เดือนเดียวป่วย "ฝีดาษลิง" เพิ่ม 48 คน สูงขึ้น 2.3 เท่า

สังคม
1 ก.ค. 66
18:00
1,286
Logo Thai PBS
เดือนเดียวป่วย "ฝีดาษลิง" เพิ่ม 48 คน สูงขึ้น 2.3 เท่า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค เผยไทยพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร เดือน มิ.ย.66 จำนวน 48 คน สูงกว่าเดือน พ.ค.ที่ได้รับรายงาน 21 คน เพิ่มขึ้นเป็น 2.3 เท่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย พร้อมเน้นย้ำโรคฝีดาษวานรป้องกันได้โดยงดการสัมผัสแนบชิดกับผิวหนังผู้ป่วย

วันนี้ (1 ก.ค.2566) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทย พบผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือน ก.ค.2565 ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วยรวม 91 คน ในไทย และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน มิ.ย. เพียงเดือนเดียว มีรายงานพบผู้ป่วยเพิ่ม จำนวน 48 คน ซึ่งมากกว่า 2.3 เท่า ของผู้ป่วยในเดือน พ.ค. ที่มีจำนวน 21 คน เป็นคนไทย 41 คน ชาวต่างชาติ 7 คน

ส่วนใหญ่พักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (38 คน) และใน จ.สมุทรปราการ 3 คน ชลบุรี นนทบุรี จังหวัดละ 2 คน สมุทรสาคร ภูเก็ต ปทุมธานี จังหวัดละ 1 คน ผู้ป่วย 48 คน เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีประวัติติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วย 22 คน (คิดเป็นร้อยละ 45.8 ของผู้ป่วยในเดือน มิ.ย.2566) ส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักก่อนป่วย

เช็กอาการ - วิธีป้องกัน

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ยังไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต สังเกตว่าเดือนที่ผ่านมาผู้ป่วยฝีดาษวานรรายใหม่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากเกือบครึ่งหนึ่ง โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยเลี่ยงไม่สัมผัสแนบชิดกับผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสัยติดเชื้อฝีดาษวานร รวมทั้งงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก

สามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีผื่น/ตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือผู้ป่วยฝีดาษวานร รวมทั้งกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยสงสัยหรือเป็นฝีดาษวานรในขณะป่วย ให้สังเกตภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน

นอกจากนี้ หากมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต เช่น บริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ เจ็บคอ คัดจมูก หรือ ไอ มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือ ทวารหนัก หรือ บริเวณรอบๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพ หรือโรงพยาบาล โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงทันที พร้อมแนะนำวิธีป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษวานร เช่น หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก หลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด รวมทั้งแนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรระบาดเพิ่มขึ้นรวดเร็วในเวลาเดือนเดียว สะท้อนถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อในเพศชายวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย กรมควบคุมโรคจึงขอความร่วมมือ เครือข่ายที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน เช่น โรงพยาบาลและคลินิกเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม สถานประกอบการสุขภาพ ประเภทสปา ซาวน่า ให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และคำแนะนำในการสังเกตอาการโรคฝีดาษวานรสำหรับประชาชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และการป้องกันโรคฝีดาษวานรแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง

โรคฝีดาษวานรสามารถป้องกันได้โดยงดการสัมผัสแนบชิดกับผิวหนังผู้ป่วยและไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน นอกจากการสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ให้สังเกตตุ่มหนองในบริเวณที่มีโอกาสสัมผัสแนบเนื้อ เพื่อป้องกันความเสี่ยงรับเชื้อจากการสัมผัส

สำหรับคลินิกรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ขอให้เพิ่มการสื่อสารมาตรการป้องกันโรคฝีดาษวานรอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับเรื่องการดูแลสุขภาพอื่น ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง