หลังม่านชีวิตอดีตนักเสพฯ "แอ๊ด" ภาพสะท้อน "ทาสยา" GEN ใหม่

อาชญากรรม
24 มิ.ย. 66
09:00
2,104
Logo Thai PBS
หลังม่านชีวิตอดีตนักเสพฯ  "แอ๊ด" ภาพสะท้อน "ทาสยา" GEN ใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับ "แอ๊ด" อดีตนักค้า-เสพยาบ้า สะท้อนบทเรียนชีวิต 20 ปีหลังลอง "ยาบ้า"เม็ดแรกตั้งแต่อายุ 13 ปี กว่าจะพ้นวงวนอุบาทว์ 20 ปีเสียเวลาสูญเสียคนที่รัก ตอนนี้เตรียมอุทิศตนเป็นต้นแบบให้เยาวชน

มีคำกล่าวว่า หากยาเสพติดเข้าถึงผู้คนได้ง่ายและมากขึ้นเท่าใด ความเสี่ยงที่จะทำให้มีผู้เสพยาฯ หน้าใหม่และเก่าเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น ข้อมูลกรมราชทัณฑ์ของปี 2655 มีผู้ต้องราชทัณฑ์ 206,361 คน โดย 78% ผู้ต้องขังทั่วประเทศ คือผู้ต้องหาคดียาเสพติด

ปัจจุบันประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ ได้กำหนดให้ใช้มาตรการทางเลือกอื่นตามระดับความร้ายแรงของการทำความผิด ยึดหลัก “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เสพได้เข้ารับการบำบัด

เมื่อถูกจับกุม และเป็นผู้เสพที่ครอบครองยาเสพติดปริมาณเล็กน้อย ให้เข้าสู่ระบบบำบัดทันที โดยไม่ต้องถูกส่งตัวไปดำเนินคดี ต่างจากในอดีตที่ไม่ว่าผู้เสพจะถูกจับกุมด้วยปริมาณยาเสพติดน้อยเพียงใด ก็จะได้รับบทลงโทษรุนแรง

อ่านข่าวเพิ่ม "ล้มไม้ค้ำ ลิดกิ่งก้าน" กวาดทุนจีนฟอกเงินยาเสพติด

แอ๊ด ผู้เคยเสพยาบ้ามาเกือบ 20 ปี ผ่านการบำบัดที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยส.)

แอ๊ด ผู้เคยเสพยาบ้ามาเกือบ 20 ปี ผ่านการบำบัดที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยส.)

แอ๊ด ผู้เคยเสพยาบ้ามาเกือบ 20 ปี ผ่านการบำบัดที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยส.)

เปิดใจคนเคยก้าวพลาด

แอ๊ด ชายหนุ่มรูปร่างผอมสูง อายุไม่เกิน 40 ปีผิวพรรณผ่องใส หน้าตาสดใส ยิ้มกว้างต้อนรับผู้มาเยือน หลังเจ้าหน้าที่แนะนำว่าเขาคือ อดีตผู้เสพยา และมาเข้ารับการบำบัดยาเสพติดกับสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์

ผมรู้จักยาบ้าเม็ดแรก ตั้งแต่จบป.6 และก้าวเข้าเรียนชั้นมัธยม 1 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี

วัยเรียนในชั้นมัธยมต้น ทำให้แอ๊ด รู้จักเพื่อนหน้าใหม่ๆ หลายกลุ่ม จนวันหนึ่งสังเกตเห็นเพื่อนๆ แอบสูบอะไรบางอย่างในห้องน้ำ มีควัน มีกลิ่นควันหอมๆ อยากรู้อยากเห็น และเพื่อนชักชวนพร้อมกับยื่น "ของ" ให้ทดลองเสพ โดยไม่ทราบว่าเป็นยาเสพติด แต่ลองแล้วรู้สึกว่าหอมดี ไม่รู้ว่ามันออกฤทธิ์อย่างไร ที่เขาเรียกเป็นสารกระตุ้น ทำให้เราตื่นตัวคึกและรู้สึกดี

เสพ “ยาบ้าเม็ดแรก”สู่วงจรผู้ค้าฯ

สถิติผู้ป่วยสารเสพติดในไทย จากรายงานผลการดำเนินงาน ตามแบบบำบัดรักษาของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2565 พบมีผู้เข้ารับการบำบัด 120,915 คน เป็นชาย 106,709 คน และหญิง 14,206 คน และหากจำแนกอายุผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดคือ ต่ำสุดอายุน้อยกว่า 12 ปี รองลงมาอายุระหว่าง 12-17 ปี เด็กชายแอ็ดในอดีต ก็อยู่ในช่วงวัยนี้

ใช้ยาบ้าจากครั้งแรก แล้วก็ครั้งต่อๆไป ทางบ้านไม่รู้ คบเพื่อนค้ายาทั้งในโรงเรียน และนอกโรงเรียน ไม่ตั้งใจเรียน เริ่มซื้อมาขายให้เพื่อนในโรงเรียน ตอนนั้นอายุ 13 ปี ซื้อยาบ้าเม็ดละ 50 บาท นำมาขายเม็ดละ 100 บาท คือทั้งเสพและขาย

แอ๊ด เล่าว่า เขาเป็นผู้เสพ และผู้ค้ายาบ้า ขายยาบ้าในโรงเรียนวันละ 10-20 เม็ด และทำแบบนี้มาตลอด 3 ปีถึง ม.3 จนถูกครูที่โรงเรียนจับได้ เนื่องจากเพื่อนที่ใช้สารเสพติดถูกสอบสวน และไล่มาถึงตัวเขา หลังเรียกพบครูไม่อนุญาตให้ “แอ๊ด” เรียนที่นี่ และขอให้ย้ายไปเรียนต่อที่อื่น

แม้ย้ายโรงเรียนไปที่ใหม่ แต่แอ๊ดกลับไม่เลิกพฤติกรรมเดิม ยังคงจำหน่ายยาเสพติดให้กับเพื่อนนักเรียน และเสพยาฯ สุดท้ายถูกตำรวจจับข้อหาครอบครองยาเสพติด ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น ในวัยเพียง 16 ปี

ตอนนั้นถูกจับข้อหาครอบครองยาเสพติด (ยาบ้า) 2 เม็ด ได้ประกันตัวออกมา และศาลสั่งรอลงอาญา แต่ไม่เลิก แค่ใช้การประคองตัวไม่ให้ตรวจฉี่เจอในช่วง 2 ปีแต่ยังใช้ยาเสพมากสุดวันละ 5 เม็ด

แม้เคยมีเป้าหมายในชีวิตอยากสอบเข้ารับราชการ ทหารและตำรวจ แต่เมื่อเสียประวัติจากคดียาเสพติด “แอ๊ด” เลือกที่จะไม่เรียนต่อในชั้น ม.4 เขาเลือกใช้ชีวิตไปกับการเสพยา ดื่มเหล้า คบเพื่อนที่เดินทางเดียวกันมาหลายปี

ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรแค่รู้สึกสนุก แต่ใช้ชีวิตมาระยะหนึ่ง เริ่มไม่สนุกแล้ว เราสูญเสีย ความรักความผูกพัน ความใกล้ชิดในครอบครัว เสียบุคลิกภาพ เสียอนาคต เสียคนที่เรารัก จึงมองหาเป้าหมายและอยากเลิกยาเสพติดเพื่อรักษาสิ่งที่เหลืออยู่
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยส.) ในแต่ละปีมีผู้เข้ามาบำบัดยาเสพติดมากกว่า 4,000 คน

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยส.) ในแต่ละปีมีผู้เข้ามาบำบัดยาเสพติดมากกว่า 4,000 คน

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยส.) ในแต่ละปีมีผู้เข้ามาบำบัดยาเสพติดมากกว่า 4,000 คน

หวนคืนวงการ”เสพซ้ำ” ตัดไม่ขาดทาสยา

แม้ที่ผ่านมาครอบครัวได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ “แอ๊ด”เลิกขาดจากยาเสพติด โดยส่งไปบำบัดรักษา ครั้งแรกปี 2543ที่สถาบันธัญญารักษ์ แต่ด้วยความที่ไม่ได้อยากเลิก จึงเหมือนแค่มาพัก ไม่ได้เรียนรู้อะไร

หลังก้าวพ้นรั้วสถาบันธัญญารักษ์ได้เพียง 2 ปี แอ๊ด ก็หวนคืนวงการ ใช้ชีวิตแบบเดิมๆ และกลับไปเสพซ้ำ ทำให้ชีวิตที่เกือบจะดีขึ้นกลับแย่ลง ทั้งที่หยุดเสพยามานาน

ในปี 2563 เขาถูกจับอีกครั้งและศาลมีคำสั่งให้ถูกคุมประพฤติที่ จ.สุพรรณบุรี โดยต้องตรวจฉี่ทุกสัปดาห์ก็ตามแต่ยังไม่เลิกเสพ เมื่อกลับมาบ้านก็ยังใช้ยาเสพติด เลิกๆหยุดอยู่เกือบ 20 ปี จากอายุ 13 ปัจจุบันอายุ 39 ปี

เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2565 แอ๊ดตัดสินใจกลับเข้ารับการบำบัดจากสถาบันฯอีกครั้ง หลังจากสูญเสียคนในครอบครัว ถือเป็นจุดพลิกกลับในชีวิต เมื่อเห็นว่าพ่อและแม่ คือ ผู้ที่อยู่เคียงข้างเขามาตลอดไม่เคยทิ้งไปไหน จึงตั้งใจว่าถ้าดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะเป็นผู้ช่วยเหลือผู้บำบัดยาของสถาบันฯ

มองกระจกเงา”สะท้อนภาพ” วัยรุ่นเสพยา

ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน ยังเป็นตลาดยาเสพติดที่ผู้เสพใช้มากที่สุด แม้ปัจจุบันจะมีผู้เข้ารับการบำบัดจำนวนมากตามมาตรการบำบัดฟื้นฟูในฐานะผู้เสพเป็นผู้ป่วยทั้ง 3 ระบบ คือ สมัครใจ 86,255 คน ระบบบังคับบำบัด 1,638 คนและระบบต้องโทษ 23,871 คน

โดยช่วงวัยที่ต้องเฝ้าระวังยาเสพติด คือ เยาวชน อายุระหว่าง 18-24 ปี พบมีสถิติเข้ารับการบำบัดรักษาสูง รองจากวัยที่มีช่วงอายุมากกว่า 39 ปี

แอ๊ด ในฐานะผู้ช่วยผู้บำบัดได้เข้าไปฝึกงานตึก H1 ซึ่งเป็นตึกที่รับรักษาผู้ป่วยอาการจิตเวชจากการใช้สารเสพติดและมีอาการหนัก บอกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุ 16-19 ปี เสพกัญชา จนประสาทหลอน หูแว่ว ไม่รู้ตัว บางคนเดินไหว้ทั้งวัน บางรายทำร้ายตัวเอง ฉีกเสื้อผ้า จนต้องมัดจำกัดพื้นที่ไว้เพื่อไม่ตกเตียงหรือทำร้ายคนอื่น

น้องๆ อาการหนักและน่าสงสารมาก บางคนเข้ามาสภาพ ผมเผ้ารุงรัง เล็บยาว หนวดยาว ไม่รู้ตัว เมื่อเข้ารับการบำบัดผ่านไป 2 สัปดาห์ จะค่อยๆดีขึ้ ร่างกายบางคนปรับตัวช้าเร็วต่างกัน มองพวกเขาแล้ว เหมือนเป็นกระจกส่องตัวเอง น้องฟื้นขึ้นมาแล้วดีใจ เห็นแววตาของพ่อแม่มาเยี่ยมน้อง บอกเหมือนได้ลูกคนใหม่

ตั้งแต่ปลดล็อกให้พืชกัญชาถูกกฎหมายและพ้นจากบัญชียาเสพติด แอ๊ดบอกว่า เริ่มเห็นเยาวชนถูกส่งตัวเข้ามาบำบัดยาเสพติดจากกัญชามากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ป่วยถึง 30 เตียง เป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาต่อเนื่อง อายุต่ำสุด 16-19 ปี และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

หลังรับการบำบัด ผมกับน้องๆ ก็คุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่ผ่านมายาเสพติดให้อะไรเรา ถ้าหยุดใช้ได้อะไร ผมก็ใช้ประสบการณ์จากชีวิตตัวเอง มาบอกน้องๆ ที่มาบำบัด และให้น้องดูเพื่อนที่เข้ามาบำบัด เพื่อให้ตัดสินใจว่า จะกลับไปสู่วังวนเดิม หรือจะเป็นคนใหม่

นับถอยหลังอีกไม่นานนัก “แอ๊ด”จะได้กลับไปเจอหน้าลูกสาว 2 คนที่ตั้งตารออยู่ที่บ้าน เพราะการเอาชนะใจตัวเองไม่ให้กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด อาจจะไม่ง่าย แต่ความรัก ความผูกพัน ความอบอุ่น ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักของครอบครัว จะนำพาให้เขาและผู้ที่เคยพลาด ก้าวข้ามไปสู่ชีวิตใหม่ได้

แต่ละปีมีผู้บำบัดยาเสพติดเท่าไหร่

ข้อมูลจากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ รายงานว่าปี 2566 มีผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด จำนวน 4,669 คน โดยเป็นเพศชาย 4,189 คนหรือ 89.72% ส่วนเพศหญิง 480 คน หรือ 10.28%

โดยกลุ่มอายุที่เข้ารับการบำบัดมากสุด คือช่วง 25-29 ปี จำนวน 23.39% รองลงมา 20-24 ปี จำนวน 22% ส่วนประเภทของยาเสพติดเป็นเฮโรอีน 29.77% รองลงมา ยาบ้า 26.94% และกัญชา 13.71%  

ขณะที่ยังพบว่ากลุ่มอาชีพที่เข้าสู่วังวนยาเสพติดและมารับการบำบัดมากสุดคือ อาชีพรับจ้าง จำนวน 1,844 คนจำนวน 39.49% รองลงมากลุ่มว่างงาน 1,747 คน หรือ 37.42% กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา 468 คนหรือ 10% 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดเครือข่าย "ค้ายาเสพติด" ข้ามแดน 

26 มิถุนายน วันต่อต้านยาเสพติดโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง