"ซัยโจ เด็นกิ" แจงปมแอร์กรมสรรพากร-ตั้งคำถาม TOR เหมารวมดูแลไฟฟ้าถึงงานแม่บ้าน

สังคม
7 เม.ย. 66
19:17
2,317
Logo Thai PBS
"ซัยโจ เด็นกิ" แจงปมแอร์กรมสรรพากร-ตั้งคำถาม TOR เหมารวมดูแลไฟฟ้าถึงงานแม่บ้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"บริษัท ซัยโจ เด็นกิ" ชี้แจงปัญหาระบบปรับอากาศ กรมสรรพากร เกิดจากการดัดแปลงโครงสร้างสำคัญของระบบระบายความร้อนและเครื่องปรับอากาศ พร้อมตั้งข้อสังเกตทีโออาร์จ้างบำรุงรักษาเป็นสัญญาเหมารวมงานตั้งแต่ดูแลระบบไฟฟ้า แอร์ ไปจนถึงงานแม่บ้าน

กรณีสรรพากรดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ปรับปรุงเปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศใหม่ทั้งอาคารสำนักงานใหญ่ วงเงินเกือบ 200 ล้านบาท โดยผู้ชนะประมูลเป็นบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยตรวจรับแล้วแต่ใช้งานได้ไม่นานระบบทำความเย็นก็เริ่มขัดข้อง เรื่องดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์จนเอกชนผู้ชนะประมูลโครงการต้องออกมาชี้แจง   

วันนี้ (7 เม.ย.2566) นายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล ในฐานะผู้ชนะประมูลโครงการปรับปรุงและติดตั้งระบบปรับอากาศ ภายในสำนักงานอาคารกรมสรรพากร ส่วนกลาง ถนนพระราม 6 แสดงภาพปั๊มน้ำที่หายไป การปิดวาล์วปั๊มน้ำและยังถอดสายเซนเซอร์ออกจากแผงวงจรควบคุมระบบ ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งทำให้ระบบปรับอากาศภายในสำนักงานกรมสรรพากรขัดข้องต่อเนื่อง เพราะลักษณะอาคารติดตั้งด้วยกระจกโปร่งใส ดูดซับความร้อนจากภายนอก ที่ระดับอุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส ร้อนกว่าข้อกำหนดในทีโออาร์ 43 องศาเซลเซียส

บริษัทต้องออกแบบปรับปรุงระบบระบายความร้อนอาคารใหม่ จากเดิมมีเพียงระบบระบายอากาศเพียงอย่างเดียว เป็นระบบระบายความร้อน ด้วยอากาศและไอน้ำภายในอาคารที่มีพื้นที่จำกัด

ดังนั้นการปิดระบบวาล์วน้ำและเอาเครื่องปั๊มน้ำออกถือเป็นการดัดแปลงโครงสร้างสำคัญระบบควบคุมอุณหภูมิอาคาร ส่งผลกระทบต่อระบบระบายความร้อนและการควบคุมอุณหภูมิ ทำให้ระบบเกิดความเสียหายประมาณ ร้อยละ 50-60 ของอาคาร คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

เป็นเพียงผู้ออกแบบ-ติดตั้ง ไม่เกี่ยวระบบซ่อมบำรุงรักษา

ผู้บริหาร บริษัท ซัยโจ เด็นกิ กล่าวอีกว่า บริษัทเป็นเพียงผู้ออกแบบและติดตั้งระบบปรับอากาศ ไม่เกี่ยวข้องกับงานระบบซ่อมบำรุงรักษา ซึ่งมีอีกบริษัทเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งแยกสัญญาและทีโออาร์คนละฉบับ

ก่อนตั้งข้อสังเกตว่า ทีโออาร์จัดซื้อจัดจ้างระบบซ่อมบำรุงรักษาอาคารเป็นแบบเหมารวม ตั้งแต่ดูแลระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้า ระบบลิฟท์ ไปจนถึงงานทำความสะอาดและงานรักษาความปลอดภัย ส่งผลให้ขาดผู้เชี่ยวชาญดูแลระบบปรับอากาศที่มีความซับซ้อน

ประกอบกับการใช้งานและบำรุงรักษาที่ผิดปกติส่งผลให้ระบบขัดข้องไม่สิ้นสุด ส่วนการเสนอราคาประมูลที่ต่ำกว่าราคากลางกว่า 100 ล้านบาท เพราะบริษัทต้องการให้โครงการนี้เป็นผลงานบริษัท หรือ งานโชว์เคสนวัตกรรม แต่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

ข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมสรรพากร พบว่า บริษัท วรวุฒิ แอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมาย และบริษัท ไมซ์ แมนเนจเม้นท์ เป็นบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกเข้าดำเนินการงานสัญญารับจ้างเหมาเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศและดูแลอาคาร กรมสรรพากร ส่วนกลาง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ท่ามกลางข้อสังเกตว่า บริษัทดังกล่าวได้รับการคัดเลือกมาอย่างต่อเนื่อง ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ เกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงเป็นการทำหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่หน่วยงานกำหนดรายใดรายหนึ่งเข้ายื่นเสนอราคาโครงการมูลค่าไม่เกิน 500,000 บาทต่อโครงการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง