เด็ด "พิธา" สะเทือน "สารัชถ์" ปมหุ้น ITV สู่ GULF ทุนพลังงาน

การเมือง
12 มิ.ย. 66
17:44
15,205
Logo Thai PBS
เด็ด "พิธา" สะเทือน "สารัชถ์" ปมหุ้น ITV สู่ GULF ทุนพลังงาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หุ้นกลุ่มทุนพลัง GULF แดงทั้งกระดาน เมื่อ อินทัช แจ้ง ก.ล.ต. ปมประชุมผู้ถือหุ้น ITV ชนวนตรวจสอบคุณสมบัติ "พิธา" ว่าที่นายกฯ หลังมีคลิปประชุมเปิดเผยเมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 มิ.ย.

มหากาพย์ iTV ทีวีเสรี 

"ไอทีวี ทีวีเสรี" สโลแกนของช่องทีวีเสรีแห่งแรกของประเทศไทย ที่เริ่มออกอากาศในปี 2539 หลังจากการเรียกร้องของประชาชนในยุครัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ว่าพวกเขาต้องการ "สถานีโทรทัศน์ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ" เนื่องจากเหตุการณ์การประท้วงครั้งนั้น สื่อไม่สามารถรายงานข่าวเหตุการณ์นองเลือดตามความเป็นจริงได้เลย 

สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. จึงเป็นเจ้าภาพเปิดสัมปทานให้เอกชน "เช่า" และผู้ที่ประมูลได้คือ "บริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมูนิเคชัน" ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ด้วยเงื่อนไข 3 ข้อหลัก

  1. ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี 
  2. ผังรายการ ข่าวและสาระ 70 : บันเทิง 30
  3. แบ่งรายได้ให้ สปน. 840 ล้านบาท/ปี

เมื่อเป็นที่ตกลงกันได้ บริษัทสยามทีวีแอนด์คอมมูนิเคชัน ได้ก่อตั้ง "บริษัทสยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด" เป็นนิติบุคคลที่ดำเนินการใช้ชื่อว่า "บริษัทไอทีวี จำกัด" จุดประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจสถานีโทรทัศน์ พร้อมออกอากาศเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2539 เวลา 19.00 น. โดยผู้ประกาศข่าวคู่แรกของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) คือ นายกิตติ สิงหาปัด พร้อมกับนายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว ในขณะนั้น

พิษต้มยำกุ้ง ทำผู้ถือหุ้นเปลี่ยนมือ 

ช่วงปี 2540 จากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ITV ก็ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ต้องกู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้ในเดือน พ.ย.2543 ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ตัดสินใจขายหุ้น ITV ให้กลุ่มชินคอร์ปของตระกูลชินวัตร และอำนาจในการบริหารเบ็ดเสร็จ

อ่าน : เปิดผู้ถือหุ้นใหญ่ “ไอทีวี” แล้วก็พบ "งูกินหาง"

นายทักษิณ ชินวัตร เจ้าของกลุ่มชินคอร์ปจึงนำ ITV เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกในปี 2545 เพียง 1 ปีหลังจากที่เขาได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย

ต่อมาในปี 2547 ชินคอร์ปผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของหุ้น ITV ก็ยื่นเรื่องต่อ อนุญาโตตุลาการ เพื่อขอแก้สัญญาที่มีมาตั้งแต่ก่อตั้งสถานี

  • ลดค่าสัปทานที่ต้องจ่ายให้ สปน. จาก 840 ล้านบาท/ปี เหลือ 230 ล้านบาท/ปี
  • แก้ผังรายการจาก 70:30 เป็น 50:50

เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับช่องฟรีทีวีช่องอื่น ที่จ่ายค่าสัมปทานให้ สปน. รายละ 100-200 ล้านบาท/ปี อนุญาโตตุลาการ จึงมีคำวินิจฉัยเป็นไปตามที่กลุ่มชินคอร์ปร้องขอ

ผิดสัญญา-การฟ้องร้องตามมา

หลังจากคำวินิจฉัยจากอนุญาโตตุลาการออกมา ทำให้ สปน.เป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์ จึงยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมให้เพิกถอนคำวินิจฉัย และเรียกค่าผิดสัญญาจาก ITV กรณีเปลี่ยนแปลงผังรายการ การต่อสู้คดีในชั้นศาลกินเวลาถึงปี 2549 จึงมีคำสั่งศาลออกมา ดังนี้

  • ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ITV ต้องกลับไปจ่ายเงินค่าเช่าสัมปทานให้ สปน.ปีละ 840 ล้านบาทเช่นเดิม
  • ปรับผังรายการเป็น 70:30 เหมือนเดิม
  • จ่ายค่าปรับกรณีเปลี่ยนแปลงผังรายการก่อนหน้านั้น วันละ 100 ล้านบาท นับตั้งแต่วันที่เริ่มปรับผังรายการทั้งหมดเป็นเวลา 2 ปี เท่ากับว่าคาปรับทั้งหมดที่ ITV ต้องจ่ายราว 100,000 ล้านบาท
  • หากไม่สามารถทำตามคำสั่งศาลทั้งหมดได้ จะถูกยกเลิกสัมปทานภายในวันที่ 7 มี.ค.2550 และนั่นคือวันทำการวันสุดท้ายของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี 

 เด็ด (ว่าที่) "นายกฯ" สะเทือน "นายทุน"

จากการเปิดประเด็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือ "หุ้นสื่อ ITV 42,000 หุ้น" โดยนายนิกม์ แสงศิรินาวิน สมาชิกพรรคภูมิใจไทย อดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่

อ่าน : "นิกม์ แสงศิรินาวิน" เป็นใคร ในเกมหุ้น ITV เผือกร้อน "ก้าวไกล"

จนไปถึงการยื่นเรื่องตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.กรณีถือหุ้นสื่อ ที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นต่อ กกต. เกมการเมืองหวังเตะตัดขาการก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ต้องแก้เกมให้ได้ว่า "หุ้น ITV" คือ "หุ้นสื่อ" หรือไม่ 

แต่เอาเข้าจริง หุ้น ITV ไม่ได้สั่นคลอนเพียงแค่ตำแหน่ง "ว่าที่นายกฯ" แต่ยังสะเทือนถึง "นายทุน" หากย้อนกลับไปในปี 2543 ที่กลุ่มผู้ถือหุ้น ITV ได้ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในมือของกลุ่มชินคอร์ป ตระกูลชินวัตร

ปี 2549 กลุ่มชินคอร์ป ตัดสินใจเทขายหุ้นให้ "เทมาเส็ก" ของรัฐบาลสิงคโปร์ และ ชินคอร์ปถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "อินทัช หรือ INTOUCH" และถือหุ้นจำนวนร้อยละ 75 ของ ITV แม้ปัจจุบันข้อมูลจาก บริษัท อินทัช โฮล์ดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2566 ระบุว่าถือหุ้น ITV เพียงร้อยละ 52.92 แต่ก็ยังถือว่าอินทัชเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

และผู้ที่ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของอินทัช คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น GULF บริษัทของมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทยปี 2565 คือ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ซึ่งธุรกิจของกัลฟ์ เป็นรูปแบบของการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่แบ่งได้เป็น 5 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ 

  1. ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Power Generation Business) จากก๊าซธรรมชาติ
  2. ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Business)
  3. ธุรกิจก๊าซ (Gas Business) แบบครบวงจร
  4. ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค (Infrastructure & Utilities Business)
  5. ธุรกิจดิจิทัล (Digital Business)

ช่วงเช้าของวันนี้ (12 มิ.ย.) หุ้น INTUCH ปรับตัวลดลงร้อยละ 2 หลังจากผู้บริหารบริษัทอินทัชรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ ITV ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีคำตอบประธานที่ประชุม และ เอกสารรายงานการประชุมไม่ตรงกัน ส่งผลให้หุ้น GULF ปรับตัวลงร้อยละ 2 เช่นกัน เพราะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทอินทัช

อ่าน : "คิมห์ สิริทวีชัย" ผู้ลงนามบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น ITV

ไม่เพียงแค่หุ้นของ GULF และ INTUCH ที่แดงทั้งกระดานเท่านั้น แต่ด้วยรูปแบบธุรกิจของบริษัทกัลฟ์ ที่บริหารงานลักษณะถือหุ้นในบริษัทอื่น จึงทำให้ หุ้น ADVANCE, THCOM ก็ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน 

หุ้น GULF ร่วง ยังส่งผลกระทบกับอีกหลายบริษัทที่ลงทุนในหุ้นของนายสารัชถ์ หนึ่งในนั้นคือบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มตระกูลชาญวีระกูล ที่ลงทุนใน GULF เพียงร้อยละ 1.88 แต่ก็มองได้ว่า การเปิดโปงของสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ก็สร้างความเสียหายกลับไปเป็นงูกินหางต่อตระกูลเจ้าของพรรคได้เช่นกัน   

ช่วงเวลานี้แม้ว่าจะยังไม่สรุปว่า หุ้น ITV เป็นหุ้นสื่อหรือไม่ แต่เพียงข้อสงสัยถึงรายงานการประชุม ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจของประเทศก็สะท้อนออกมาแล้ว เพราะต้องไม่ลืมว่า การเมือง เศรษฐกิจ และการลงทุน แยกกันไม่ออก เมื่อมีบางสิ่งขยับ ทุกสิ่งก็เขยื้อนตามไปด้วย

อ่าน :

นักวิชาการเปิดชื่อ 5 กรรมการ ITV ตั้งข้อสังเกต ITV ไม่มีคนทำงานนานแล้ว

"โรม" ชี้คลิปประชุมผู้ถือหุ้น ITV จริงไม่ตัดต่อ เชื่อถูกขวางตั้งรัฐบาล

INTOUCH จ่อถกด่วนปมบันทึกเอกสารหุ้น ITV "สมชัย" แนะมอบหลักฐานให้กกต.

"ฐปณีย์" เปิดคลิปประชุมผู้ถือหุ้น ITV พบข้อมูลไม่ตรงเอกสาร 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง