นักวิชาการหนุนรัฐบาลใหม่เร่งเปิดรับนักลงทุน

เศรษฐกิจ
5 ก.ค. 66
18:48
343
Logo Thai PBS
นักวิชาการหนุนรัฐบาลใหม่เร่งเปิดรับนักลงทุน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“กอบศักดิ์” ชี้รัฐบาลใหม่เร่งเปิดรับนักลงทุน ดันเศรษฐกิจโต รองรับเทคโนโลยี ด้านสมเกียรติ แนะแก้ทุนผูกขาด ปรับค่าแรงขั้นต่ำต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติจัดงานครบรอบ 26 ปี โดยจัดเวทีปาฐกถาพิเศษ “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” โดยมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เข้าร่วม

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน เป็นความท้าทายอย่างมาก คนไทยอาจได้เห็นการหายไปของฮาร์ดไดรฟ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าประจำบ้าน จนถึงอาหารสตรีทฟู้ดที่เราชื่นชอบ


วิวัฒนาการของโลกมีความก้าวหน้า เช่น การเข้ามาของ AI (Artificial Intelligence) ทดแทนกำลังมนุษย์ โรงงานหลายแห่งของจีนและญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ที่กำลังพัฒนา 3D Printing เพื่อผลิตอาหาร สะท้อนให้เห็นว่าโลกกำลังพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว หากไทยยังคงแช่แข็งตัวเอง และฟื้นฟูเสน่ห์ที่หายไปเมื่อ 20 ปีก่อนกลับมาไม่ได้ ก็คงไม่ทันการณ์


นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในต่างประเทศ เป็นส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยควรจะเปิดให้นักลงทุน เข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น เพราะนักลงทุนเหล่านี้ จะสามารถนำวิทยาการใหม่เข้ามาในไทยได้ และเป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่จะทำให้ภายใน 5 ปีนี้ supply chain ของภูมิภาคอาเซียนเปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิง

ทำไมต้อง 5 ปี เพราะการลงทุนต้องใช้เวลา ในการสร้าง โรงงานปิโตรเลียม โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานไฟฟ้า โรงงานผลิตต่างๆ หลังจากสร้างเสร็จ ผมมั่นใจ 5 ปีให้หลังอาเซียนจะเปลี่ยนไป

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า พัฒนาการที่รวดเร็วของเทคโนโลยี อาจเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องพิจารณากฎหมาย ให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน และอนาคต เช่น กฎหมายรับรองแรงงานไทย ที่อาจถูกแทนที่ด้วยวิทยาการหุ่นยนต์ในระยะสั้นหรือการปรับเปลี่ยนระเบียบภายในองค์กรณ์ต่าง ๆ ที่ยังคงใช้เอกสารหรือกระดาษในการดำเนินการ ซึ่งสมควรนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสม

จุดแข็งสำคัญที่น่าสนใจของประเทศไทย คือจุดภูมิศาสตร์ประเทศ ที่มีระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ครอบคลุม 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ไทยมีจุดยุทธศาสตร์ท่าเรือที่ดี เช่น จุดขนส่งสินค้าท่าเรือระนอง ที่เชื่อมต่อไปยังน่านน้ำทะเลอันดามัน และไปถึงอินเดีย เมียนมา และสามารถส่งเสริมให้ไทยอยู่ในจุดที่น่าสนใจมากขึ้นในสายตาเวทีโลก

ด้านนายสมเกียรติ์ กล่าวว่า สังคมไทยก้าวหน้าหลายด้าน สะท้อนผ่านแนวคิดทัศนะคติของผู้คนในสังคม เช่น นโยบายสมรสเท่าเทียม หรือการเรียกร้องสิทธิด้านต่าง ๆ แต่ด้านหนึ่งก็ยังคงมีปัญหาที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งเดินหน้าแก้ไข หลังจากเกิดปัญหาโควิด-19 ระบาด เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีคนตกงานอยู่ประมาณ 400,000 คน

แต่ยังมีประชากรวัยทำงานไม่น้อย ยังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 340 บาท หากเปรียบเทียบกับปี 2556 ในสมัยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาท

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า หากวางดัชนีของกราฟ ให้เริ่มต้นเท่ากันที่ 100 จะเห็นว่า ในปี 2565 เส้นดัชนีของค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาอยู่ที่ 112.2 หมายความว่า 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างอยู่ที่ 12% คิดเป็นเฉลี่ยปีละ 1.2% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยมาก

ควรจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนให้เห็นภาวะเงินเฟ้อ และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้คนงานได้รับสินค้าและบริการ และควรมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นให้ได้ปีละ 3% โดยในปี 2566 ควรมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 380-390 บาท

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลใหม่ไม่ควรมองข้าม คือ ปัญหาทุนผูกขาดซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาลและกลุ่มทุน เช่น การผูกขาดธุรกิจอินเทอร์เน็ตจากบริษัทมือถือสองค่ายยักษ์ใหญ่ เหลือผู้ผลิตเพียงสองรายในประเทศ การผูกขาดพลังงานโดยกลุ่มทุนรัฐวิสาหกิจ และการผูกขาดกิจการภาพยนตร์ ที่ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควรจะเป็น

นายสมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตหลังเลือกตั้ง หน้าที่ของรัฐบาลใหม่ คือแก้ไขไม่ให้รัฐบาลและทุนผูกขาดผนวกเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน และเปิดพื้นที่ให้ประชาธิปไตยทำงาน ปลดล็อกให้ SMEs รายย่อยได้เติบโต ไม่โดนเอาเปรียบ แก้ไขกฎระเบียบให้มีความสมเหตุสมผล เท่าเทียม สังคมจึงจะเดินหน้าต่อไปได้

รายงานโดย น.ส.อรชพร โภคสวัสดิ์ /นักศึกษาฝึกงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง