สุดโหด! ประเพณีล่าโลมาหมู่เกาะแฟโร เดือนเดียวตายกว่า 500 ตัว

ต่างประเทศ
16 มิ.ย. 66
14:50
1,163
Logo Thai PBS
สุดโหด! ประเพณีล่าโลมาหมู่เกาะแฟโร เดือนเดียวตายกว่า 500 ตัว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประเพณีล่าโลมาของหมู่เกาะแฟโร ปีนี้เริ่มต้นตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และขณะนี้ชาวเกาะฆ่าโลมาไปแล้วกว่า 500 ตัว ท่ามกลางเสียงคัดค้านขององค์กรผู้พิทักษ์สิทธิสัตว์ "Sea Shepherd" ที่มองว่านี่คือประเพณีที่ป่าเถื่อน

วันที่ 15 มิ.ย.2566 สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า ประเพณีล่าวาฬนำร่องครีบยาว (ชื่อเป็นวาฬ แต่แท้จริงคือ โลมา) ของหมู่เกาะแฟโรเริ่มต้นตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีวาฬนำร่องครีบยาวมากกว่า 500 ตัวที่ถูกฆ่าตายไปแล้ว

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการล่าวาฬนำร่องครีบยาวอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกจับได้ 267 ตัว และอีกครั้งได้ 178 ตัว การล่าวาฬนำร่องครีบยาว 2 ครั้งล่าสุดนี้ เป็นครั้งที่ 4 และ 5 ของปี ทำให้ปีนี้มีการล่าวาฬนำร่องครีบยาวไปแล้วว่า 5 ครั้ง 

ครั้งที่ 1 เมื่อ 8 พ.ค. ฆ่าไป 12 ตัว
ครั้งที่ 2 เมื่อ 15 พ.ค. ฆ่าไป 48 ตัว
ครั้งที่ 3 เมื่อ 6 มิ.ย. ฆ่าไป 63 ตัว 

รวมทั้ง 5 ครั้ง ฆ่าไปแล้ว 568 ตัว 

รู้จักประเพณี Grindadráp

มีบันทึกตั้งแต่ปี พ.ศ.2127 หรือ 400 กว่าปีมาแล้ว หมู่เกาะแฟโรเริ่มมีการล่าวาฬและโลมา แต่กฎหมายอนุญาตให้ล่าวาฬของหมู่เกาะแฟโรนั้น ไม่สอดคล้องกับกฎหมายของคณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ เนื่องจากหมู่เกาะแฟโร อนุญาตให้ล่าวาฬนำร่องครีบยาว (Globicephala melaena) ด้วยการล่าโลมาของชาวแฟโรไม่ใช่เพื่อการค้า แต่เป็นการล่าระดับชุมชนที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ เมื่อพบฝูงวาฬใกล้แผ่นดิน ชาวเกาะสามารถล้อมวาฬเข้าอ่าวและฆ่าได้ทันที

Sea Shepherd UK

Sea Shepherd UK

Sea Shepherd UK

กฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ของแฟโร ครอบคลุมการล่าวาฬด้วย โดยกำหนดให้สัตว์ต้องถูกฆ่าอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาทีและให้สัตว์ทรมานน้อยที่สุด อุปกรณ์การล่าต้องได้มาตรฐานสำหรับการฆ่าวาฬ และเนื้อวาฬหรือโลมาที่ได้จากการล่า สามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างถูกกฎหมาย

ประเพณีล่าวาฬในอดีต

ข้อมูลจาก National Geographic ระบุว่า ประเพณีล่าวาฬเริ่มต้นเมื่อ 4,000 ปีก่อน โดยชาวนอร์เวย์ ประเพณีล่าวาฬมีหลายพื้นที่ เช่น ชาวเอสกิโม เป็นผู้ล่าในมหาสมุทรอาร์กติก, ชาวบาสก์ เป็นผู้ล่าในมหาสมุทรแอตแลนติก และชาวญี่ปุ่น เป็นผู้ล่าในมหาสมุทรแปซิฟิก

จุดประสงค์การล่าวาฬก็แตกต่างกันออกไป บางพื้นที่นำหนังวาฬมาเป็นเครื่องนุ่งห่ม สานเป็นตะกร้า สายเบ็ด มุงหลังคา กระดูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือดำรงชีวิต หรือ ของขลังในพิธีกรรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมประเพณีโบราณ

ต่อมาในช่วงยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ การล่าวาฬได้รับความนิยมไปทั่วยุโรป น้ำมันของวาฬเป็นสิ่งที่มีมูลค่า นำมาใช้จุดตะเกียงน้ำมัน ส่วนกระดูกก็ดัดแปลงเป็นชุดรัดรูป และสุ่มกระโปรงสำหรับหญิงสาวชนชั้นสูง 

ล่าวาฬกระทบจิตใจนักสิทธิสัตว์ 

องค์กรผู้พิทักษ์สิทธิสัตว์ "Sea Shepherd" วิจารณ์ว่าประเพณีนี้โหดร้ายและไม่มีความจำเป็นในแง่ของการล่าเพื่อเป็นอาหาร เนื่องจากมีอาหารอีกหลาหลายที่มีคุณประโยชน์มากกว่าการฆ่าวาฬ แต่รัฐบาลแฟโรแย้งว่า ปัจจุบันมีวาฬนำร่องที่อยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกมากกว่า 128,000 ตัว การล่าวาฬนำร่องครีบยาวปีละ 800 ตัวของชาวแฟโรจึงไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ใดๆ 

Sea Shepherd UK

Sea Shepherd UK

Sea Shepherd UK

แต่มีข้อมูลว่าเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2564 มีโลมาหัวบาตรหลังขาวจำนวนกว่า 1,420 ตัวถูกสังหารจากน้ำมือชาวแฟโร ทำให้เป็นประเด็นถกเถียงอย่างมากระหว่างหมู่เกาะแฟโรและนานาชาติ องค์กร Sea Shepherd เชื่อว่า การล่าโลมาในปีนั้น เป็นการฆ่าหมู่โลมาครั้งที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของหมู่เกาะแฟโร นับตั้งแต่การฆ่าหมู่วาฬ 1,200 ตัวในปี 2483 และอาจเป็นการฆ่าหมู่สัตว์จำพวกวาฬที่มากที่สุดภายในหนึ่งครั้งของโลก

เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรใช้มาตรการคว่ำบาตร ระงับข้อตกลงการค้าเสรีกับชาวแฟโรทันที

Sea Shepherd ระบุว่าการล่าวาฬเพื่อเป็นอาหารของชาวแฟโรนั้นผิดกฎหมายและไร้ซึ่งมนุษยธรรม นักล่าหลายคนไม่มีใบอนุญาตการล่าวาฬ และไม่รู้วิธีการฆ่าที่เหมาะสมตามกฎหมายที่รัฐบาลแฟโรกำหนด

บางครั้งชาวเกาะล่ามากเกินไป จนต้องแบ่งเนื้อวาฬนำร่องครีบยาวให้กับพื้นที่อื่น 

สอดคล้องกับ PETA องค์กรพิทักษ์สัตว์ ที่ระบุว่าการบริโภคเนื้อวาฬนำร่องครีบยาวบนเกาะแฟโรนี้เป็น "ประเพณีที่สาบสูญ" ไปนานแล้ว และมีเพียงร้อยละ 17 ของชาวเกาะเท่านั้นที่ยังกินเนื้อวาฬนำร่องครีบยาวและใช้ไขวาฬเป็นประจำ

กฎหมายล่าวาฬ

พ.ศ.2489 หลายประเทศได้ร่วมกันก่อตั้งคณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ (IWC) เพื่อป้องกันการล่าวาฬมากเกินไป แต่กฎระเบียบนั้นถูกตั้งแบบหลวมๆ และโควตาการล่าวาฬยังสูง ทำให้จำนวนวาฬยังลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในที่สุด IWC ก็สามารถตั้งเขตรักษาพันธุ์ล่าวาฬขึ้น ในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรรอบแอนอาร์คติก รวมถึงเริ่มเรียกร้องให้ลดการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ลง แต่ญี่ปุ่นและนอร์เวย์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้

ปัจจุบัน นอร์เวย์สนับสนุนการล่าวาฬมิงค์เพื่อเป็นเนื้อ ส่วนญี่ปุ่นอนุญาตให้ล่าวาฬเพื่อการวิจัย แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญว่าการล่าวาฬในแต่ละปีของญี่ปุ่นเพื่อนำไปวิจัยนั้น มีจำนวนมากเกินความจำเป็น และเนื้อวาฬที่ถูกฆ่าเพื่อการวิจัยขายจะถูกนำไปขายเป็นอาหารอยู่ดี 

หมู่เกาะแฟโร อยู่ที่ไหนของโลก?

หมู่เกาะแฟโรเป็นกลุ่มเกาะ ที่ประกอบด้วยเกาะหลัก 18 เกาะ และเกาะย่อย 779 เกาะ ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ  อยู่กึ่งกลางระหว่างไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ เป็นดินแดนปกครองตนเองตั้งแต่ปี 2491 แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก (แต่ไม่ยอมเข้าร่วม EU พร้อมกับเดนมาร์ก) หมู่เกาะนี้มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,400 ตร.กม. มีประชากร 54,000 คน (เดือนมิ.ย. 2565) "ทอร์สเฮาน์" คือเมืองหลวงและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะ 

บ้านเรือนในหมู่เกาะแฟโร

บ้านเรือนในหมู่เกาะแฟโร

บ้านเรือนในหมู่เกาะแฟโร

ที่มา : National Geographic, The Guardian, Sea Shepherd UK 

อ่านข่าวเพิ่ม :

ห่วงสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา กระทบโลมาอิรวดีฝูงสุดท้าย

สุดยื้อ! ลูกโลมาอิรวดี "ภาระดอน" ตายแล้ว

"วราวุธ" เล็งขยายพันธุ์ "โลมาอิรวดี" เหลือแค่ 14 ชีวิต

พบโลมาปากขวดเกยชายหาดเขาหลัก จ.พังงา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง