เลือกตั้ง2566 : เปิดกลเม็ด “เคล็ดกลโกง” โค้งสุดท้าย

การเมือง
12 พ.ค. 66
17:42
1,734
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : เปิดกลเม็ด “เคล็ดกลโกง” โค้งสุดท้าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สาดกระสุนสู้กระแสไม่ยั้งมือ ปล่อยทั้งอาวุธหนัก อาวุธเบา อาวุธลับ กันทุกช่องทาง ล้อม ล็อก บล็อก ทุกจุด ทุกเส้น เพื่อมิให้พรรคการเมืองคู่แข่งสอดแทรก หรือส่งสายเข้ามาแทรกซึมได้ ในช่วงเวลาเข้าด้าย-เข้าเข็ม อีก 2 วันที่เหลืออยู่

“คืนหมาหอน” วิชามารแบบเดิมที่ใช้หัวคะแนนเดินแจกเงินก่อนคืนลงคะแนนเลือกตั้ง ใช้ไม่ได้กับการเลือกตั้ง 2566 เพราะรูปแบบการใช้กระสุนยิงนำวิถีนั้น ต้องมี ลูกโดด หรือจะปลิดชีพด้วยวิธียิงทิ้ง ก็ต้องแล้วแต่กลยุทธ์ของหัวคะแนนแต่ละคน แต่ละพรรค

สารพัดกลโกงการเลือกตั้งในอดีต จะมีตั้งแต่การจัดทอดผ้าป่า พาไปเที่ยวก่อนวันเลือกตั้งในพื้นที่ไกลๆ ทำรถเสียเพื่อไม่ให้กลับมาทันวันเลือกตั้ง มอมเหล้าให้เมาลุกไปเลือกตั้งไม่ไหว ซื้อบัตรประชาชนไปเก็บไว้ในพื้นที่ที่คู่แข่งมีคะแนนนำ ไม่ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

วิธีการ “เวียนเทียน” ใช้บัตรประชาชนใบเดียวใช้สิทธิเลือกตั้งซ้ำหลายรอบ หรือ “ไพ่ไฟ” คือการเอาบัตรเลือกตั้งปลอมที่ลงคะแนนให้พรรคที่ต้องการ แล้วนำไปใส่ในหีบบัตรลงคะแนน จากนั้นใช้จังหวะปลอดคนในช่วงที่เพิ่งเปิด หรือช่วงปิดหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งกรณีนี้ต้อง “รู้กัน” กับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง

แต่วิธีการดังกล่าวใช้ไม่ได้ผลในยุคนี้ เพราะแต่ละจุดมีกล้องวงจรปิดคอยบันทึกไว้ตลอด ดังนั้นการจ่ายเงิน คือ วิธีการคลาสสิกที่ใช้ได้ในทุกยุคสมัย ไม่จำเป็นต้องเย็บแบงค์ติดเบอร์ผู้สมัครและพรรคอย่างยุคที่เรียก “ยี่ห้อย 120”

การสแกนจ่ายเงินแบบพร้อมเปย์ หรือ โอนเงินผ่านเน็ตแบงก์กิ้ง ก็เสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบเส้นทางการเงินและส่อผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีผลให้หัวคะแนน หรือผู้สมัครรับเลือก มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการนำเงินไปจ่ายในฐานะ “ผู้ซื้อเสียง” จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ดังนั้น การกำเงินสด แล้วใช้ยุทธวิธียิงกระสุนให้เข้าไป ใช้ทั้งอาวุธหนัก อาวุธเบา โดยกลยุทธ์แชร์ลูกโซ่แบบขายตรง ให้ “หัวคะแนน” ในพื้นที่เป็นแม่ข่าย นำเงินสดไปซื้อเสียงจึงได้ผลมากกว่า

แหล่งข่าวระบุว่า วันนี้ (12 พ.ค.) แม้พรรคการเมืองใหญ่จะเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ใน กทม. ยกเว้นพรรคขนาดกลางและพรรคเล็กที่จัดเวทีปิดท้ายในจังหวัดบ้านเกิด แต่สำหรับแกนนำระดับรองๆ ของพรรคการเมืองที่ขับเคี่ยวกันในพื้นที่ ซึ่งมีหวังที่จะชนะการเลือกตั้ง จะต้องตรึงหัวคะแนนพื้นที่ให้อยู่ ไม่ให้ขยับพ้นสายตา

วันนี้และพรุ่งนี้ (13 พ.ค) จะเป็นการหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายของ ส.ส.เขตในพื้นที่ ใครได้รับมอบหมายให้ตรึงอยู่ในพื้นที่ มีหวัง ต้องเฝ้าโยงอยู่ตลอด เพราะหากออกจากพื้นที่เมื่อไหร่ ผู้สมัคร ส.ส.อาจถูกฝ่ายตรงข้ามสอยร่วงทันที ปล่อยให้คลาดสายตาไม่ได้ (แหล่งข่าวระบุ)

การถูก “สอยร่วง” แม้ผู้สมัคร ส.ส.ไม่ใช่ “มะม่วง” ก็ต้องระวัง เพราะขณะนี้ทุกฝ่ายต่างมีอาวุธด้วยกันทั้งคู่ สาดกระสุนนัดแรก 500 บาท หยั่งเสียงแล้วยังเงียบแสดงให้เห็นว่า ถูกฝ่ายตรงข้ามยิงใส่ได้แผลแน่ เกทับ บลัฟราคาเพิ่มจาก 500 บาทเป็น 1,000 บาท และปิดท้ายด้วยราคาการซื้อเสียงในขณะนี้พุ่งสูงถึง 2,000-3,000 บาท

ราคานี้ ใช้ทั้งกระแสพรรคและกระสุน ด้วยเหตุผลที่ว่า ก่อนหน้านี้ไม่ทำพื้นที่ พ่อแม่มีทุน ส่งลูกลง ส.ส. ชาวบ้านไม่รู้จัก แต่ให้ลูกได้รับเลือกตั้งก็ต้องทุ่มทุน อย่างเราหยั่งกระแสแล้ว ถ้าผู้สมัครมีคะแนนเป็นลำดับ 3 หรือ 4 หมดหวัง ก็ต้องกลับไปดูพื้นที่อื่นที่มีหวังเข้าชิง (แหล่งข่าวระบุ)

นอกจากนี้ยังใช้การแย่งหัวคะแนน ไม่เอาแกนนำที่เป็นหัวคะแนนหลัก แต่ใช้วิธีเปิดเวทีปราศรัยย่อย ตั้งเวทีเล็กๆ แล้วแหย่ผู้เข้ามาร่วมฟังการปราศรัยว่า พรรรคการเมืองโน้น ผู้สมัคร ส.ส.นี้จ่ายให้แกนนำ เพื่อไปส่งต่อให้หัวคะแนนไปแล้ว ให้คนละ 1,000 บาท ถูกหักหัวคิวไปเท่าไหร่

บางทีต้องตีหัวเข้าบ้าน เข้าแกนนำหลักไม่ได้ ก็ต้องดึงกลุ่มแม่บ้านมา ในภาคอีสาน ภาคเหนือ พวกแกนนำส่วนใหญ่ คือ นายก อบจ., นายก อบต., กำนัน, ผู้ใหญ่บ้านและ อสม. พวกนี้ต้องสาดกระสุนหลายรอบ และเชื่อว่าเขาก็รับมาทุกพรรค ถ้าพรรคไหนจ่ายหนักก็จะปิดพื้นที่ ไม่ให้ใครเข้าไปเจาะได้เลย (แหล่งข่าวระบุ)

ส่วนพื้นที่ไหนที่กระแสพรรคการเมืองคู่แข่ง มาแรงกว่ากระสุน เพราะยิงกระสุนอย่างไรคงไม่เข้า ผู้สมัคร ส.ส.ก็จะใช้วิธีการ “ขายตัว” ทิ้งพรรค เช่น ไปบอกชาวบ้านว่า “ส.ส.เขตให้เลือกผม” ไม่เลือกพรรคไม่เป็นไร ถือเป็นวิธีเอาตัวรอดของการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งพบในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน

แหล่งข่าวระบุว่า ล่าสุดพบวิธีซื้อคะแนนจากหัวคะแนนแบบตัดยอด ซึ่งเป็นวิธีการของพรรคการเมืองทุนหนา หากพบว่ากลุ่มหัวคะแนนของพรรคใดมีการเก็บบัตรประชาชนไปแล้ว หรือมีคะแนนในมือมากกว่า ก็จะเข้าไปประมูลซื้อคะแนนจากหัวคะแนนกลุ่มนั้น มาให้พรรคของตัวเองแทน

ต่างจากการซื้อเสียงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งยังใช้วิธีซื้อแฝงแจกของโดยผู้สมัคร ส.ส.บางคนจากพรรคใหญ่ที่มีกระสุน แต่ไม่ค่อยมีกระแส ใช้วิธีการนำเงินใส่กล่องอินทผาลัมไปแจกให้กับชาวบ้านในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา

หรือบางจังหวัดจะให้ชาวบ้านมารับของฟรีที่ร้านค้าในหมู่บ้าน ซึ่งอาจเป็นของหัวคะแนนในพื้นที่ หรือไม่ก็ได้ มีการกำหนดค่าใช้จ่ายให้ชาวบ้านที่มาลงชื่อ ซื้อสิ่งของอุปโภค ไม่ใช่อาหาร หรือเครื่องดื่ม

จากนั้นจะมีนายหน้ามาเคลียร์ค่าใช้จ่ายกับร้านค้าในภายหลัง รวมทั้งนำเงินไปวางไว้ที่ร้านข้าว ร้านกาแฟ ร้านน้ำชา ให้ชาวบ้านกินฟรี ดื่มฟรี แต่ต้องลงชื่อไว้กับหัวคะแนน แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่ผู้สมัครแจ้งไว้กับร้านค้า

หรือการจ้าง “สายสืบ” หรือ “สายลับ” ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ให้รอรับเงินซื้อเสียง และตามพฤติกรรมของนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม แอบถ่ายรูปในขณะจ่ายเงินให้หัวคะแนน นำมาเป็นหลักฐานในการร้องเรียนคู่แข่ง

ทั้งหมดนี้คือ กลเม็ด เคล็ดกลโกง สารพัดวิชามารเลือกตั้งที่พรรคการเมืองงัดขึ้นมาใช้

อ่านข่าวอื่นๆ

เลือกตั้ง2566: งัดไม้เด็ด! หาเสียงก่อนสู้ศึกเลือกตั้ง 14 พ.ค.

เลือกตั้ง2566 : "เลือกตั้ง" ดันเงินสะพัดในระบบกว่า 2 แสนล้าน

เลือกตั้ง2566 : “ทักษิณ”กลับบ้าน “คุก” ทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง