ย้อนรอย "ไอทีวี" เปิดใจ "ทีมข่าวยุคบุกเบิก" ทีวีเสรี

การเมือง
16 มิ.ย. 66
21:36
3,271
Logo Thai PBS
ย้อนรอย "ไอทีวี" เปิดใจ "ทีมข่าวยุคบุกเบิก" ทีวีเสรี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ตอบโจทย์" ไทยพีบีเอส เชิญทีมข่าว "ไอทีวี" ยุคบุกเบิกนั่งพูดคุย เปิดมุมมองจากคนข่าวในที่เกิดเหตุ ประเด็นร้อน ไอทีวี ถูกใช้ตอบสนองความต้องการทางการเมืองของคนบางกลุ่ม ขณะที่เคยประกาศเป็นทีวีอิสระเสรี จากอิทธิพลต่างๆ และตอบสนองความต้องการของประชาชน

อีกครั้งในรอบ 27 ปี "กิตติ-สุทธิชัย" ย้อนอดีตไอทีวี

19.00 น. ของวันที่ 1 ก.ค.2539 "ไอทีวี" ประเดิมหน้าจอครั้งแรกด้วยรายการข่าวค่ำ มิติใหม่วงการอ่านข่าวไทย ผู้ประกาศข่าว ชาย-ชาย "กิตติ สิงหาปัด และ เทพชัย หย่อง" นอกจากจะเป็นรายการแรกของช่องไอทีวีแล้ว ยังเป็นครั้งแรกในการอ่านข่าวของ เทพชัย หย่อง อีกด้วย ทางด้าน กิตติ สิงหาปัด เล่าให้ฟังว่า ตนเข้ามารับตำแหน่งเบื้องหลังการผลิตข่าว แต่ไม่คิดว่าต้องมานั่งหน้าจออ่านข่าว แต่ก็เข้าใจได้เพราะเคยมีประสบการณ์อ่านข่าวมาก่อน

วันนี้เป็นการนั่งคู่กันในรอบ 27 ปี ของผมกับคุณเทพชัย
หลังจากที่เราทั้งคู่นั่งอ่านข่าวด้วยกันในวันแรกของไอทีวี
สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ด้าน สุทธิชัย หยุ่น พิธีกรรายการ สบทบว่า เป็นบรรยากาศที่ค่อนข้างวุ่นวาย ประชุมกันหลายรอบ เพื่อหาผู้ประกาศข่าวที่มีความสามารถ มีความรู้ และความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของไอทีวี

ผู้ประกาศข่าวของไอทีวียุคนั้น ดูหน้าตาแล้วต้องฉลาด
แม้จะมีคำถามมากมายจากผู้ประกาศข่าวคนอื่นๆ
แต่สุดท้าย ไอทีวี ก็ยึดเอา ความน่าเชื่อถือ ต้องมาก่อน 
เทพชัย หย่อง

เทพชัย หย่อง

เทพชัย หย่อง

เทพชัย กล่าวว่าจากนั้นมาจึงได้ยึดถือนโยบายที่ผู้ประกาศข่าวของไอทีวีต้องดูฉลาด มีความรู้ เริ่มจากการส่งผู้ประกาศข่าวลงพื้นที่ทำข่าวเอง ซึ่งก็เป็นความแตกต่างจากสถานีอื่น 

จิตวิญญาณของข่าวไอทีวี

ถ้าหากประเทศไทย สื่อไม่อิสระ สื่อไม่สามารถรายงานความเป็นจริงกับประชาชนได้
ก็เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้

สุทธิชัย หยุ่น อธิบายแนวคิดของการก่อตั้งไอทีวี ทางด้าน เทพชัย ก็เล่าถึงยุคพฤษภาทมิฬ ปี 2535 ยุคที่สื่อโทรทัศน์ทุกช่องรายงานว่า เหตุการณ์ที่ ถ.ราชดำเนินนั้นปกติ ไม่มีความวุ่นวายใดๆ ขอให้ประชาชนกลับบ้าน แต่ผู้สื่อข่าวในพื้นที่กลับโทรศัพท์บอกว่า ยังมีการยิงกันเกิดขึ้นอยู่ และประชาชนต้องดูข่าวเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งนั้นผ่านสื่อของต่างประเทศ CNN และ BBC จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐจริงๆ

เริ่มต้น ไอทีวี ไม่ใช่ "สถานีข่าว"

สุทธิชัย ย้อนอดีตการได้มาซึ่ง "สถานีข่าวไอทีวี" ให้ฟังว่า ในการประมูลเพื่อหาเอกชนเป็นเจ้าภาพทำสถานีนั้น บริษัทที่ชนะการประมูล คือ กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ และยังมีเอกชนรายอื่นๆ ที่เข้าร่วมที่ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 10 เพื่อไม่ให้มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอิทธิพลต่อการนำเสนอเนื้อหา ภายใต้เงื่อนไขผังรายการข่าว ร้อยละ 70 บันเทิงร้อยละ 30 

ซึ่งถือเป็นปัญหาสำหรับผู้ชนะการประมูลเพราะไม่มีทีมทำข่าว จังหวะพอดีกับที่มีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งถอนตัว จึงมีการต่อสายตรงหา สุทธิชัย ที่ทำสำนักพิมพ์เนชันเพื่อทาบทามมาทำข่าวออกทีวี

เทพชัย เล่าเสริมว่า ตอนที่ทีมจากเนชันเข้ามาไอทีวี ผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ไม่ได้เห็นชอบที่จะเปลี่ยนเป็นสถานีข่าว จน สุทธิชัย ต้องเขียนหนังสือตกลงกับผู้ถือหุ้นคนอื่นขึ้นมา หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็พร้อมกลับเนชัน

มันจะเป็นไปได้ยังไง ใครจะนั่งดูแต่ข่าวทั้งวัน

ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ต้องการความบันเทิง แม้ผังข่าวร้อยละ 70 ก็ต้องเป็นข่าวแบบบันเทิง ตามชื่อบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลไอทีวี

สยาม อินโฟเทนเมนต์ ก็คือ อินฟอเมชัน บวกกับ เอนเตอร์เทนเมนท์ กิตติกล่าวสบทบ

สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

จนสุดท้าย สุทธิชัย ให้ข้อสรุปที่ว่า "ไอทีวี" ต้องเป็นสถานีข่าวที่เสรี ไม่มีการเซนเซอร์เหมือนกับสถานีอื่น ที่พอได้รับโทรศัพท์จากรัฐบาลตรง สำนักนายกฯ กรมประชาสัมพันธ์ กองทัพ อสมท. สั่งให้หยุดการออกข่าวก็ต้องหยุด

แนวคิดของการก่อตั้ง ไอทีวี คือ ต้องไม่มีอำนาจรัฐมาสั่ง ข่าวต้องเป็นข่าวที่ประชาชนพึงต้องการ

สู่การเปลี่ยนแปลง

เทพชัย เล่าว่าสิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนคือ "ชื่อ" ในที่ประชุมฝ่ายบริหารถามกันว่าจะตั้งชื่อช่องเป็นเลขอะไร เพราะในสมัยนั้น สถานีต่างๆ ก็เริ่มต้นด้วยตัวเลข แต่ สุทธิชัย เป็นคนเสนอเองว่า เราไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เราเป็นทีวีเสรี ก็ต้องมีคำที่สะท้อนภาพความเป็นเสรีได้จริงๆ ซึ่งตรงกับ Independent ที่แปลว่าเสรี

แม้ช่วงแรกเริ่มจะสร้างความยากลำบากต่อคนทำงาน แหล่งข่าวไม่รู้จักเมื่อผู้สื่อข่าวบอกว่า "มาจากช่องไอทีวี" ประชาชนตามต่างจังหวัดหาทางดูยาก เพราะอยู่ในคลื่น UHF ต้องหาเสาก้างปลามาติดและจูนสัญญาณ ทำให้เลขช่องของแต่ละจังหวัดไม่ตรงกัน

แต่นั่นก็ถือเป็นความแปลกใหม่และทำให้คนตื่นตัวขึ้น 

เอาความเป็นหนังสือพิมพ์ เปลี่ยนเป็นภาพและเสียงในจอ

กิตติ กล่าวถึงข้อได้เปรียบของไอทีวีที่มีสัดส่วนเนื้อหาสาระประมาณร้อยละ 70 สามารถออกแบบรายการได้ทั้งวัน ครอบคลุมทุกมิติของข่าว สร้างความโดดเด่นและเป็นจุดเด่นที่สุดของไอทีวีในช่วงนั้น ขณะที่การทำข่าวมีความยากลำบาก นักข่าวต้องลงพื้นที่หาข้อมูลด้วยตัวเอง ไม่มีโซเชียลมีเดีย หรือหาข้อมูลได้จากกูเกิลเหมือนทุกวันนี้

กิตติ สิงหาปัด

กิตติ สิงหาปัด

กิตติ สิงหาปัด

สุทธิชัย เสริมว่า ความยากลำบากเป็นสิ่งที่ทำให้นักข่าวมีความฉลาด ส่วนพิธีกรที่ทำข่าวเอง ทำให้รู้ลึก รู้จริงและสมจริงเมื่ออยู่หน้าจอ ทุกอย่างเกิดจากการฝึกฝน ไม่ได้นั่งอ่านสคริปต์ที่คนอื่นเขียนมา

ด้านเทพชัย เผยว่า คนที่ทำงานในฝ่ายข่าวรุ่นแรกๆ เกือบทั้งหมดไม่เคยทำทีวีมาก่อน เพราะไม่มีใครเชื่อว่าไอทีวีจะไปรอด ขณะเดียวกันคนที่มาร่วมงานและมีบทบาทสำคัญในการทำข่าว ส่วนใหญ่เป็นคนทำหนังสือพิมพ์ มีความลึก วิเคราะห์ ใช้ภาษางดงามระดับหนึ่ง ซึ่งคนเหล่านี้กลายเป็นพลังสำคัญในการทำข่าวทีวี

กรณีที่ชัดเจนคือ "สรยุทธ" ตอนนั้นเป็นนักข่าวทำเนียบให้กับเนชัน พอไปทำไอทีวีมีคอลัมน์วิเคราะห์การเมืองวันละ 4-5 นาที ปรากฏว่าคนชอบ

การวิเคราะห์ข่าวเป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการทีวีในขณะนั้น และเป็นจุดแตกต่างของไอทีวีที่เน้นความลึก ที่สำคัญต้องทำให้คนดูมีความรู้สึกร่วม แม้บางเรื่องอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ไอทีวีพยายามไปดูเบื้องหน้าเบื้องหลัง หยิบเอามุมมองที่คิดว่าคนดูแล้วรู้สึกว่าเป็นตัวแทนของปัญหาใหญ่มากของสังคมมานำเสนอ ตรงนี้คิดว่าเป็นหัวใจของการทำข่าว

ข่าวนำประจำวัน ไม่จำเป็นต้องมาจากรัฐบาล

สุทธิชัย อ้างถึงคำพูดของ "เทพชัย" ที่เคยบอกว่า ข่าวนำประจำวัน ไม่จำเป็นว่าวันนี้รัฐบาลพูดอะไร แต่เป็นข่าวอะไรก็ได้ที่น่าสนใจที่สุด เพราะฉะนั้นคนดูข่าวไอทีวีก็จะรู้ว่านี่ของจริง ไม่ใช่แค่เรื่องที่รัฐบาลบอก แต่เป็นเรื่องที่สัมผัสได้ รู้สึกได้และเกิดขึ้นรอบตัวเรา

ซึ่งเทพชัย ย้ำว่า สิ่งนี้ทำให้ไอทีวีมีความแตกต่าง บางเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคนตัวเล็ก แต่สะท้อนปัญหาใหญ่ของสังคม และกระตุ้นให้คนที่เกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่แก้ปัญหาลงไปจัดการ

รวมขุนพลคนไอทีวียุคบุกเบิก

รวมขุนพลคนไอทีวียุคบุกเบิก

รวมขุนพลคนไอทีวียุคบุกเบิก

กิตติ เสริมว่า จุดเด่นของไอทีวีในขณะนั้นคือไม่ดรามา ขณะที่การประชุมในกองบรรณาธิการแต่ละวัน ไม่มีใครพยายามที่จะมีอำนาจเหนือใคร ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้ เพราะฉะนั้นข่าวที่เผยแพร่ออกมาผ่านการประชุม สังเคราะห์และตกผลึกแล้ว จึงทำให้ข่าวในแต่ละคืนสะท้อนออกมาหน้าจอทีวี ซึ่งสมัยนั้นการประชุมข่าวแบบนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นในทุกองค์กรข่าว แม้กระทั่งความมีอิสระ

"เสรี" บรรยากาศการทำงานแบบไอทีวี

เทพชัย กล่าวถึงเรื่องความ "เสรี" ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากในวงการสื่อมี "กำแพงศักดิ์สิทธิ์" แบ่งระหว่างกองบรรณาธิการกับฝ่ายบริหาร ไม่มีใครแทรกแซงใคร ซึ่งในเมืองไทยมีกำแพงศักดิ์สิทธิ์น้อยมาก

ไอทีวีในช่วงแรกมีกำแพงนี้จริงๆ คนทำข่าวจะไม่มีความรู้สึกว่าเรื่องนี้ทำได้หรือไม่ หรือจะมีผู้ใหญ่โวยวายหรือไม่ ไม่เคยตั้งคำถามนี้เลย เพราะเชื่อเสมอว่าทุกเรื่องแตะได้ในกรอบที่เหมาะสมและมีจริยธรรมกำกับ

แต่ในขณะเดียวกันความเป็น "เสรี" ก็ทำให้ไอทีวีมีแรงกดดันจากภายนอกในยุคที่การเมืองวุ่นวาย และเป็นเรื่องสำคัญที่หัวเรือหรือคนบริหารฝ่ายข่าวต้องหนักแน่น อดทนต่อแรงเสียดทาน

ด้าน สุทธิชัย ให้คุณค่าของช่องไอทีวี ว่า อยู่ที่ความน่าเชื่อถือ และความน่าเชื่อถืออยู่ที่ว่าต้องให้อิสระกับการทำงาน บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และให้คนดูรู้ว่าหากดูข่าวช่องนี้แล้วสามารถเชื่อถือได้ และจะนำไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทด้วย

ขณะที่ครั้งหนึ่ง "กิตติ สิงหาปัด" เคยถูกคนค่อนแคะว่า "ไอทีวี เสรีจริงหรือไม่" เพราะมีหลายคนไม่เชื่อว่าเสรีและมองว่าสัมปทานมาก็อยู่ภายใต้รัฐบาล

เหตุการณ์ที่คิดว่าไอทีวีสามารถพิสูจน์ได้ระดับหนึ่ง คือ วันครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา 19

"ผมได้ไปรายงานสด 20 ปี 6 ตุลา 19 สำหรับผมนี่คือบทพิสูจน์ว่าเราเสรีระดับหนึ่ง เพราะประวัติศาสตร์ทีวีไทยไม่เคยมีคนแตะเหตุการณ์นี้ แต่ไอทีวีมีทั้งรายงานพิเศษก่อนถึงวันครบรอบ รายงานพิเศษไล่เรียงเหตุการณ์ย้อนหลัง จนถึงวันที่ไปรายงานสดที่ธรรมศาสตร์ฯ ในใจรู้สึกว่าชีวิตนักข่าวสมบูรณ์ระดับที่คิดว่าจะไม่ได้ทำอันนี้ นี่คือจุดพิสูจน์ทีวีที่อยู่ภายใต้รัฐบาลทั้งช่องประชาสัมพันธ์ หรือกองทัพบก ไม่มีวันที่จะทำแบบนี้ มีแค่ไอทีวีช่องเดียวที่ทำ" กิตติกล่าว

4 ขุนพลไอทีวี

4 ขุนพลไอทีวี

4 ขุนพลไอทีวี

เทพชัย กล่าวเสริมว่า หลังจากที่ไอทีวีทำรายงานครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาไปแล้ว มีคนตั้งคำถามว่ามีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ ซึ่งเรามีเจตนาอยากให้คนไทยเข้าใจเบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุการณ์นี้ว่าเหตุใดจึงเกิดความรุนแรง ทั้งที่ก่อนนั้น 3 ปีมีการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตย 14 ตุลา ควรเป็นบทเรียนสำคัญว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก

คนไอทีวี กระจายตามสื่อต่างๆ 

ก่อเขต เล่าว่า ไอทีวีมีความชัดเจนในเรื่องของข่าว เมื่อต้องไปเติบโตที่อื่นๆ ก็จะมีความโดดเด่นแน่นอนอยู่แล้ว ซึ่งชัดเจนคนไอทีวีไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน ก็พิสูจน์ตนเองชัดเจนว่าเป็นคนข่าวจริงๆ ทำให้จิตวิญญาณของความเป็นข่าวอยู่ในตัวของทุกคน ทุกตำแหน่ง เคยไปทำข่าวสัมภาษณ์เขมรแดง ช่างภาพและผู้ช่วยช่างภาพ ก็รู้สึกภูมิใจ ว่าเป็นผลงานของเขาด้วย

โลโก้ไอทีวี

กิตติ เล่าว่า จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งเป็นคนบินไปอเมริกาเช้าไปเย็นกลับเพื่อไปเอาโลโก้ เพราะจ้างสตูดิโอฮอลลีวูดออกแบบ แก้ผ่านอีเมล์ จนรอบสุดท้าย ต้องไปเอาเอง ซึ่งต้องดูแลการผลิตข่าวเอง ซึ่งขณะนั้นไม่มีตำแหน่งนี้

สุทธิชัย กล่าวย้ำว่า เน้นตัว i เพราะเป็น independent ซึ่งต้องการแสดงถึงความเป็นอิสระ เสรีจริงๆ

ไอทีวีช่องแรกเปิดหน้าสดในที่เกิดเหตุ

สุทธิชัย เล่าว่า เป็นการฝึกของจริง ในทุกรายละเอียดแม้กระทั่ง การเปิดหน้าที่เกิดเหตุ การมองกล้อง ไม่ก้มอ่านสคลิปต์ เพราะต้องให้คนดูมองว่า คนนี้เก่ง ความน่าเชื่อถือจึงเกิดขึ้น ไอทีวีเป็นช่องแรกที่เปิดหน้าสด ซึ่งคือหนึ่งในหลายๆ บทเรียน

ในเรื่องการของการซ้อม ก่อเขตบอกว่า มีการซ้อมกันเป็นปี ยืนหน้ากระจกซ้อมรายงานสด เป็นการพูดกับกระจก

ซึ่งแม้แต่เครื่องไม้เครื่องมือแทบจะไม่มี กล้องที่เอามาถ่ายยังไม่มี เพราะสั่งไปยังไม่มา ช่างภาพก็ต้องฝึกโดยการสมมุติภาพ โดยการจินตนาการ

กิตติ บอกว่า ซ้อมหนักมาก เรียกว่าไม่ผิดพลาดแล้ว แต่พอถึงวันที่ออกอากาศจริง ก็มีผิดพลาด

เช่นเดียวกับ สุทธิชัย ที่บอกว่า แม้ว่าจะมีการเตรียมการขนาดไหน แต่ความตื่นเต้น ของจริงมาก็พลาดจนได้ ต้องมีแผนสำรองไว้ แต่ถ้าพลาดแบบธรรมชาติก็ปล่อยไป ก็เป็นเรื่องปกติ แต่การฝึกซ้อมหนักกลายเป็นหัวใจ เพราะทุกวันนี้คนจะมองข้ามความสำคัญของการฝึกจริงๆ แต่ละก้าว แต่ละขั้น แต่ละประโยคที่พูดไป หน้าตาขณะพูด มือไม้ควรจะทำอย่างไร สคริปต์ข่าวประโยคแรกที่ต้องตรึงให้คนอยู่สำคัญใน 10 วินาทีแรกอย่างไร และปิดท้ายด้วยให้คนดูประทับใจ หรือที่เรียกว่า เปิดแรง ปิดแรง

ขณะที่เทพชัย กล่าวว่า เนื่องจากต้องการให้นักข่าวมีความรู้ข่าวรอบด้าน ในช่วงฝึกได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน ทั้งด้านความมั่นคง การตลาด เศรษฐกิจ มาสอนนักข่าว รวมถึงมุมมองของภาพยนตร์ที่มาใช้ทำข่าวได้

รุ่นแรกๆ ที่ผ่านการอบรมจะเข้าใจถึงหลักการกับทิศทางของการทำข่าวไอทีวีที่ชัดเจนมาก

ไอทีวี จุดเริ่มต้นของนักการเมืองโปร่งใส

ไอทีวี เริ่มออกอากาศเมื่อปี 2539 พอถึงปี 2540 ก็มีวิกฤตต้มยำกุ้ง , รัฐธรรมนูญปี 2540 ส่วนการเมืองก็มารูปแบบใหม่ ฉะนั้นท้าทายมาก และเป็นจังหวะที่ดีเมื่อข่าวสำคัญและใหญ่ขนาดนี้ ไอทีวีมีการนำเสนอข่าวเต็มที่ มีนักข่าวประจำแต่ละสถานที่สำคัญ ทำให้ข่าวมีชีวิตจริงๆ เป็นครั้งแรกของการเมืองไทยที่นักการเมืองต้องโปร่งใส เพราะไอทีวียืนยันว่าต้องรายงานประชาชน

ขณะนั้นภาพของไอทีวี มีความน่าเกรงขามพอสมควร สิ่งที่สะท้อนได้ดีคือแมกกาซีนฉบับหนึ่งที่ทำเรื่องของไอทีวี ซึ่งได้เรียกคนไอทีวีว่าทีมข่าวอันตราย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอันตรายต่อสังคม แต่เป็นอันตรายต่อความไม่ถูกต้อง

บทบาทของสื่อในปัจจุบัน

วันนี้ที่ชวนมาคุยเพราะไอทีวีเป็นข่าวพาดหัว ทุกช่วง ทุกเวลา และไปในแง่เรื่องการเมือง หุ้น พิธา ปลุกผี ซึ่งควรจะอธิบายให้ประชาชนฟังว่า ไอทีวี คืออะไร

 

เทพชัย กล่าวว่า มีคำถามว่าไอทีวีตายหรือยัง คงตอบไม่ได้ เพราะกลายเป็นคำถามทางการเมืองไปแล้ว แต่ที่อยากบอกคือคนทำไอทีวียังไม่ตาย

ทั้งนี้ สุทธิชัย หวังว่าคนที่ทำไอทีวี ที่ไปทำงานอยู่ตามสื่อต่างๆ ก็ยังเอาจิตวิญญาณ ของความเป็นมืออาชีพ ของนักข่าวที่เป็นอิสระ และรู้ซึ้งว่าความเป็นอิสระมีคุณค่าแค่ไหนในการทำหน้าที่เพื่อจะให้ประชาชนได้รู้ความเป็นจริง ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม

ปัจจุบันแม้โซเชียลมีเดียจะข่าวเยอะมากมาย ซึ่งมีทั้งข่าวจริงและไม่จริง แต่เชื่อว่าความมีจิตวิญญาณความเป็นมืออาชีพ ก็ยังสามารถทำหน้าที่ของเรา และยังมีช่องทางมากขึ้นด้วยซ้ำไป

กิตติ กล่าวว่า หัวใจของความเป็นสื่ออยู่ที่ความน่าเชื่อถือ ยกตัวอย่างคนในวงการสื่อต้องรู้จักคดีวอเตอร์เกตว่าทำไมแหล่งข่าวถึงนำข้อมูลมาให้กับนักข่าวบางคน ทั้งๆ ที่นักข่าวในสหรัฐฯ มีเป็นพันคน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ความน่าเชื่อถือของคนหนึ่ง มีส่วนสำคัญอาจจะอดทนมา 20 ปี 30 ปี อาชีพนักข่าวต้องมีความน่าเชื่อถือ ไม่วันใดวันหนึ่งเมื่อถึงวิกฤตขึ้นมา สิ่งที่รอคอยมาจะเป็นผล

กิตติ สิงหาปัด

กิตติ สิงหาปัด

กิตติ สิงหาปัด

เทพชัย กล่าวเสริมว่า ที่สำคัญที่อยากจะเน้น บทบาทของสื่อ ยิ่งในสถานการณ์ที่วิกฤต เป็นการเผชิญหน้ากันแม้ว่าทางสังคม ทางการเมือง สื่อต้องเป็นส่วนหนึ่งของการหาทางออก ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงว่าบทบาทของสื่อ ล้ำเส้นไปถึงขั้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาของบ้านเมืองหรือเปล่า

ก่อเขต ระบุ จริงๆ แล้วสถานการณ์ของบ้านเมือง ณ ตอนนี้ เริ่มเผชิญหน้า ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงจุดๆ หนึ่งของการเมือง แต่ประเทศก็ต้องไปต่อ ถ้ายังหมกมุ่นกับเรื่องนี้ต่อไปประเทศเป็นปัญหา ขณะเดียวกันถ้ามองไปข้างหน้าและมองข้ามเรื่องบางอย่างไป ประเทศไปต่อไป

ทั้งนี้ สุทธิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับเรื่องราวของไอทีวีมารำลึกกัน ก็เพื่อยืนยันว่าจิตวิญญาณของคนทำข่าววันนี้ ที่ยังมุ่งมั่น ที่ยังรับใช้ประชาชน พยายามนำความจริง นำข้อเท็จจริงนำเสนอ และพยายามที่จะมีบทบาท ไม่เพียงแต่แค่รายงานว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น แต่ต้องรายงานด้วยว่าเราต้องประคับประคองผ่านวิกฤต และหลีกเลี่ยงความขัดแย้งอันเกิดจากการใช้ข้อมูลเพื่อที่จะสร้างสถานการณ์หรือปั่นไปข้างใดข้างหนึ่ง

เชื่อว่านักข่าวมืออาชีพอยากมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะช่วงที่มีแพลตฟอร์ม มีช่องทางการนำเสนอมากมายแต่ขาดสิ่งที่เรียกว่าความเป็นมืออาชีพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

จับกระแสการเมือง วันที่ 16 มิ.ย.2566 ยุทธการเตะตัดขา “สกัด”พิธา เข้าทำเนียบ

คาด กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.21 มิ.ย. เลขาฯ สั่งตั้งสอบกรณี 71 รายชื่อหลุด

กรมพัฒน์ฯ แจงสถานะไอทีวี "ยังดำเนินกิจการอยู่"

ITV แจง! บันทึกการประชุม ไม่ได้สื่อสาร "ยังประกอบกิจการสื่อ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง