ไทยเตรียมเดินเครื่อง "ดวงอาทิตย์เทียม" ดีเดย์ ก.ค.นี้

สังคม
14 มิ.ย. 66
12:17
1,752
Logo Thai PBS
 ไทยเตรียมเดินเครื่อง "ดวงอาทิตย์เทียม" ดีเดย์ ก.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อว.พัฒนาดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ "ไทยโทคาแมค-1" ดวงแรกของอาเซียน ตั้งเป้า 10 ปี รองรับโรงไฟฟ้าฟิวชันทางเลือกพลังงานสะอาดฝีมือคนไทย

วันนี้ (14 มิ.ย.2566) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า "ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์" หรือ ไทยโทคาแมค-1 ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ได้ทําการพัฒนาเครื่องโทคาแมค ชิ้นส่วนของเครื่องโทคาแมค HT-6M ที่ได้รับมอบจากสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน (Institute of Plasma Physics of Chinese Academy of sciences : ASIPP) พร้อมเดินเครื่องเพื่อวิจัยพลังงานฟิวชันเครื่องแรกในอาเซียน ก.ค.นี้

เครื่องโทคาแมค เป็นเครื่องควบคุมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากปฏิกิริยาฟิวชัน เลียนแบบการทำงานของดวงอาทิตย์ เป็นอุปกรณ์กักเก็บพลาสมาพลังงานสูงโดยใช้สนามแม่เหล็กซึ่งปลอดภัยและเป็นมิตรกับโลก โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตอน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมแก้ปัญหาพลังงานขาดแคลนที่กำลังจะเกิดขึ้นและเพื่ออนาคตของคนไทย

สทน.เริ่มติดตั้งเมื่อเดือน ก.พ.2566 ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน และได้ทดลองเดินเครื่องไทยโทคาแมค-1 ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2566 จึงนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ โดยจะมีการเดินเครื่องอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ค. 2566 และภายใน 10 ปี จะมีการออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่ขึ้นมาเอง

รวมทั้งการประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันและกำลังคนระดับสูงด้านเทคโนโลยีฟิวชันของอาเซียน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สำหรับชิ้นส่วนของเครื่องโทคาแมค ที่ ได้รับมอบจากประเทศจีน ตามข้อตกลงความร่วมมือที่ลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาด้านฟิวชันของประเทศไทย โดยเสด็จพระราชดําเนินไปเป็นองค์ประธานการรับมอบชิ้นส่วนดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 เพื่อใช้ศึกษาวิจัยพลาสมาอุณหภูมิสูง ในการเรียนรู้เทคโนโลยีฟิวชันซึ่งเป็นพลังงานสะอาดสําหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต

นอกจากนี้ นวัตกรรมที่ได้สามารถนําไปประยุกต์ของเครื่องโทคาแมคและใช้ในด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และด้านการแพทย์ จากการพัฒนาเครื่องโทคาแมคนี้จะทําให้ประเทศมีองค์ความรู้และสามารถสนับสนุนงานด้านวิศวกรรม อวกาศและระบบรางของไทยได้ในอนาคต

เร่งพัฒนากำลังคน ด้านเทคโนโลยีฟิวชัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวชื่นชมทีมนักวิจัยไทยหลังชมนิทรรศการที่ถูกจัดขึ้นที่ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.) ย้ำให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ พร้อมต่อยอดงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับคนไทย รวมทั้งการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติ

นอกจากนี้ ยังกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันพัฒนาต่อไป เร่งสร้างกำลังคนด้านเทคโนโลยีฟิวชัน พัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เช่น การพัฒนาหลักสูตร การอบรมด้านเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน เป็นต้น เพราะพลังงานฟิวชันนอกจากจะเป็นพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังไม่ก่อให้เกิดฝุ่นควันและมลพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้คน รวมถึงไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน

อีกทั้งยังเป็นขุมพลังงานที่ยั่งยืน มีความปลอดภัยสูง ไม่ก่อให้เกิดสารกัมมันตภาพรังสีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ จึงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานและภาวะโลกร้อนในอนาคต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง