"บัณเฑาะก์" คืออะไร เป็น LGBTQ+ บวชพระได้หรือไม่?

ไลฟ์สไตล์
5 ก.ค. 66
15:42
7,770
Logo Thai PBS
"บัณเฑาะก์" คืออะไร เป็น LGBTQ+ บวชพระได้หรือไม่?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรณีชาวพุทธในเน็ตต่อต้านการอุปสมบทของ "พระเขื่อน" เพราะเข้าใจว่าเป็นบัณเฑาะก์ บวชไม่ได้ หากบวชแล้วต้องให้สึกเสีย รวมถึงร้องสอบวินัยพระอุปัชฌาย์ เมื่อเปิดคัมภีร์อรรถกถา พบว่า "บัณเฑาะก์" ทางพุทธศาสนา ตัดสินทางกายภาพ และพิจารณาที่การครองตนในจีวรมากกว่า

เว็บไซต์มิวเซียมสยาม (Museum Siam) โดยพระมหาอิสระ ชัยภักดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ตีความ "บัณเฑาะก์" เป็นกะเทย บวชพระได้ไหม?  อย่างน่าสนใจว่า สังคมส่วนใหญ่มักเริ่มต้นประเด็นที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ไม่สามารถอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ได้ โดยนำเอาข้อความในพระไตรปิฎกมาเป็นที่ตั้งว่า

...ปณฺฑโก ภิกฺขเว อนุปสมฺปนโน น อุปสมฺปาเทตพฺโพ...
... ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ บัณเฑาะก์ ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย...

นั่นหมายถึง "ห้ามบัณเฑาะก์บวช" หากบวชแล้วก็ต้องให้สึก

แต่เมื่อพิจารณาคำว่า "บัณเฑาะก์" นั้นหมายถึงใคร กินความแค่ไหน หรือมีการตีความไว้ว่าอย่างไรบ้าง

ข้อมูลจากคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่พระมหาเถระ ได้ร่วมกันพิจารณาขยายความถึงข้ออรรถ ข้อธรรมต่างๆ อธิบายเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย จะพบว่าในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ในข้อว่า "บัณเฑาะก์" พระอรรถกถาจารย์อธิบายขยายความแยกออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

  1. อาสิตตบัณเฑาะก์ คือ ชายที่อมอวัยวะเพศของชายอื่น
  2. อุสุยยบัณเฑาะก์ คือ ชายที่ชอบพอใจในการดูกิจกรรมร่วมเพศระหว่างชายกับชาย
  3. โอปักกมิยบัณเฑาะก์ คือ บุคคลที่ถูกตอน เช่น ขันที และรวมถึงบุคคลที่ผ่าตัดแปลงเพศในปัจจุบัน
  4. ปักขบัณเฑาะก์ คือเป็นบัณเฑาะก์ในช่วงข้างแรม (มีอารมณ์กำหนัดบางวัน) แต่ช่วงข้างขึ้นไม่เป็น
  5. นปุงสกัปบัณเฑาะก์ คือ ผู้มีความบกพร่องทางเพศสภาพ ไม่ปรากฏเพศที่แน่ชัด นับเป็นความบกพร่องทางร่างกายแต่กำเนิด

อรรถกากล่าวว่า "อาสิตตบัณเฑาะก์" และ "อุสุยยบัณเฑาะก์" สามารถบวชได้
"ปักขบัณเฑาะก์" สามารถบวชได้ในวันที่ไม่มีกำหนัด

ส่วน "โอปักกมิยบัณเฑาะก์" และ "นปุงสกัปบัณเฑาะก์" นั้นไม่สามารถบวชได้

การอนุญาตให้บัณเฑาะก์บวช พระอรรถกถาจารย์ หมายความว่า ต้องเป็นบัณเฑาะก์ก่อนที่จะเข้ารับการอุปสมบท เมื่อบัณเฑาะก์ผู้นั้นมีความประสงค์ที่จะเลือกเพศสภาพแห่งความเป็นชาย ละทิ้งกริยาอาการแห่งหญิง ตั้งใจที่จะมาอุปสมบทบำเพ็ญภาวนา ก็สามารถที่จะกระทำได้ แต่เมื่อบวชแล้วต้องบังคับข่มใจสละ ความประพฤติเดิมนั้นออกเสีย คือเมื่อเลือกที่จะบวชแล้ว ถือได้ว่าเป็นการเลือกเพศสภาพแห่งความเป็นชายของตน ข่มจิตใจอาการแห่งความเป็นหญิงไม่ให้ฟุ้งซ่านขึ้น

การอธิบายของพระอรรถกถาจารย์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดโอกาสของพระพุทธศาสนา

อนุโลมให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีโอกาสเข้ามาประพฤติตามพระธรรมวินัยได้ แต่ตนเองนั้นต้องเป็นผู้เลือกที่จะยอมรับวิถีปฏิบัติในหมู่สงฆ์

ส่วนประเภทที่ห้ามบวชนั้นล้วนมีปัญหาเกี่ยวกับเพศกำเนิดทางกายภาพที่บกพร่อง ในส่วนของผู้ทำการบวชให้ ได้แก่ ประชุมสงฆ์อันมีพระอุปัชฌาย์เป็นประธาน พระอุปัชฌาย์นี้ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบกุลบุตรผู้ที่เข้ามาขออุปสมบทว่าสามารถบวชได้หรือไม่

ในขั้นตอนนี้พระอุปัชฌาย์จะถามอันตรายิกธรรมกับนาคท่ามกลางหมู่สงฆ์ หนึ่งในนั้นมีข้อหนึ่งถามว่า

"...ปุริโส้สิ๊.." (เธอเป็นผู้ชายหรือไม่ ?)
เมื่อกล่าวตอบว่า "อาม ภนฺเต" (ใช่ครับ)

พระอุปัชฌาย์จึงจะอุปสมบทให้ ในขั้นตอนนี้จึงถือเป็นการคัดกรอง สอบถามความแน่ใจและย้ำเตือนบุคคลที่จะเข้ามาอุปสมบทถึงการเลือกและยอมรับการปฏิบัติอย่างสมณเพศ

ถึงจุดนี้คงได้คำตอบแล้วว่า "บัณเฑาะก์" สามารถบวชได้หรือไม่ แต่สิ่งที่ควรพิจารณามากกว่าคือ เมื่อบวชแล้วจะประพฤติตนอย่างไรมากกว่า 

กระแสความเชื่อเรื่องบาปบุญกุศลจากอดีต ยังคงส่งต่อสู่ปัจจุบัน อาจเกิดช่องทางสร้างความเชื่อที่หลากหลายได้ ในขณะเดียวกัน เมื่อพุทธศาสนาเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาประพฤติปฏิบัติ ตามความศรัทธาของตนแล้ว

พระภิกษุสามเณรนั้นควรจะต้องยกระดับประคับประคองจิตใจ ให้ไม่ก้าวล่วงพระธรรมวินัยด้วยเช่นกัน จีวร เป็นเครื่องแบบ (Uniform) ที่ย้ำเตือนให้ภิกษุต้องระมัดระวังในการประพฤติปฏิบัติตน ต้องข่มกลั้นจิตใจ ต้านทานต่อกระแสโลก กระแสความต้องการของตน

อันตรายิกธรรม เหตุขัดขวางการอุปสมบท 13 อย่าง

13 เหตุขัดขวางที่คู่พระผู้สวดจะถามผู้อุปสมบทในพิธี ส่วนใหญ่มีที่มาจากเหตุในอดีตที่ทำให้หมู่คณะภิกษุสงฆ์ต้องมัวหมอง ซึ่งในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแสดงไว้ ได้แก่

  1. กุฏธัง - เธอเป็นโรคเรื้อนหรือไม่
  2. คันโท – เธอเป็นโรคฝีชนิดเป็นทั่วตัวหรือไม่
  3. กิลาโส – เธอเป็นโรคกลากหรือไม่
  4. โสโส – เธอเป็นโรคมองคร่อ (มีเสมหะแห้งอยู่ในก้านของหลอดลม) หรือไม่
  5. อะปะมาโร – เธอเป็นโรคลมบ้าหมูหรือไม่
  6. มะนุสโส้สิ๊ – เธอเป็นมนุษย์ ใช่ไหม (เคยมีพญานาคมาแอบบวช)
  7. ปุริโส้สิ๊ - เธอเป็นผู้ชาย ใช่ไหม (คนมีสองเพศเคยมาบวช)
  8. ภุชิสโส้สิ๊ - เธอเป็นไทแก่ตัวเอง ใช่ไหม
  9. อะนะโนสิ๊ – เธอไม่เป็นหนี้ใคร ใช่ไหม
  10. นะสิ๊ ราชะภะโต – เธอไม่ใช่ข้าราชการที่ยังมีภาระต้องรับผิดชอบ ใช่ไหม (เคยมีทหารหรือข้าราชการออกบวช เพื่อหนีราชการสงคราม)
  11. อะนุญญาโตสิ๊ มาตาปิตูหิ - บิดา มารดาของเธออนุญาต ใช่ไหม (กรณีราหุลออกบวช)
  12. ปะริปุณณะวีสะติวัสโส้สิ๊ – เธออายุครบ 20 ปี ใช่ไหม
  13. ปะริปุณณัณเต ปัตตะจีวะรัง - เธอมีบาตรและจีวรครบ ใช่ไหม (เคยมีคนบวชแล้วไม่มีจีวร ไปเปลือยกายขอบิณฑบาตร ในพิธีบวช)

5 คำถามแรกนี้ ผู้อุปสมบทต้องตอบว่า นตฺถิ ภนฺเต (นัตถิ ภันเต) ซึ่งแปลว่า ไม่ ในอดีตนั้นมีคนเป็นโรคมาขอบวช เพื่อให้หมอเทวดา ชีวกโกมารภัจจ์ รักษา (ปกติหมอเทวดาจะรักษาเฉพาะกษัตริย์ กับภิกษุสงฆ์เท่านั้น) พอรักษาหายแล้วก็สึก ไม่ได้ตั้งใจมาบวชเพื่อศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้า 

ส่วน 8 ข้อหลังต้องตอบว่า อาม ภนฺเต (อามะ ภันเต) แปลว่า ใช่ครับ

ที่มา : มิวเซียมสยาม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง