หลากเหตุผล-หลายปัจจัย คนอยากติด โซลาร์ เซลล์

สังคม
20 เม.ย. 66
15:53
456
Logo Thai PBS
หลากเหตุผล-หลายปัจจัย คนอยากติด โซลาร์ เซลล์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่ใช่เฉพาะ "อยากลดค่าไฟ" เหตุผลหลักที่ทำให้คนสนใจการติดตั้ง "โซลาร์ เซลล์" แต่การ "อยากขายไฟคืน" ให้การไฟฟ้า เป็นอีกเหตุผลสำหรับผู้ที่มองเห็นช่องทางการทำเงินจากวัตถุดิบพลังงานแสงอาทิตย์ แต่จะคุ้มค่าหรือไม่ คงไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินใจได้ภายในอึดใจเดียว
สนใจอยากติด โซลาร์ เซลล์ แต่คงต้องพิจารณากันอีกเป็นปี

เสียงสัมภาษณ์จากผู้ใช้ไฟรายหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ พร้อมกับการเปิดบิลค่าไฟฟ้าเดือน มี.ค.2566 ในราคาเกือบ 25,000 บาท ให้ทีมข่าวดู พร้อมให้เหตุผลหลักว่า ด้วยความเหมาะสมของอาคารที่อาศัยอยู่ ด้านบนมีพื้นที่กว้างมากพอ เหมาะแก่การติดตั้ง โซลาร์ เซลล์ จำนวนมาก จึงมีความคิดที่จะติดตั้ง เพื่อนำไฟฟ้ามาขายคืนให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

แต่ความตั้งใจดังกล่าวอาจต้องพักไว้ พร้อมกับการหาข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้นอีก เพราะ "ประเภทผู้ใช้ไฟ" ของอาคารพาณิชย์หลังดังกล่าว จดทะเบียนในนาม "กิจการขนาดเล็ก" ซึ่งมีเพียง ผู้ใช้ไฟประเภท "บ้านอยู่อาศัย" เท่านั้น ที่จะสามารถขายไฟคืนให้การไฟฟ้าได้

"การไฟฟ้านครหลวง" แบ่งประเภทผู้ใช้ไฟออกเป็น 8 ประเภท

ประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย
ประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก
ประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง
ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่
ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง
ประเภทที่ 6 องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร
ประเภทที่ 7 กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร
ประเภทที่ 8 ผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว

มากไปกว่านั้น หากจะติดตั้ง โซลาร์ เซลล์ เพื่อขายไฟคืนให้ได้จริงๆ ต้องติดตั้งแบบ On Grid หรือ การติดตั้งระบบที่เชื่อมโครงข่ายหรือต่อคู่ขนานกับการไฟฟ้า โดยหากแผง โซลาร์ เซลล์ ที่ติดตั้งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเกิน ก็จะสามารถนำมาขายคืนให้การไฟฟ้าได้

แต่ต้องมีการขออนุญาต รวมถึงทำสัญญาขายไฟให้การไฟฟ้าด้วย ในราคา 2.20 บาท/หน่วย เป็นเวลา 10 ปี

ขั้นตอนการทำสัญญา ดังนี้

  1. ยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้า
  2. การไฟฟ้าแจ้งผลการพิจารณาแบบคำขอขายไฟฟ้า
  3. การไฟฟ้าแจ้งผลการพิจารณาทางเทคนิค
  4. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก
  5. ชำระค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า จำนวน 8,500 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบ Solar PV Rooftop)
  6. ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและขอใบอนุญาตจาก กกพ.
  7. จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ผู้ที่จะยื่นขอผลิตไฟฟ้าจะต้องเป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (ชื่อเดียวกับชื่อในบิลค่าไฟฟ้า) และเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าต้องเป็นทรัพย์สินของการไฟฟ้า แต่หากชื่อไม่ตรง ก็ทำเรื่องแก้ไขภายหลังได้

ในเรื่องของความคุ้มค่า หากต้องการเข้าร่วมโครงการขายไฟคืน จากการคำนวณตัวเลขเบื้องต้น

  • ขนาดติดตั้ง 3 กิโลวัตต์ คิดเป็นเงินจากการขายไฟคืนประมาณ 792 บาท/เดือน
  • ขนาดติดตั้ง 5 กิโลวัตต์ คิดเป็นเงินจากการขายไฟคืนประมาณ 1,320 บาท/เดือน
  • ขนาดติดตั้ง 10 กิโลวัตต์ คิดเป็นเงินจากการขายไฟคืนประมาณ 2,640 บาท/เดือน

*ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และจำนวนเงินคิดเฉพาะการขายไฟฟ้าคืนเท่านั้น

แม้จะเห็นตัวเลขที่ได้กลับมาในแต่ละเดือน เป็นจำนวนมากพอประมาณ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ต้นทุนในการติดตั้งนั้นก็มีราคาสูงเช่นกัน รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของแผง โซลาร์ เซลล์ นั้นจะทำงานได้เต็มที่อยู่ที่ 4-5 ชั่วโมง/วัน และไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ได้ทุกวัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หรือแดดในแต่ละวันอีกด้วย

สิ่งสำคัญที่สุดคือ "พฤติกรรมการใช้ไฟของแต่ละบ้าน" การติดตั้ง โซลาร์ เซลล์ นั้นเหมาะกับบ้านที่ใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา และยิ่งคุ้มค่าเมื่อเป็นบ้านที่ใช้ไฟในช่วงกลางวัน เช่น Home Office, บ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง, บ้านที่มีสัตว์เลี้ยงที่ต้องเปิดเครื่องทำความเย็นให้ตลอดเวลา เป็นต้น

แต่กับอาคารที่ใช้ทำกิจการอื่นๆ เช่น หอพัก อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม การติดตั้ง โซลาร์ เซลล์ เพื่อช่วยลดค่าไฟ ก็อาจจะต้องพิจารณาเพิ่มอีก เพราะพฤติกรรมของผู้อาศัย ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ไฟในช่วงกลางวัน จะใช้ไฟมากในช่วงกลางคืน

ซึ่งในช่วงกลางคืนหรือ Off-Peak ค่าไฟอยู่ที่ 2.60 บาท/หน่วย ต่างกับช่วงกลางวันหรือ On-Peak ค่าไฟอยู่ที่หน่วยละ 5.11 บาท (ราคานี้ยังไม่รวมค่า Ft และค่าธรรมเนียมอื่นๆ)

การติดตั้ง โซลาร์ เซลล์ อาจจะช่วยลดค่าไฟได้ไม่เกินร้อยละ 5 จากราคาที่ต้องจ่ายในทุกเดือน เรื่องนี้ต้องเทียบกันปีต่อปี เดือนต่อเดือน แล้วถึงตัดสินใจอีกที อย่ารีบตัดสินใจโดยปราศจากการไตร่ตรองเรื่องต้นทุน บางครั้งเงินแสนแลกเงินไม่กี่พัน ก็ไม่คุ้ม

เจ้าของบิลค่าไฟเดือนละ 25,000 บาท ได้กล่าวทิ้งท้าย

แต่ถ้าบ้านที่อยู่อาศัยต้องการที่จะติดตั้ง โซลาร์ เซลล์ ก็มีขั้นตอนดังนี้

1. ยื่นใบอนุญาตเพื่อดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอน กับหน่วยงายราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น เทศบาล อบต.
2. ลงทะเบียนเพื่อแจ้งประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต https://www.cleanenergyforlife.net/
3. แจ้ง กฟน. หรือ กฟภ. ด้วยการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ หรือ สำนักงานการไฟฟ้าเขตนั้นๆ
4. ยื่นหนังสือรับ เมื่อผ่านขั้นตอน 1-3 แล้ว การไฟฟ้าจะเข้าตรวจสอบสายภายใน และทำการเปลี่ยนประเภทมิเตอร์ไฟฟ้าให้เป็นมิเตอร์สำหรับ โซลาร์ เซลล์ โดยเฉพาะ

แต่ปัจจุบัน บริษัทที่ติดตั้งจะรับดำเนินการให้ทุกขั้นตอน โดยเงื่อนไขเป็นไปตามแต่ละบริษัทนั้นๆ

ที่มา : การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, Solartech center

อ่านข่าวเพิ่ม :

"โซลาร์ เซลล์" ทางออกช่วยประหยัดไฟฟ้า ?

ไทยพีบีเอส จัดเต็ม 10 พรรคการเมืองบนเวทีดีเบตใหญ่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง