หญิงไทยสุดเก่งแชร์ประสบการณ์พิชิต "เอเวอเรสต์"

ไลฟ์สไตล์
26 มิ.ย. 66
13:49
1,814
Logo Thai PBS
หญิงไทยสุดเก่งแชร์ประสบการณ์พิชิต "เอเวอเรสต์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เป็นเรื่องสร้างความประทับใจให้คนไทยอีกเรื่องเมื่อ "พญ.มัณฑนา ถวิลไพร" หญิงไทยหัวใจสุดแกร่งพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกได้ ท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้าย สภาวะหิมะกัด ไกด์ท้องถิ่นทิ้งกลางทาง แต่ พญ.มัณฑนา สู้สุดใจ เป็นคนไทยคนที่ 3 ที่ปีนถึงยอดเขาเอเวอเรสต์

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2566 เฟซบุ๊ก Montana Twinprai ได้โพสต์ข้อความแชร์ประสบการณ์ถึงความสำเร็จ ในการเดินทางไปจนสุดทางเชือกที่เอเวอเรสต์ พร้อมเล่าถึงเรื่องราวทั้งประทับใจและอุปสรรคที่ได้เจอระหว่างเส้นทาง ทำเอาคนอ่านลุ้นไปตลอดทริปบนเส้นทางหฤโหดอีกเส้นทางหนึ่งของโลก 

โดยโพสต์ดังกล่าว เล่าถึงการเดินทางของ "พญ.มัณฑนา ถวิลไพร" กับการปีนเอเวอเรสต์เป็นครั้งที่ 2 ของชีวิตในปีนี้ หลังจากที่ปีที่แล้ว เธอต้องยุติการเดินทางเมื่อขึ้นไปถึงระยะทาง 8217 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลและตัดสินใจกลับลงมาเนื่องจากสภาพอากาศลมพัดแรงจนทำให้เต๊นท์อุปกรณ์ปีนปลิวไป 

ปีนี้เธอจ้างไกด์ท้องถิ่นหรือที่เรียกว่า "เชอร์ปา" เพื่อช่วยดูแลระหว่างการเดินทาง การเริ่มต้นเริ่มเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2566 หลังจากที่เธอเดินทางถึงกาฐมาณฑุ 2 วันต่อมาเธอขึ้นเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปที่ "นัมเชบาซ่า" และเริ่มเดินเท้าร่วมกับนักปีนเขาคนอื่นๆ ที่มาจากนานาประเทศ จากนั้นกลุ่มนักปีนเขาก็เริ่มปีนยอดเขาโลบุเชตะวันออก เป็นการปรับตัวให้เข้ากับความสูง พร้อมทั้งยังบอกว่า หิมะที่หนานุ่นบริเวณนั้นเป็นสัญญาณของหายนะที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การปีนเขาเอเวอเรสต์

ตลอดเส้นทางการเดินทาง ก็มีความล้มเหลวเกิดขึ้นทั้งนักปีนเขาเอง หรือแม้กระทั่งเชอร์ปาที่เป็นคนท้องถิ่น บางคนก็ตายขณะที่ทำภารกิจ บางคนก็ทนความลำบากไม่ไหว เดินกลับลงไปด้านล่าง

แต่ใช่ว่าการปีนเอเวอเรสต์จะสามารถเดินทางได้ตามอำเภอใจ "มัณฑนา" ต้องรอคิวขึ้นเอเวอเรสต์อีกเกือบเดือน ระหว่างที่รอเวลานั้น เธอได้เรียนรู้ชีวิตในกาฐมาณฑุ ได้รับฟังข้อมูลจากนักปีนเขาคนอื่นๆ เรื่องของเชอร์ปาที่ขาดแคลน และ อันตรายจากต่อสุขภาพระหว่างการปีนเขา "หิมะกัด หรือ Frostbite" 

สิ้นสุดการรอคอย ความท้าทายเริ่มต้นแล้ว

จนกระทั่งวันที่ 20 พ.ค. เธอได้รับข้อมูลจากบริษัททัวร์ว่า การเริ่มต้นสานฝันต่อจากปี 2565 ที่ไม่สำเร็จนั้น ได้ไปต่อแล้ว โดยเริ่มแรก ชาวท้องถิ่นที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยคือ "พ่อครัว" และหลังจากเริ่มการเดินทาง อุปสรรคแรกที่เธอเจอคือ ถุงนอนกับแผ่นรองนอนหายไปจากเต๊นท์ สุดท้ายพ่อครัวที่เป็นผู้ช่วยของเธอ ก็ไปช่วยเจรจานำคือมาได้จากนักปีนเขาคนอื่นที่หยิบไป แม้จะใจเสีย แต่ก็ยังสู้ เดินทางขึ้นไปความสูง 6,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เธอก็ได้พบกับไกด์ตัวจริงอีกคนหนึ่ง โดยเธอให้ชื่อว่า "พินจู" และเชอร์ปาที่เธอสมมติชื่อให้ว่า "ลูกปลา" 

3 วันต่อมาก็เริ่มการเดินทางอีกครั้ง ระหว่างทางผ่านแคมป์ 4 ของ Lhotse ขณะกำลังปีนขึ้นเอเวอเรสต์ เธอได้เห็นร่างคน ที่แขนลู่ไปตามหิมะ มือเป็นสีม่วง ไม่ได้ใส่ถุงมือ นอนอยู่ในถุงนอน ซึ่งเธอเข้าใจทันทีว่าเป็นเหล่านักปีนเขาที่ไม่มีความเจ็บปวดอีกต่อไปแล้วนั่นเอง นอกจากสภาพอากาศเลวร้ายที่เป็นอุปสรรคแล้ว ไกด์ท้องถิ่นทั้งพินจูและลูกปลา ที่จู่ๆ ทิ้งเธอไว้กลางทาง ที่ความสูง 8,300 เมตร ยังทำให้ชีวิตเธอตกอยู่ในอันตรายอีกด้วย เพราะสัมภาระต่างๆ แม้กระทั่งน้ำอยู่ที่ไกด์ท้องถิ่นทั้งหมด 

ระหว่างที่กำลังครุ่นคิดต่อสถานการณ์ตรงหน้า "พ่อครัว" ผู้ช่วยคนแรกก็เป็นผู้ช่วยคนใหม่ที่ช่วยเธอสานต่อภารกิจจนใกล้จะถึงจุดซัมมิต ซึ่งเป็นยอดเขาเอเวอเรสต์ อีกไม่ถึง 1 ชั่วโมงภารกิจของมัณฑนาจะสำเร็จ แต่ "พ่อครัว" กลับไม่ยอมไปต่อ แต่ใจที่สู้ของหญิงแกร่งผู้นี้ ยังขอเดินหน้าต่อกับเพื่อนร่วมทาง "สุมาน กูรุง" ที่ท้ายที่สุดก็พาเธอไปถึงยอดซัมมิต ที่มีความสูง 8848.86 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล 

แม้จะมาถึงด้วยความทุลักทุเลและด้วยเทคโนโลยี กระป๋องออกซิเจน เชอร์ปาซัพพอร์ต และเชอร์ปาที่หนีไป บันทึกไว้คือ 8.15 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศเนปาล

ใจสู้ ร่างกายไม่สู้

พญ.มัณฑนา ร้องไห้ดีใจกับความสำเร็จที่เธอสู้สุดใจกับอุปสรรคต่างๆ ตลอดเส้นทาง แต่หลังจากนั้น ร่างกายเริ่มเข้าสู่สภาวะ Snow Blindness และต้องถูกนำตัวลงด้วยวิธี Rappelling technique เพื่อให้ทันกับเวลาก่อนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า เมื่อลงไปถึงบริเวณแคมป์ 4 เธอถูกเช็กร่างกายเพิ่ม และพบว่า เท้าของเธอเจอสภาวะหิมะกัดอีก จนต้องประสานให้เฮลิคอปเตอร์มารับลงไป เพื่อทำการรักษาอย่างเร่งด่วน

หลังจากส่งตัวไปทำการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลในกาฐมาณฑุ ทางแพทย์ก็ตัดสินใจให้เธอกลับไทยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดอัตราการตัดเนื้อเยื่อและอันตรายต่อร่างกายด้านอื่นๆ หลังจากเข้ารับการรักษาอย่างเต็มที่ที่ กทม. เป็นเวลา 5 วัน เธอก็ถูกส่งตัวไปรักษาเพิ่มเติมต่อที่ รพ.ในจังหวัดขอนแก่น

เรื่องราวของ พญ.มัณฑนา ถวิลไพร กับการเดินทางพิชิตเอเวอเรสต์ ยังมีรายละเอียดที่น่าติดตามอีกมากมาย ซึ่งช่วยให้ผู้คนได้เรียนรู้เรื่องการเดินทางกับเส้นทางหฤโหดของโลก ไทยพีบีเอสออนไลน์นำเรื่องราวมาสรุปเพียงสั้นๆ เท่านั้น

คนไทยพิชิตเอเวอร์เรสต์

วิทิตนันท์ โรจนพานิช เป็นคนไทยคนแรกที่ปีนยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จ ในปี 2551, ทันตแพทย์หญิง นภัสพร ชำนาญสิทธิ์ คือหญิงไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จในปี 2559 และ พญ.มัณฑนา คือคนไทยคนที่ 3 ที่พิชิตเอเวอเรสต์สำเร็จ ขอแสดงความยินดีอีกครั้ง 

ข้อมูลจาก HIGH ADVENTURE EXPEDITIONS ระบุว่าจนถึงเดือน ม.ค.2566 มีคนจำนวน 6,338 คนได้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์แล้ว และในจำนวนนี้มีทั้งนักปีนเขาชาวต่างชาติ ชาวเนปาล และเชอณืปาหรือไกด์ท้องถิ่น และคนที่ปีนถึงยอดเขามากที่สุดคือเชอร์ปา คามิ ริตา ที่ขึ้นไปทั้งหมด 26 ครั้ง

ที่มา : Facebook Montana Twinprai 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง