วิเคราะห์ : "ทัวร์สุดขั้ว" กับสุญญากาศด้านความปลอดภัย

ต่างประเทศ
23 มิ.ย. 66
12:52
1,263
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : "ทัวร์สุดขั้ว" กับสุญญากาศด้านความปลอดภัย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์พิเศษแบบครั้งหนึ่งในชีวิตอย่างการดำน้ำชมซากเรือใต้ทะเลหรือมหาสมุทร หรือท่องอวกาศ เป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มมหาเศรษฐีที่ชื่นชอบการผจญภัย แต่การทัวร์แบบสุดขั้วเช่นนี้มาพร้อมกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

อภิมหาเศรษฐี หรือบรรดาคนที่ถูกเรียกว่า ultra-rich ที่มีทรัพย์สินเกิน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหลักพันล้านบาทขึ้นไป คนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยมองว่าเงิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 8,700,000 บาท คุ้มค่าที่จะใช้ไปกับการเที่ยวชมซากเรือไททานิก แม้อาจจะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตก็ตาม

การดำน้ำเที่ยวชมใต้ทะเลลึก 3,800 เมตร เป็นหนึ่งในกิจกรรมท่องเที่ยวแบบสุดขั้ว ที่เรียกว่า Extreme Tourism ซึ่งกำลังมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ลูกค้ากระเป๋าหนักที่ชื่นชอบความตื่นเต้นและการผจญภัย แต่การท่องเที่ยวรูปแบบนี้มาพร้อมกับความเสี่ยง และหลายๆ ครั้งยังจัดขึ้นภายใต้ภาวะสุญญากาศด้านความปลอดภัย

ยกตัวอย่าง กรณีโปรแกรมทัวร์สำรวจไททานิกของ OceanGate ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามากำกับดูแลโดยเฉพาะ และไม่ได้มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัย

ขณะที่การทัวร์ในน่านน้ำสากลเช่นนี้ ทำให้ไม่มีรัฐไหนมีอำนาจพิเศษเข้ามาควบคุมดูแล ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า "ความปลอดภัย" จึงเป็นเพียงคำมั่นของบริษัทผู้ให้บริการและความเชื่อใจของลูกค้าที่มีต่อบริษัทนั้นๆ รวมทั้งตัวเงินที่จ่ายไปเพื่อแลกกับการบริการ

แม้ว่าโลกจะเผชิญกับพิษโควิด-19 ตามมาด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่กลุ่มคนที่เป็นอภิมหาเศรษฐีแทบไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตเหล่านั้น หลายคนรวยขึ้น ขณะที่อัตราการเติบโตของคนกลุ่มนี้ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น โดยระหว่างปี 2017-2022 มีคนรวยขึ้นจนกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นร้อยละ 44 และภายในปี 2027 ตัวเลขดังกล่าวจะยังคงเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 1 ใน 4 แตะ 750,000 คนทั่วโลก

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมทัวร์สุดขั้วจะเติบโตต่อเนื่อง โดยมีตั้งแต่การทัวร์สุดหรู, เดินป่าตามหาสัตว์หายาก, ดำดิ่งลงสู่ใต้ทะเลลึก, ปีนขึ้นเขาเอเวอเรสต์ ไปจนถึงทัวร์นอกโลก

แม้ว่าการทัวร์รูปแบบนี้จะทั้งแพงและมีความเสี่ยงสูง แต่ Stockton Rush ซีอีโอของ OceanGate และเป็น 1 ใน 5 สมาชิกบนเรือไททัน เคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าว CBS เมื่อปลายปี 2022 ว่า ในแง่หนึ่ง ความปลอดภัยเป็นเพียงสิ่งไร้ประโยชน์ โดยเขาระบุว่า หากคุณต้องการความปลอดภัยก็ให้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร เพราะไม่ว่าอย่างไรการใช้ชีวิตก็เท่ากับความเสี่ยงอยู่ดี

ขณะที่บริษัททำทัวร์สุดขั้วหลายเจ้า เปิดเผยว่า การทำทัวร์ผจญภัยขายคนรวยไม่มีพื้นที่ให้สำหรับความผิดพลาด การเตรียมการอาจต้องทำล่วงหน้ากว่า 18 เดือน และต้องทำสุดฝีมือ แม้กระทั่งการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยขึ้นมาเอง

การท่องอวกาศ ถือเป็นการทัวร์สุดขั้วอีกรูปแบบหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ โดย 3 บริษัทนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในตลาดทัวร์อวกาศเท่านั้น เช่น Space Perspective เตรียมเปิดเที่ยวบินพาณิชย์เที่ยวบินแรกในช่วงปลายปี 2024 สนนราคาทัวร์ 6 ชั่วโมง อยู่ที่คนละ 125,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ Virgin Galactic ของ Richard Branson อภิมหาเศรษฐีชาวอังกฤษ มีกำหนดส่งลูกค้ากลุ่มแรกไปแตะขอบฟ้าในสัปดาห์หน้า และกลุ่มที่สองต้นเดือน ส.ค. โดยปัจจุบันราคาตั๋วท่องอวกาศ 90 นาที อยู่ที่ 450,000 ดอลลาร์สหรัฐ แพงขึ้นจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วถึง 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังขายดี ซึ่งขณะนี้มีคนจองตั๋วแล้ว 800 คน

ส่วน Blue Origin เรื่องราคาค่อนข้างเป็นความลับ เริ่มตั้งแต่ 0 ดอลลาร์ ไปจนถึง 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนซื้อ ขณะที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปกับบริษัทนี้แล้วมากกว่า 30 คนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้คือ ฮาร์มิช ฮาร์ดิง หนึ่งในผู้โดยสารเรือไททัน

ยูซากุ มาเอซาวะ พลเรือนญี่ปุ่นคนแรกที่ไปทัวร์สถานีอวกาศนานาชาติ

ยูซากุ มาเอซาวะ พลเรือนญี่ปุ่นคนแรกที่ไปทัวร์สถานีอวกาศนานาชาติ

ยูซากุ มาเอซาวะ พลเรือนญี่ปุ่นคนแรกที่ไปทัวร์สถานีอวกาศนานาชาติ

ทัวร์สถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS เป็นอีกหนึ่งโปรแกรมทัวร์ที่อภิมหาเศรษฐียอมควักกระเป๋าจ่ายมูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแลกกับการได้ใช้ชีวิตอยู่นอกโลกนานหลายวัน โดยหนึ่งในคนที่สร้างเสียงฮือฮาได้มากที่สุด คือ ยูซากุ มาเอซาวะ ซึ่งมีทรัพย์สินมากกว่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นพลเรือนญี่ปุ่นคนแรกที่ได้ไป ISS นอกจากนี้เขายังเหมาทัวร์ดวงจันทร์กับ SpaceX ด้วย โดยนำตั๋วไปแจกให้กับผู้โชคดีอีก 8 คน

ทัวร์อวกาศ เผชิญกับคำถามด้านความปลอดภัยไม่ต่างไปจากทัวร์ใต้ทะเลลึก ที่กำลังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม แม้ว่าช่องว่างด้านระเบียบความปลอดภัยของเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเปิดโอกาสให้กับการพัฒนา แต่ก็ไม่ง่าย หากต้องเลือกระหว่างความก้าวหน้ากับความปลอดภัย

วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

อ่านข่าวอื่นๆ

ไร้ปาฏิหาริย์ ไม่มีผู้รอดชีวิต พบซากเรือ "ไททัน" ใกล้ซากเรือ "ไททานิก"

โศกนาฏกรรมซ้ำรอย สามีเหลน "2 ตายายไททานิก" ติดไททัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง