CAT ประเมินไทยติดกลุ่มแย่ ทำอุณหภูมิโลกสูง 4 องศาฯ

สิ่งแวดล้อม
12 มิ.ย. 66
17:19
1,980
Logo Thai PBS
CAT ประเมินไทยติดกลุ่มแย่ ทำอุณหภูมิโลกสูง 4 องศาฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยร้อนเพิ่ม 10 เท่า เสี่ยงเกิดภัยพิบัติทางอากาศอันดับ 9 ของโลก ติด 1 ใน 42 ประเทศเฝ้าระวังขาดแคลนอาหาร -เสี่ยงแห้งแล้งสูง

การเสวนาเรื่อง "นโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กับการปรับตัวในภาคเกษตร” จัดขึ้นที่บ้านสวนซุมแซง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เมื่อเร็วๆ นี้ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว 

ไทยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก40%

ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ผอ.กลุ่มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไม่ต่ำกว่า 30 ปี ช่วงแรกๆ อาจมองว่าไกลตัว ไม่เกิดขึ้นจริง หรือเกิดแค่บางพื้นที่ ต่อมาทราบว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากคน และการใช้พลังงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญ เช่น การใช้เครื่องปรับอากาศ

ก๊าชที่ปล่อยออกไปอยู่บนบรรยากาศ 10-20 ปี แม้ต้นไม้ และทะเลจะช่วยดูดซับไว้ แต่ส่วนที่เหลืออยู่ก็มากพอที่จะทำให้โลกร้อนขึ้น และมีความเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นเข้ามาด้วย ทั้ง น้ำท่วม น้ำแล้ง

ดร.อัศมน กล่าวว่า ที่ผ่านมานานาชาติ มีการทำกรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประเทศที่เป็นสมาชิก เพราะไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย จึงให้แต่ละประเทศกำหนดเป้าหมายว่าจะลดก๊าชเรือนกระจกเท่าใด ขณะที่ประเทศร่ำรวยมองว่า การลดก๊าชเรือนกระจกต้องลงทุนมาก จึงให้เงินกับประเทศกำลังพัฒนาไปซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อลดและทดแทน

ดร.อัศมน กล่าวว่า ไทยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ก่อนขยับขึ้นมา 40 % ในปัจจุบัน มีแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ครอบคลุมไปถึงปี ค.ศ.2050 มี 3 กรอบคือลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน อุตสาหกรรม ขยะหรือส่วนอื่นๆ การท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ และวันที่ร้อนก็เพิ่มขึ้น เดิมคือเดือน มี.ค.-เม.ย. ตอนนี้ พ.ค.ก็ยังร้อน คาดอีก 20-30 ปี อุณหภูมิในช่วงที่ปลูกข้าวตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค.จะขยับ 2-4 องศาเซลเซียส

นับจากนี้จะมีข้าวหรือพืชบางชนิดอ่อนไหวต่ออุณหภูมิในการผสมเกสร ดังนั้นภาคเกษตร จึงเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย

ไทย-อินโดฯ ร้อนจัดแบบดอกเบี้ยทบต้น

นายประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ผู้ที่ทราบว่า โลกร้อนขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปีพ.ศ.2520 คือ บริษัทขายน้ำมัน แต่ปกปิดข้อมูลไว้ 11ปี ระหว่างนั้นมีการตั้งงบประมาณ30 ล้านเหรียญฯ และเสนอข้อมูลที่ทำให้เกิดความสับสน ความจริง 75 % ของโลกร้อน เกิดจากพลังงาน สหรัฐอเมริกา ปล่อยคาร์บอนฯ 15 ตัน/คน/ปี คนไทยปล่อย 5 ตัน/คน/ปี หรือไฟฟ้า 1 หน่วย ปล่อยคาร์บอนครึ่งกิโลกรัม

ขณะที่ต้นไม้ขนาดใหญ่ ดูดซับได้แค่ 20 กก./ปี คำถามคือ ต้องปลูกต้นไม้มากเท่าใด และใช้พื้นที่ตรงไหน จึงจะดูดซับได้เท่ากับพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ถ้าเราไม่เปลี่ยนพลังงาน

นายประสาท กล่าวว่า โมเดลจากการศึกษา พบไทยจะเจอความร้อนเพิ่มขึ้น 10 เท่า ขณะที่บางประเทศเจอ 3 เท่า ข้อมูลปี 2563 พยากรณ์ว่า มีโอกาส 20 % ที่จะถึง 1.5 องศาฯ ภายใน 5 ปี และในปี 2565 เพิ่มโอกาสเป็น 50%

ล่าสุดปีนี้ความร้อนเพิ่มเป็น 66 % ขณะที่น้ำทะเลในแถบที่จะเกิดเอลนีโญ อเมริกาใต้ เปรู ฝั่งตรงข้ามกับอินโดนีเซีย และไทย ความร้อนเพิ่มเร็วแบบ "สูตรดอกเบี้ยทบต้น" จนนักวิทยาศาสตร์ตกใจ ความร้อนเป็นเหมือนโดมิโน ล้มทับกันเป็นทอดๆ ขยายใหญ่ขึ้น และไทยยังเป็น 1 ใน 42 ประเทศที่ถูกเตือนให้ระวังการขาดแคลนอาหาร และเสี่ยงเกิดความแห้งแล้ง

"ฤดูกาลอุตริ" ผลกระทบก๊าชเรือนกระจก

นักวิชาการอิสระคนเดิม ชี้ว่า ผลการประเมินขององค์กร CAT (Climate Action Tracker) 37 ประเทศ พบว่าทั้งหมดปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 90% ของทั้งโลก โดยกลุ่มประเทศที่ถูกจับว่า"แย่" มี 5 ประเทศ คือ รัสเซีย อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งทำให้อุณหภูมิโลกสูงถึง 4 องศาเซลเซียส และไทยยังถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลกที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางภูมิอากาศอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังพบอัตราส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าของไทยว่า มีการใช้ประมาณ 2 แสนล้านหน่วยทั่วประเทศ และหากนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ ก็จะลดค่าไฟฟ้า และลดโลกร้อนได้ แสงอาทิตย์มีมากกว่าที่มนุษย์ใช้ 10,000 เท่า

หากทั้งโลก ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งปี เท่ากับใช้แสงอาทิตย์ที่ส่องถึงโลกเพียง 8 นาที แต่ปัญหาคือ เราไม่มีเทคโนโลยีที่จะไปเก็บพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ไทยสามารถเป็นแหล่ง Super power ได้ เนื่องจากมีพลังงานจาก ลม แดด แบตเตอรี่ และหากลงทุนเพิ่มประมาณ 1% ของ GDP ติดต่อกัน 10 ปี จะมีพลังงานใช้เหลือเฟือ และปัญหาโลกร้อนจะจบลงภายในปี 2035 เพราะลดคาร์บอนได้ถึง 90 %

ใช้พลังงานหมุนเวียนหักดิบลดโลกร้อน

ด้าน ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา อธิบายว่า สาเหตุก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน มาจากระบบทุนนิยม 2 กลุ่มใหญ่ที่เป็นฐานหลัก คือกลุ่มทุนนิยมพลังงานและกลุ่มทุนนิยมเกษตร หากโลกยังถูกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมและมีระบบผูกขาดขนาดใหญ่ของโลกจะแก้ไขได้ยาก

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมีหลายมิติ เช่น แห้งแล้งสุดขั้ว ในช่วง 1-2 ปีนี้จะเกิดบ่อย ฤดูกาลอุตริ อยู่ดีๆ ฝนตกหนัก บางช่วงเกิดพายุ อุทกภัยรุนแรง ผลผลิตการเกษตรลด เกิดไฟป่า

ผลกระทบด้านสุขภาพ ระบบนิเวศที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานถูกทำลายจากภัยธรรมชาติ การแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช เชื้อโรค ความขัดแย้งเรื่องทรัพยากร  การย้ายถิ่น มีผู้ลี้ภัยทั้งจากการสูญเสียการผลิต และลี้ภัยจากการทำลายของระบบนิเวศ น้ำสะอาด น้ำจืด ลดลง ความหิวโหย และความยากจน

ดร.กฤษดา ชี้ว่า หากต้องการลดผลกระทบโลกร้อน ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบหักดิบ อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรเคมี เกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็เปลี่ยนไปสู่เกษตรเชิงนิเวศ และที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่แสดงผลชัดเจนว่า คาร์บอนเครดิตไม่ได้ผลในการช่วยลดโลกร้อน

แผนของไทยที่เสนอกับ UN ในการลดก๊าซเรือนกระจก คือ ภาคเกษตรควรจะเหลือราว 1 ล้านตัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรมีสมรรถนะ แต่จากการประเมินของทีมวิชาการเรื่องการปรับตัวภาคเกษตร พบว่าคนรับรู้น้อยมาก แผนของประเทศยังมาไม่ถึงเกษตรกร

ทั้งนี้ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย ระบุว่า มี 5 ปัจจัยหลักที่เกษตรอาเซียนต้องเร่งปรับตัวคือ ระบบนิเวศน์ ดิน น้ำ พันธุ์พืชมั่นคง เกษตรกรมีอิสระในการผลิต มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำมาสู่การวางแผนของตัวเอง ยืดหยุ่นในการปรับตัว และมีเครือข่ายทางสังคมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง