เกษตรกรโอด "กลิ่นขาดทุน" กำลังโชย ฟาร์มเลี้ยงหมูพันธสัญญาเมืองกาฬสินธุ์

ภูมิภาค
13 มิ.ย. 66
22:06
692
Logo Thai PBS
เกษตรกรโอด "กลิ่นขาดทุน" กำลังโชย ฟาร์มเลี้ยงหมูพันธสัญญาเมืองกาฬสินธุ์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูใน จ.กาฬสินธุ์ กังวลว่าพวกเขาอาจขาดทุน หลังกู้เงินคนละ 6-8 ล้านบาท เพื่อลงทุนทำฟาร์มหมูเกษตรพันธสัญญากับบริษัทเอกชนรายใหญ่ ทั้งที่บางคนไม่เคยเลี้ยงหมูมาก่อน ถูกชาวบ้านร้องเรียนกลิ่นเหม็น ต้องกู้เงินเพิ่มคนละกว่า 4 แสนมาทำระบบแก้ไข

หลังจาก จ.กาฬสินธุ์ ตั้งคณะทำงานร่วมแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นและน้ำเสียจากฟาร์มหมู 16 แห่ง ของเกษตรกร 8 คน ใน ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ หลังมีชาวบ้านร้องเรียน เมื่อปลายเดือน พ.ค.2566 และพบว่า ปัญหากลิ่นเหม็นเกิดจากการบริหารจัดการในฟาร์มไม่ดีพอ

เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดประสบการณ์เลี้ยงหมู เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้แนะนำวิธีการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน คือติดตั้งม่านน้ำ เพื่อดูดซับกลิ่น ให้ครบทุกฟาร์ม จากนั้นจะต้องติดตั้งระบบกำจัดของเสีย หรือ ไบโอแก๊สเพื่อแก้ปัญหากลิ่นเหม็น

จากกลิ่นขี้หมูสู่พิรุธฟาร์มหมูพันธสัญญา

ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู อ้างว่า สาเหตุที่ตัดสินใจทำฟาร์มเลี้ยงหมูประมาณ 1,400 ตัว ทั้งที่ไม่เคยเลี้ยงหมูมาก่อน เพราะตัวแทนของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ มาชักชวนให้เลี้ยงหมู บอกว่าจะมีรายได้ดี

โดยจะช่วยประสานเงินทุนกับ ธกส. หรือทำให้กู้สินเชื่อผ่าน รวมทั้งช่วยดูโครงสร้างฟาร์ม และรับซื้อหมูสัญญา 3 ปี แต่ตอนนี้เกษตรกรเจอปัญหากลิ่นเหม็น และต้องกู้เงินเพิ่มอีกรายละกว่า 4 แสนบาท มาทำระบบไบโอแก๊ส

จึงอยากให้บริษัทเอกชนช่วยเหลือ และขยายเวลาการหักเงิน เพื่อแบ่งเบาภาระ เพราะต้องลงทุน เป็นหนี้เพิ่ม จึงกังวลว่าจะขาดทุน

สินเชื่อฟาร์มหมูพันธสัญญาวงเงินกู้สูง

เกษตรกร 8 คน ทำสัญญากู้เงินมาทำฟาร์มหมู คนละ 6-8 ล้านบาท รวมทั้งหมดกว่า 50 ล้านบาท

หลายคนเริ่มกังวล และตั้งคำถามว่า จะต้องเลี้ยงหมูกี่รุ่นจึงจะคืนทุนและมีกำไร เพราะหากมีปัญหาก็ต้องกู้เงินเพิ่มมาลงทุนปรับปรุงฟาร์ม

เกษตรกรอยากให้บริษัทเอกชน เข้ามากำกับดูแลทุกขั้นตอน และอยากให้ภาครัฐช่วยตรวจสอบสัญญา ที่เป็นรูปแบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรมกับเกษตรกร

ที่สำคัญคือ เกษตรกรบางคนยอมรับว่า ไม่ได้อ่านสัญญาก่อนเซ็นชื่อ และเชื่อตัวแทนบริษัทว่า หากทำตามคำแนะนำจะมีกำไร แต่ตอนนี้กลับไม่รู้ว่าระหว่างเลี้ยงถ้าเจอปัญหา จะต้องกู้เงินเพิ่มอีกเท่าไร

ด้านนายสุระเดช วงษ์ศรีทา ผู้จัดการ ธกส. สาขาสหัสขันธุ์ ระบุว่า การปล่อยสินเชื่อเป็นไปตามขั้นตอน คิดดอกเบี้ยขั้นต่ำร้อยละ 6.80 บาทต่อปี ส่วนวงเงินกู้ที่สูงกว่าอาชีพด้านการเกษตรอื่นๆ เพราะเป็นการทำเกษตรพันธสัญญา มีตลาดรับซื้อหมูชัดเจน

หลังจากนี้ทาง ธกส.จะเข้ามาดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกลุ่มนี้ เบื้องต้นจะเป็นการขยายระยะเวลาชำระหนี้ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องผ่านการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น เกษตรกรต้องกู้เงินมาลงทุนติดตั้งระบบกำจัดของเสียให้แล้วเสร็จก่อน

สนง.เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพร้อมตรวจสอบสัญญา

นายสันติภาพ โทนหงส์สา เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ก่อนที่บริษัทเอกชนจะเข้ามาส่งเสริมชาวบ้านร่วมลงทุน ในระบบเกษตรพันธสัญญา เช่น เลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ก็จะนำร่างสัญญามาให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ได้ร่วมกันตรวจสอบเนื้อหาสาระ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ระยะหลังเอกชนไม่เข้ามาประสานงานเลย เมื่อเกิดปัญหาตามมาภายหลัง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือเกษตรกรเอง ส่วนราชการจึงทราบเรื่อง และส่วนใหญ่ต้องแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ด้านนายปณต กลิ่นเชิดชู นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การที่บริษัทเอกชนที่เข้ามาส่งเสริมการเลี้ยงหมู และเกษตรกรที่ร่วมโครงการไม่ได้นำร่างสัญญามาแจ้งกับทางสำนักงานฯ เป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้

เนื่องจากเอกชนรายนี้ มีการกำหนดวัตถุประสงค์การประกอบธุรกิจ และยื่นจดแจ้งประกอบธุรกิจ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา กับสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว

ทั้งนี้ บริษัทเอกชนรายนี้ จะร่างสัญญากับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการด้วยข้อความใด อย่างไรบ้าง ถือเป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนราชการไม่สามารถเข้าไปดูได้ เว้นเสียแต่ว่าจะนำสัญญานั้นมาปรึกษาหารือ

หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญา หรือเกษตรกรพบว่า ตัวเองเป็นผู้เสียหาย ก็สามารถนำสัญญามาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือต่อไป

ขณะที่เกษตรกรให้ข้อมูลว่า แม้พวกเขาจะยังไม่ขาดทุน เพราะตามสัญญาต้องเลี้ยง 3 ปี แต่ก็เริ่มกังวล และรอให้บริษัทเอกชนจะเข้ามาแนะนำช่วยเหลือขั้นตอนการจัดการฟาร์ม และตอนนี้ยังต้องรอขายหมูชุดแรกให้ทางบริษัทก่อน จึงรู้ว่ามีรายได้พอที่จะพยุงฟาร์มไปต่อหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง