สัมภาษณ์พิเศษ ผอ.เขตราชเทวี : กรณีปมร้อน จนท.รีดส่วยเลี่ยงภาษี

สังคม
12 เม.ย. 66
13:01
678
Logo Thai PBS
สัมภาษณ์พิเศษ ผอ.เขตราชเทวี : กรณีปมร้อน จนท.รีดส่วยเลี่ยงภาษี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทำไมต้องจ่ายภาษี 40 ล้านบาท หลัง หน.ฝ่ายรายได้ สนง.เขตราชเทวี กทม. ถูกจับคาสินบน 3.2 ล้านบาท ผอ.เขต เผยยอมรับปัญหาใหญ่ ระบบตรวจสอบยาก เหตุอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ดุลพินิจเจ้าหน้าที่

จากกรณีเจ้าหน้าที่ ปปท. บก.ปปป. ปปง.และ ปปช. สนธิกำลังจับกุม “หัวหน้าฝ่ายรายได้” สำนักงานเขตราชเทวี คาเงินสดของกลาง 3.2 ล้านบาท เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2566 เรียกรับผลประโยชน์แลกกับที่ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นนักธุรกิจไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือน 40 ล้านบาท

ต่อมาเจ้าหน้าที่ขยายผลตรวจค้นทั้งบ้าน ทั้งรถยนต์ข้าราชการคนดังกล่าว พบเงินสด 6.9 ล้านบาท ซุกซ่อน รวมถึงโฉนดที่ดินอีกหลายแปลง และพระเครื่องอีกจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างขยายผลรายชื่อเกี่ยวข้องอีกจำนวนกว่า 10 คน และเจ้าตัวถูกคำสั่ง กทม.“พักราชการ” ในขณะนี้

ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ นายณันทพงศ์ สินมา ผอ.สำนักงานเขตราชเทวี ผู้บริหารสูงสุดขอบเขต ที่เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการคนดังกล่าว เพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับระบบภาษี และการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น

นายณันทพงศ์ สินมา ผอ.เขตราชเทวี

นายณันทพงศ์ สินมา ผอ.เขตราชเทวี

นายณันทพงศ์ สินมา ผอ.เขตราชเทวี

ถาม : สิ่งที่ต้องทำต่อหลังจากเกิดเรื่องคืออะไร

นายณันทพงศ์ : สำนักงานเขตราชเทวีได้ทำ 3 ประเด็น คือ 1.รายงานต่อ นายขจิต ชัชวานิชย์ปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อเสนอให้ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงในช่วงที่ผ่านมา พร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 2.สั่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด เนื่องจากเกิดเหตุนี้เป็นตัวอย่างแล้ว

และ 3.สั่งตรวจสอบกระแสข่าวที่ว่าสำนักงานเขตราชเทวี ประเมินภาษีเกินจริงหรือไม่ รวมถึงสั่งเจ้าหน้าที่ประเมินโครงการที่เกิดเหตุ และการจ่ายภาษีในเขตราชเทวีทั้งหมด โดยให้เจ้าหน้าที่รายงานโดยเร็ว

ถาม : ผอ.เขตทราบว่าเกิดเรื่อง ตั้งแต่เมื่อไหร่

นายณันทพงศ์ : ทราบวันบุกจับเลยครับ (4 เม.ย.2566) วันนั้นผมกำลังนั่งประชุมทีมบริหารของสำนักงานเขตราชเทวี ช่วงเวลา 13:30 น. เพื่อกำชับนโยบาย ผู้ว่าฯ กทม.เป็นหลัก และผลการดำเนินการรวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทุกเรื่อง ซึ่งตอนนั้นหัวหน้าฝ่ายรายได้ (คนถูกจับ) เข้าร่วมประชุมด้วยกัน แต่ช่วงเวลาประมาณ 14.00 น.เศษ เขาขออนุญาตผมออกไปตรวจภาษีป้าย แถวถนนเพชรบุรี เขาอ้างเช่นนั้น ผมก็อนุญาต

จากนั้นเวลา 16.00 น มีผู้ใหญ่โทรศัพท์มาสอบถามผมว่า มีการจับเจ้าหน้าที่รายได้หรือ ซึ่งผมยังประชุมอยู่ จึงบอกไปว่า ขอตรวจสอบก่อน และมาทราบจากข่าวแล้วว่า เจ้าหน้าที่สนธิกำลังจับกุมหัวหน้าฝ่ายรายได้

ตอนนั้นรู้สึกตกใจครับ ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เป็นการทำให้ข้าราชการดีๆ หลายคนเสียขวัญกำลังใจ เพราะก่อนนี้ ไม่มีเบาะแสมาก่อน แม้แต่ผู้ประกอบการที่เป็นข่าวด้วย ก็ไม่เคยแจ้งมาที่ตัวผู้อำนวยการเขต ไม่เคยแม้แต่มากระซิบหรือว่าบอกกล่าวอะไร นั่นทำให้ ผมในฐานะ ผอ.เขตราชเทวี ไม่รู้เรื่องและไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ และยังต้องคอยตอบคำถามสังคมตลอด กลายเป็นว่า ผอ.เขตไม่รู้เรื่องอะไรเลยหรือ

ถาม : ตัวเลขภาษีรวมกว่ามูลค่า 40 ล้านบาท ที่ข้าราชการผู้ถูกจับ อ้างให้ผู้ประกอบการนำเงินสินบน 3.2 ล้านมาแลก จะได้ไม่ต้องเสียภาษีส่วนนี้ เป็นภาษีจากโครงการอะไร

นายณันทพงศ์ : เป็นโครงการ บี แกลเลอรี่ (B-Gallery) เขตราชเทวี โครงการนี้ ผู้ประกอบการ ขออนุญาตสร้างเป็นอาคารในลักษณะพื้นที่ให้เช่าขายเสื้อผ้า คล้ายพลาซ่า คล้ายห้างสรรพสินค้า เท่าที่ได้ตรวจสอบข้อมูลภาษีเบื้องต้น เป็นก้อนภาษีตั้งแต่ปีเก่าๆ นับตั้งแต่ ผู้ประกอบการขอก่อสร้างอาคารเมื่อปี 2556 ไล่มาเป็นระยะเวลา 6 ปี จนถึงปี 2561 ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีเฉลี่ยปีละประมาณกว่า 3 ล้านบาท รวมที่ผ่านมา 6 ปี มูลค่ารวมประมาณเกือบ 20 ล้านบาท

ถาม : เกิดอะไรขึ้น ตัวเลขภาษีจึงสะสมมาเพิ่มเป็น 40 ล้านบาท ตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่ชุดบุกจับระบุ

นายณันทพงศ์ : เนื่องจากอาคารนี้ ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไม่ได้จ่ายภาษี ซึ่งทางฝ่ายรายได้เขาไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม แต่ไม่ใช่หัวหน้าฝ่ายรายได้คนที่ถูกจับ แต่เป็นเจ้าหน้าที่อีกคนไปตรวจสอบ พบว่าระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายนี้ก็ไม่ได้เสียภาษี

แต่หลังจากมีกฎหมายใหม่ “พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2562” ผู้ประกอบการรายนี้ จึงเริ่มเสียภาษี และเสียต่อเนื่องมา 2-3 ปี แต่มูลค่าภาษีที่เพิ่มขึ้นเป็น 40 กว่าล้านบาทเพราะว่าต้องรวมกับภาษีเก่าในช่วง 6 ปี (ปี 2556 -2561) ที่ไม่ได้จ่าย บวกกับภาษีใหม่ ปีปัจจุบัน 2566 ซึ่งภาษีปัจจุบันผู้ประกอบการรายนี้ก็ยังไม่ได้เสียเช่นกัน

ซึ่งสำนักงานเขตได้ประเมินโดยเห็นว่า มีมูลค่าที่ต้องเสียภาษีไม่ต่ำกว่าปีก่อนๆ (ปีละกว่า 20ล้านบาท) จึงรวมเป็นกว่า 40 ล้านบาท ซึ่งตัวเลข 40 ล้านบาท จึงไม่ใช่ตัวเลขที่เกินจริง นี่คือการตรวจสอบเบื้องต้น

ถาม : ทำไมผู้ประกอบการ จึงไม่เสียภาษีมาถึง 6 ปี แล้วจู่ ๆ มาจ่ายปี 2562 เกิดอะไรขึ้น แล้วรูปแบบการเก็บภาษีต้องเป็นอย่างไรกันแน่

นายณันทพงศ์ : ตามปกติผู้ประกอบการต้องเสียภาษีเต็มอัตรา จะมีเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่รัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ออกมาตรการช่วยเหลือ ให้ช่วงปี 2562 และ 2563 เก็บภาษีแค่ 10 % ของมูลค่าภาษีที่ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องชำระทั้งหมด เช่น ถ้าเขาต้องเสียภาษี 100 บาท ก็ให้เสียขั้นต่ำ 10 บาท เป็นมาตรการช่วยเหลือช่วงโควิด

แต่ต่อมาปี 2565 รัฐบาลให้เริ่มกลับมาเก็บภาษีแบบที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเต็ม 100% และในปี 2566 รัฐบาลก็ปรับลดลงมาอีก ให้เก็บภาษีแค่ 15%

ซึ่งผู้ประกอบการรายนี้เสียภาษี เฉลี่ยประมาณ 20 กว่าล้านบาท และส่วนปี 2566 ก็ต้องเสียกว่า 20 กว่าล้านบาทเช่นกัน แต่ต้องบวก ภาษีย้อนหลังไปอีก 6 ปี ตั้งแต่ปี 2556 (ก่อนหน้าโควิค) ที่ผู้ประกอบการรายนี้ ไม่ได้จ่ายจึงรวมเป็นกว่า 40 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบย้อนหลังพบ

ส่วนรูปแบบภาษี ปัจจุบันเราเรียกว่าค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ถ้าย้อนหลังไปก่อนที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีผลปี 2562 ก่อนหน้านั้นเราเรียกว่า “ภาษีโรงเรือนและที่ดิน” ทั้ง 2 ฉบับนี้ มีความแตกต่างกันตรงที่เรทอัตราการคิดคำนวณภาษี ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันมาก แต่ผลลัพธ์คือภาษีต้องเข้าหลวงหมด

สำหรับการจัดเก็บภาษีรายได้ฯ ของ กทม. ไม่เหมือนภาษีสรรพากร ที่เมื่อหมดปีปรับแล้วหมดเลย แต่ภาษีรายได้ฯ เป็นช่วงของปีภาษีที่ต้องทยอยเก็บ ประชาชนจะทยอยเสียไม่ใช่รูปแบบกาาจ่ายครั้งเดียวแล้วหมดเลย ซึ่งจะมีการให้จ่ายเป็นช่วงๆ เช่น ภาษีป้าย, ภาษีโรงเรือน อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม

แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการจัดเก็บช่วงเดือนเมษายน ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลหรือส่วนกลาง ก็ยังขยายระยะเวลาออกไปอีก 2 เดือนจนถึง 30 มิถุนายน 2566 นี้ ทำให้ช่วงที่ต้องจ่ายภาษีของประชาชา สามารถยื่นออกไปได้อีก และส่งผลให้ประชาชนอีกจำนวนมาก ยังไม่ได้เสียภาษีแต่จะไปรอเวลาใกล้ๆ จึงค่อยเสีย

ถาม : แล้วการจัดเก็บภาษีของเขตราชเทวี เป็นอย่างไร

นายณันทพงศ์ : มีบางกระแสว่าเราจัดเก็บต่ำเกินจริง จริงๆ แต่ละปีจะจัดเก็บไม่เหมือนกัน ซึ่ง ผู้ว่าฯ กทม.ยุคนายชัชชาติ ระบุแล้วว่า ภาษีเหล่านี้จำเป็นจะต้องมีการจัดเก็บ ในอัตราของปัจจุบัน ส่วนของเก่าบางปีเราไม่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทั้งหมด ก็จะดูได้แค่ของปัจจุบัน แต่ถ้ามีปีไหนตรวจสอบได้ ก็จะพบข้อมูลที่เพิ่มขึ้นมา

แต่ภาพรวมจะอยู่ที่การประมาณการณ์ ในการจัดเก็บแต่ละปี เช่น เขตราชเทวี ปีที่แล้ว ถ้าจำไม่ผิดตัวเลขประมาณการณ์อยู่ที่กว่า 240 ล้านบาท แต่ความเป็นจริงเราจะเก็บภาษีได้กว่า 300 ล้านบาท สูงเกินเป้ากว่า 40 %

ถาม : ถ้าเช่นนั้น เฉพาะกรณีที่เป็นประเด็น ผอ.บอกว่า ผู้ประกอบการไม่ได้เสียภาษีมาแล้วถึง 6 ปีย้อนหลัง มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ประกอบการอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เสียภาษีเช่นเดียวกัน

นายณันทพงศ์ : มีความเป็นไปได้ จริงๆ เราตรวจสอบทุกๆ พื้นที่ แต่เนื่องจากว่าอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เราน้อย แต่พวกนี้มีเยอะบางทีเขาซุกซ่อนอยู่ ซึ่งบางทีเจ้าหน้าที่เห็นข้อมูลจากการเสียภาษีในปัจจุบัน แล้วก็นึกว่าผู้ประกอบการก็เสียภาษีมาตลอด แต่ถ้าต้องไปตรวจย้อนหลัง 5 -6 ปี แล้วพบว่าหากมีผู้ประกอบการรายใด ไม่เคยเสียภาษีย้อนหลังมาก่อนเลย ก็ต้องไล่ดูเรียกจัดเก็บเพิ่ม

ถาม : กรณีที่เกิดขึ้นข้าราชการที่รับสินบน พยายามจะยื้อให้ผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายภาษีกว่า 40 ล้านบาท โดยขอแลกกับสินบน 3.2 ล้านบาท มีโอกาสเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ได้หรือไม่

นายณันทพงศ์ : ประเด็นนี้คงตอบไม่ได้ 100 % แต่การทำลักษณะนี้ไม่เสียภาษีเลย ผมไม่แน่ใจว่าผู้ประกอบการยังไม่จ่ายภาษีเอง หรือเจ้าหน้าที่เขตสมยอมร่วมด้วย แต่บางส่วนที่ผมเคยทราบข้อมูลมา ได้ยินมาคือ อาจมีลักษณะการจ่ายภาษีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น มีอยู่จริงครับ แต่ที่ไม่เสียภาษีเลยผมไม่แน่ใจ แต่ก็มีอยู่ในหลายๆ เขต แต่ เป็นข้อมูลเท่าที่เคยได้ยินมา ยังไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้

ถาม : อะไรเป็นจุดอ่อนที่สุด ที่ทำให้เกิดช่องว่างจนนำไปสู่การเรียกรับสินบน หรือ เรียกรับเงินกันได้

นายณันทพงศ์ : จุดอ่อนผมว่าเป็นที่คน เป็นเฉพาะบุคคล ไม่ได้เป็นที่ระบบ หรือหน่วยงาน เป็นเฉพาะบุคคลที่พยายามหาช่องทาง หากเขามีโอกาสเขาก็ทำ

ถาม : สำนักงานเขตจะมีระบบอะไรที่มาป้องกัน ให้สังคมมั่นใจหรืออย่างที่ผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า ต้องทำระบบออนไลน์ เพื่อความโปร่งใส

นายณันทพงศ์ : เป็นนโยบายของผู้บริหารอยู่แล้วครับ ที่กำลังจะทำเรื่องออนไลน์ แต่เบื้องต้น ตั้งแต่ผมมารับตำแหน่งเดือนมกราคม 2565 ก็ได้กำชับกันเป็นระยะๆ ด้วยอีกทางแล้ว แต่พฤติกรรมส่วนบุคคล ไม่สามารถจะไปเจาะจงได้ และที่ผ่านมาเนื่องจากฝ่ายรายได้ทั้งเจ้าหน้าที่และหัวหน้าฝ่ายเป็นพนักงานโดยตำแหน่งอยู่แล้ว สามารถประเมินเองได้ สามารถออกจดหมายแจ้งไปตัวผู้เสียภาษีได้โดยตรง

และตัวหัวหน้าฝ่ายรายได้ เขามีสิทธิ์ในการแจ้งเตือนได้โดยตรง และสามารถประเมินได้เบ็ดเสร็จในตัวเขาเอง ซึ่งทาง ผอ.เขต ไม่ทราบว่าเขาประเมินอย่างไร นอกจากมีเรื่องที่ประชาชน หรือ ผู้ประกอบการ ร้องเรียนหรือยื่นอุทธรณ์ขึ้นมา ว่า มีสิ่งผิดปกติ หรือ ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีปัญหาอะไร ปกติแล้ว ผอ.เขต ไม่ได้ดูแล

ซึ่งหลังจากนี้ ถ้ามีการสร้างระบบออนไลน์มาบริการประชาชน ก็จะช่วยลดขั้นตอนน้อยลง, ทำให้ข้อมูลชัดเจนปรากฏมากขึ้นตรวจสอบได้ โปร่งใสมากขึ้น ผู้บริหารหรือประชาชนก็ตรวจสอบระบบได้เลย แต่อย่างกรณีที่เกิดขึ้น ระบบแบบนี้ทุกวันนี้ยังเป็นระบบเอกสาร ระบบแฟ้ม ซึ่งภาพรวมในพื้นที่เขตราชเทวี มีจำนวน "หลังคาเรือน" มากกว่า 10,000 หลังคาเรือน มันคงไม่สามารถดูได้หมด

ถาม : ท่านจะให้ความมั่นใจกับสังคมได้อย่างไรว่า จะไม่เกิดปัญหาทุจริตอีก

นายณันทพงศ์ : ความมั่นใจ ผมพยายามสร้างตั้งแต่ผมมารับตำแหน่ง พยายามแก้ให้หมดไปเรื่อย ๆ รวมถึงช่องทางร้องเรียนตามที่ท่านผู้ว่าฯ กทม.ระบุคือผ่าน ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) แต่เรื่องแบบนี้มันต้องใช้เวลา พฤติกรรมของคนมันก็ต้องใช้เวลาเราก็ทราบกันดีว่า สังคมไทยเราเป็นแบบไหน เป็นอย่างไรบ้าง เราต้องค่อยๆ ช่วยกัน

กำจัดออกไป เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถเจาะจง 100% ได้ว่า ที่นี่ต้องสะอาด 100% ผมว่าคนไทยยอมรับเถอะว่าไม่มีทางหรอกทุกวงการจะเป็นแบบนี้หมด แต่คนดีๆ ยังอยู่อีกเยอะครับไม่ใช่อย่างนั้นทุกคน


สัมภาษณ์ : ภัทราพร ตั๊นงาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง