อนามัยโลกเล็งประกาศ "แอสปาร์แตม" อาจเป็นสารก่อมะเร็ง

ต่างประเทศ
30 มิ.ย. 66
07:07
4,388
Logo Thai PBS
อนามัยโลกเล็งประกาศ "แอสปาร์แตม" อาจเป็นสารก่อมะเร็ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มีรายงานว่า องค์การอนามัยโลกเตรียมประกาศให้ "แอสปาร์แตม" สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เป็นหนึ่งในสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2566 สำนักข่าว Reuters รายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง 2 แหล่งข่าวว่า ในเดือน ก.ค.นี้ สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) หน่วยงานในสังกัดองค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมประกาศให้ "แอสปาร์แตม" (Aspartame) สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ตั้งแต่น้ำอัดลมไปจนถึงหมากฝรั่ง เป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ เป็นครั้งแรก

การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากหารือกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กร มีจุดประสงค์เพื่อประเมินว่าสารบางอย่างเป็นอันตรายหรือไม่ เมื่ออิงตามหลักฐานที่เคยมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน

อย่างไรก็ตามยังไม่มีการระบุถึงปริมาณการบริโภคสารแอสปาร์แตมที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค คำแนะนำในส่วนนี้จะมาจากคณะผู้เชี่ยวชาญร่วมด้านวัตถุเจือปนอาหาร จัดตั้งขึ้นผ่านความร่วมมือกันระหว่างองค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งกำลังศึกษาแอสปาร์แตมเช่นกัน และเตรียมประกาศผลการศึกษาในวันเดียวกับที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศบรรจุแอสปาร์แตมเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง คาดว่าจะเกิดขึ้นวันที่ 14 ก.ค.นี้

โฆษกสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ ระบุว่า การค้นพบของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้จะเป็นความลับไปจนถึงเดือน ก.ค. แต่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันกับข้อสรุปที่ชี้ว่าแอสปาร์แตมอาจเป็นสารการก่อมะเร็ง ขณะที่คณะผู้เชี่ยวชาญร่วมด้านวัตถุเจือปนอาหารจะดำเนินการประเมินความเสี่ยง เพื่อชี้ชัดถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ รวมถึงปริมาณที่บริโภคเข้าไป

"แอสปาร์แตม" ได้รับอนุญาตให้ใช้ทั่วโลกโดยหน่วยงานกำกับดูแลที่ได้ตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมด รวมถึงผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ออกมาปกป้องส่วนผสมที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ของตนมานานหลายทศวรรษ

ขณะที่แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับสถาบันวิจัมะเร็ง ระบุด้วยว่า การบรรจุให้แอสปาร์แตมอาจเป็นสารก่อมะเร็ง มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิจัยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ ผู้บริโภคและผู้ผลิตได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มที่จะจุดชนวนการถกเถียงอีกครั้งเช่นกัน

การตัดสินของหน่วยงานนี้ที่ผ่านมากับสารชนิดอื่นๆ ได้สร้างความกังวลในหมู่ผู้บริโภค นำไปสู่การฟ้องร้อง และสร้างแรงกดดันให้กับผู้ผลิตให้ปรับปรุงสูตร หรือเปลี่ยนมาใช้สารชนิดอื่นเพื่อความปลอดภัย แต่บางครั้งก็สร้างความสับสนให้กับสาธารณชนเช่นกัน

อ่านข่าวอื่นๆ

ฟิลิปปินส์ 101 “การกลับมาของตระกูลมาร์กอส”

ยามฝั่งสหรัฐฯ เผยกู้ซากเรือไททันใต้น้ำ พบชิ้นส่วนมนุษย์

นักวิทย์ฯ ชี้ไฟป่าแคนาดาปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 160 ล้านตัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง