กรมศิลป์ฯยัน "พระปรางค์-มณฑปเอียง" วัดอรุณฯ ไม่กระทบโครงสร้าง

ไลฟ์สไตล์
22 มิ.ย. 66
15:12
381
Logo Thai PBS
กรมศิลป์ฯยัน "พระปรางค์-มณฑปเอียง" วัดอรุณฯ  ไม่กระทบโครงสร้าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมศิลปากร ยืนยันผลการตรวจสอบ 3D โบราณสถาน วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร พบ "มณฑปเอียง"เข้าหาพระปรางค์ แต่ไม่กระทบต่อโครงสร้าง เล็งเก็บข้อมูลในโบราณสถานแห่งอื่นเพิ่ม

วันนี้ (22 มิ.ย.2566) นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากกรณีที่กรมศิลปากร จัดเก็บข้อมูล 3D โบราณสถาน ด้วยวิธีสแกนภาพสามมิติ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตามโครงการเก็บข้อมูลโบราณสถานโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการดูแลโบราณสถานของชาติซึ่งผลการสแกนพบมณฑปด้านทิศใต้เอียงเข้าหาองค์พระปรางค์เล็กน้อยนั้น

ยืนยันไม่มีเหตุบ่งชี้ว่าเป็นอันตรายต่อตัวโบราณสถาน เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับโบราณสถานที่มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงสูง แต่จะมีการเก็บข้อมูลเป็นระยะๆ เพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ 

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรมทำโครงการจัดเก็บข้อมูล 3D โบราณสถาน ด้วยวิธีสแกนภาพสามมิติ ที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เพื่อเก็บข้อมูลสภาพโบราณสถานไว้ศึกษาและดำเนินการอนุรักษ์ในอนาคต

จากการสำรวจพบพื้นมณฑป ทิศด้านทิศใต้ขององค์พระปรางค์เอียง ทำให้ตัวมณฑปเอียงเข้าหาพระปรางค์เล็กน้อย แต่ไม่เป็นอันตราย และไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างขององค์พระปรางค์

เตรียมใช้ 3D เก็บข้อมูลโบราณสถาน

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเอียงตั้งแต่แรกก่อสร้าง หรือการซ่อมแซมบูรณะในภายหลัง รวมถึงลักษณะโครงสร้างของดินในกรุงเทพมหานคร นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ ที่ปรึกษาด้านการบูรณะโบราณสถานของกรมศิลปากร จึงได้เข้าหารือกับทางวัด พร้อมทั้งเสนอแนะให้ติดตามเฝ้าระวังและจัดเก็บข้อมูลทางวิศวกรรมโดยละเอียดและต่อเนื่อง

มีกรอบ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อตรวจสอบแนวโน้มและวิเคราะห์ว่ามีการเคลื่อนตัวจริงหรือไม่ หากมีการเอียงเพิ่มเติมจะได้หาแนวทางอนุรักษ์อย่างเหมาะสมต่อไป

การตรวจสอบสถานะลักษณะทางกายภาพของโบราณสถานไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่กรมศิลปากรดำเนินการอยู่แล้ว โดยเฉพาะโบราณสถานที่มีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น ในอดีตเจดีย์ที่วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดการทรุดเอียง ทางกรมศิลปากร ก็ได้เข้าไปตรวจสอบจนมั่นใจว่าไม่มีการเอียงมากไปกว่าเดิมและไม่เป็นอันตราย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างคือเรื่องของเทคโนโลยีที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้นโดยใช้ 3D สแกน แสดงให้เห็นภาพเปรียบเทียบในลักษณะไฟล์ดิจิทัลที่มีความแม่นยำสูงกว่าในอดีต

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การสำรวจโบราณสถานเป็นภารกิจที่กรมศิลปากรดำเนินการเป็นประจำอยู่แล้ว มีกระบวนการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวัง โดยนําเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ ซึ่งการเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยี 3D นี้ จะช่วยเก็บรักษาข้อมูลสภาพโบราณสถานในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้การอนุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประชาชนที่เที่ยวชมโบราณสถานมั่นใจในความปลอดภัยได้ หลังจากนี้จะมีการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันนี้กับโบราณสถานอื่นๆ   

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง