สมช.กังวล นศ.มอ.ปัตตานี จัดกิจกรรมสุ่มเสี่ยง

การเมือง
12 มิ.ย. 66
15:59
508
Logo Thai PBS
สมช.กังวล นศ.มอ.ปัตตานี จัดกิจกรรมสุ่มเสี่ยง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เลขาฯ สมช.รับมีฐานข้อมูลใครหนุนหลัง นศ. ยังไม่พบแรงหนุนนอกประเทศ แต่ไม่ตัดประเด็น ยันไม่ปิดกั้นคนเห็นต่าง พร้อมให้ความยุติธรรมทุกขั้นตอน

วันนี้ (12 มิ.ย.2566) พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ชี้แจงกรณีการจัดกิจกรรมของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ที่มีการจัดพิมพ์บัตรสอบถามความเห็นประชาชนผ่านสื่อโซเชียล สอบถามเรื่องให้ประชาชนชาวปัตตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี โดยระบุว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และตำรวจภูธรภาค 9 อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง เนื้อหาสาระกิจกรรมที่จัด ผู้เกี่ยวข้องทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง รวมถึงข้อมูลที่ปรากฏต่อสังคม ทั้งที่เป็นข่าว และการเผยแพร่ทางโซเชียล ว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายเรื่องใดบ้าง

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้นจะเกี่ยวข้องกับการแยกตัวเป็นเอกราช ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสืบสวนและตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียด ยืนยันว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเปิดเผย ยุติธรรม ชัดเจน และตรวจ สอบว่ามีความผิดหรือไม่ ก่อนดำเนินการตามกฎหมายเท่าที่จำเป็น

มีฐานข้อมูลเดิมพอสมควรในการโยงใย ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แต่ที่เรากังวลคือสิ่งที่เผยแพร่ไปสู่สาธารณชน ต้องดูว่ากลุ่มที่ทำ ทำโดยเสียงประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกลไกลในการรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาสันติสุข รวมถึงอาศัยกลไกในทุกเวที ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำความเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นการดำเนินการต่าง ๆ ต้องการให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ดีกินดี ปลอดภัย ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสนับสนุนในสิ่งที่พื้นที่ต้องการทั้งด้านสังคม ศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษา

การจัดกิจกรรมเท่าที่ทราบจะเห็นว่ามีพรรคการเมืองเกี่ยวข้องด้วย ทั้งอยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง อยู่ในการสอบสวนว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า การลงประชามติเรื่องของเอกราชนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจน ส่วนจะผิดกฎหมายมาตราย่อยอะไรบ้าง ต้องไปดูพฤติกรรม หลักฐาน สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กอ.รมน.เป็นหน่วยงานเจ้าภาพที่จะดำเนินการ โดยเชิญกระทรวงยุติธรรม สำนักอัยการ มาพูดคุยและให้ข้อเสนอแนะ

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามสนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มได้แสดงความคิดเห็น ความต้องการ ภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อให้คนในพื้นที่สามจังหวัด เข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้มีเจตนากดขี่ หรือบังคับ หรือมองว่าไม่ใช่ประชาชนคนไทย เพราะมองว่าท่านเป็นคนไทย และพยายามให้แสดงออกภายใต้กฎหมาย

อะไรที่ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการ อะไรที่ต้องทำความเข้าใจและอธิบายไม่ให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ต้องทำคู่ขนานไปด้วย

เมื่อถามว่าต้องดูไปถึงการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่ผ่านมาด้วยหรือไม่ เลขาฯ สมช. ตอบว่า หากสังเกตการหาเสียงเลือกตั้งค่อนข้างสุดโต่ง และ สมช.มีข้อกังวลในหลายเรื่อง แต่หลังผลการเลือกตั้ง พบว่าฝ่ายการเมืองมีความนุ่มนวลของนโยบายที่จะทำต่อไป และนโยบายส่วนใหญ่สอดคล้องกับสิ่งที่เราทำอยู่ ส่วนจะเอาผิดพรรคการเมืองได้หรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้

ขณะนี้ยังไม่พบแรงสนับสนุนจากนอกประเทศ แต่ไม่ได้ตัดประเด็นนี้ เพราะทุกวันนี้มีการพูดคุยกับต่างประเทศทั้งในระดับนโยบาย ฝ่ายต่างประเทศ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ได้พยายามพูดคุยให้รับทราบสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้

ส่วนกรณีองค์กรต่างประเทศประสงค์ลงพื้นที่ชายแดนใต้นั้น เลขาฯ สมช. อธิบายขั้นตอนว่า ต้องแจ้งกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จากนั้น กต.จะพูดคุยกับ สมช.ถึงวัตถุ ประสงค์ หากไม่กระทบเรื่องใด ๆ ที่เป็นปัญหาต่อประเทศ จะให้ ศอ.บต.พูดคุยกับหน่วยงานความมั่นคงอื่น ๆ ก่อนให้องค์กรฯ ลงพื้นที่ได้

"เราไม่ได้ต้องการไปต่อสู้ หรือปิดกั้นความคิด แต่ต้องดูบริบทของในพื้นที่ว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินหน้าแก้ปัญหามาถึงจุดนี้แล้ว แม้มีบางเรื่องที่ยังต้องปรับปรุง และพัฒนาแนวทางให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น แต่คิดว่าเดินมาถูกทาง ทั้งความพยายามสร้างความสงบ พัฒนาพื้นที่ให้ตรงความต้องการประชาชน ให้กินดีอยู่ดี มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ มีรายได้"

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามพูดคุยกับผู้เห็นต่างทางการเมืองมาโดยตลอด และยกระดับการพูดคุยให้กว้างขวางมากขึ้น ไม่เฉพาะกลุ่ม BRN รวมทั้งพยายามเชิญนักการเมืองมาพูดคุยทำความเข้าใจ และช่วยกันแก้ปัญหา

เมื่อถามว่าฝ่ายความมั่นคงทำงานลำบากหรือไม่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เลขาฯ สมช. กล่าวว่า ไม่ลำบาก ในฐานะที่ สมช.ดูแลนโยบายความมั่นคงภาพรวม ได้พูดกันชัดเจนว่าต้องทำงานบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ตามข้อมูลการวิเคราะห์แผนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องเสนอข้อมูลตามบทบาทหน้าที่และกฎหมาย

ในฐานะหน่วยงานความมั่นคง การที่จะให้ประเทศไทยเดินหน้าไปทุกมิติและราบรื่น คือ มีรัฐบาลมั่นคง ไม่มีเหตุความไม่สงบ ถ้าทุกฝ่ายเดินหน้าไปตามกรอบกฎหมาย คิดว่าน่าจะไปได้ดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง