอมเหล็ก ยังไม่ชัดว่าใช่จากแท่งเหล็กหายจากโรงไฟฟ้าหรือไม่ ประสาน "กลาโหม" ลุยตามหาแท่งเหล็กที่หายไป นักวิชาการ จี้รัฐเปิดเผยปริมาณซีเซียมที่สูญหาย

ความคืบหน้ากรณีตรวจหาสารซีเซียม-137 ในโรงหลอมเหล็กที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งล่าสุดมีการสั่งปิดโรงหลอมเหล็กชั่วคราวแล้ว 

วันนี้ (21 มี.ค.2566) เมื่อเวลา 18.00 น.นายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่พบสารซีเซียม-137 เพิ่มเติม 3 จุดในโรงหลอม นอกเหนือจากในบิ๊กแบ็ก ที่พบ 24 ตัน แต่ยังไม่ชัดว่าใช่จากแท่งเหล็กหายไปจากโรงไฟฟ้าไอน้ำหรือไม่  

จุดแรกอยู่ที่เตาหลอม จุดสองปล่องดักฝุ่น และจุดสามที่กรองฝุ่นบริเวณเตาหลอม ซึ่งเป็นการพบที่เตาหลอม 1 เตา ส่วนอีก 2 เตา เจ้าหน้าที่ตรวจแล้วไม่พบสารสีเซียมปนเปื้อน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ว่า สารซีเซียม-137 ที่ตรวจพบรังสีจากถุงบิ๊กแบ็ก 24 ถุง เจ้าหน้าที่ยังไม่ยืนยันว่า เป็นสารซีเซียม-137 เดียวกันกับแท่งเหล็กขนาด 25 กิโลกรัมที่มีสารซีเซียมอยู่ในนั้นและหายไปจากโรงไฟฟ้าเนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัดหรือไม่

จากนี้จะประสานกับทางกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ช่วยตามหาแท่งเหล็กต้นเหตุนี้ ซึ่งปส. ได้ประสานเจ้าหน้าที่จากกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องมือและบุคลากร ลงพื้นที่มาช่วยค้นหาเป็นการเฉพาะหลังจากนี้

พบรถบรรทุกเหล็กเข้าออกโรงงาน

ขณะที่ทีมข่าวสังเกตพบว่า ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเข้าไปภายในโรงหลอม เพื่อตรวจสอบการวัดค่าซีเซียม-137 แต่ปรากฎว่ามีรถบรรทุก ผ่านเข้าและออกภายในโรงหลอมเป็นระยะๆ ทั้งที่มีการสั่งปิดโรงหลอมแล้วก็ตาม

ประเด็นนี้ นายกิตติ์กวิน​ ชี้แจงว่า เป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการออกคำสั่งหรือไม่ ซึ่งปส. ไม่ได้มีหน้าที่ หรือถือกฎหมายในการสั่งปิดหรือไม่สั่งปิด ต้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมตัดสินใจ แต่ปส.จะทำรายงานสรุปผลการตรวจหารังสี วันนี้ประกอบให้พิจารณา

ส่วนความเคลื่อนไหวนอกโรงงาน วันนี้ เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามตรวจหาค่ารังสีบริเวณชุมชนโดยรอบโรงหลอม จำนวน 4 ชุมชน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในระหว่างนี้ ที่ยังต้องตรวจหาว่า มีสารปนเปื้อนหรือไม่

อ่านข่าวเพิ่ม ปส.วิเคราะห์ดีเอ็นฝุ่นแดงเทียบ "ซีเซียม-137" หายเอาผิดทางคดี

ผู้เชี่ยวชาญรังสีไม่กังวลซีเซียม เหตุปริมาณน้อย

แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยืนยันว่า โรงหลอมที่พบการปนเปื้อนของซีเซียม-137  เป็นระบบปิด ไม่มีการปนเปื้อน หรือฟุ้งกระจายสู่ภายนอก แต่ยังไม่ทำให้ประชาชนคลายกังวล นักวิชาการด้านรังสี คำนวณว่าซีเซียมที่ปนเปื้อน มีปริมาณน้อยมาก จึงไม่น่ากังวล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ นายกสมาคมรังสีเทคนิคนานาชาติ ระบุว่า

ไม่น่ากังวล ว่าจะแพร่กระจายในวงกว้างยกเว้นได้รับหรือสัมผัสระยะใกล้ เช่น กอดไว้นานหลายชั่วโมง หรือสูดฝุ่นจากการหลอม ทำให้ผิวหนังอักเสบไหม้

อธิบายให้เห็นภาพ ทำไมอาจารย์ถึงบอกว่า ไม่ต้องกังวลขนาดนั้น  ปกติ เวลาเรานั่งกันอยู่เฉยๆแบบนี้ เราจะได้รับปริมาณรังสีอยู่แล้ว เพราะรังสีจะปนอยู่ในธรรมชาติ เรียกว่า "รังสีพื้นหลัง" และถ้าสมมติว่าระบบไม่ได้ปิดแล้วฝุ่นกัมมันตรังสี ฟุ้งกระจายไปในสิ่งแวดล้อมจริงๆ ปริมาณรังสี จะไม่มากไปกว่ารังสีพื้นหลังที่เราได้รับทุกวัน ดังนั้นจะไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่อันตรายเลย

คนที่ต้องห่วงคือ คนที่อยู่ใกล้แท่งซีเซียม สัมผัสโดยตรง อาจมีอาการผิวหนังไหม้ และเลนส์ตาขุ่นมัว เป็นต้อกระจกเฉียบพลัน


และในแท่งเหล็กทรงกระบอก มีซีเซียม 0.0005 กรัม จึงเทียบไม่ได้กับเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในเชอร์โนบิลระเบิด เพราะเหตุการณ์นั้นมีซีเซียม-137 ถูกปล่อยออกมา 27 กิโลกรัม ความแรงมากกว่า 57 ล้านเท่า "ดังนั้นจึงเทียบกันไม่ได้"

อาจารย์เสนอว่า ควรจำลองเส้นทางของแท่งซีเซียม-137  ว่าเดินทางไปที่ไหนมาบ้าง และมีใครสัมผัสบ้าง แม้ผลการตรวจร่างกายกลุ่มเสี่ยงเบื้องต้น จะไม่พบความผิดปกติ 

จี้รัฐเปิดเผยปริมาณซีเซียมที่สูญหาย

ศาสตราจารย์วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกปริมาณ และความเข้มข้น ของสารซีเซียมในแท่งเหล็ก ประชาชนจึงจะเข้าใจอันตราย และลดความกังวล แต่ข้อมูลที่แจ้งคือ แท่งเหล็ก มีน้ำหนัก 25 กิโลกรัม เป็นน้ำหนักรวมของเหล็กและตะกั่ว ที่หุ้มรังสีอยู่

อาจารย์เชื่อว่า น้ำหนักแท้จริงของซีเซียม อาจจะเป็น "กรัม" ซึ่งการหาปริมาณที่แท้จริง ต้องเทียบกับการใช้ประโยชน์ในอุปกรณ์ลักษณะเดียวกัน หรือ สอบถามผู้ผลิตอุปกรณ์"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

NGO จี้รายงานผลสอบสวนซีเซียม-137 หายต่อสาธารณะ

แจงปมโซเชียลใช้ "ผ้าใบ" คลุมฝุ่นแดงซีเซียม-137

ผู้ว่าฯปราจีนจ่อสั่งปิดชั่วคราวโรงงานหลอมซีเซียม-137

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง