ครึ่งปี 66 พบผู้ป่วย "ไข้เลือดออก" ในไทยสะสมกว่า 27,000 คน

สังคม
6 ก.ค. 66
08:57
2,060
Logo Thai PBS
ครึ่งปี 66 พบผู้ป่วย "ไข้เลือดออก" ในไทยสะสมกว่า 27,000 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรคเผยครึ่งปี 2566 ไทยพบผู้ป่วย "ไข้เลือดออก" สะสมกว่า 27,000 คน สังเกตอาการหากไข้สูงเฉียบพลันและสูงลอยมากกว่า 2 วัน ให้รีบพบแพทย์-ห้ามซื้อยากินเอง

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2566 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โรคไข้เลือดออก" ในประเทศไทย ตั้งแต่ในวันที่ 1 ม.ค.- 28 มิ.ย.2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 27,377 คน สูงกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 3 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตเข้าระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ 33 คน

ตั้งแต่เดือน มิ.ย.พบผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1,500-2,400 คน เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1-3 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี พบอัตราป่วยสูงสุดในภาคใต้ กรุงเทพฯและภาคกลาง ตามลำดับ

อาการเสี่ยงป่วย "ไข้เลือดออก"

อธิบดีกรมควบคุมโรคขอให้สังเกตอาการป่วยของตนเองและคนในครอบครัว หากพบมีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยมากกว่า 2 วัน ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที และห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟิแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุดแก้ปวด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

นอกจากนี้ควรป้องกันจากการถูกยุงกัด เช่น ทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายภายในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง, เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์พร้อมขัดขอบภาชนะเพื่อกำจัดไข่ยุงลาย และเก็บขยะบริเวณรอบบ้าน ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ทั้ง 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ช่วงที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพิ่มกลยุทธ์เพื่อควบคุมจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศ เน้นรณรงค์ป้องกันก่อนเกิดโรค โดยเริ่มต้นจากการดูแลตนเอง อีกทั้งผนึกกำลังภาคีรัฐและเอกชนชูนวัตกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือป้องกันการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกขณะที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนที่เป็นกลุ่มป่วยสูงสุด

นอกจากนี้ การวินิจฉัยที่รวดเร็วยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจโรคไข้เลือดออกชนิดรวดเร็ว (Dengue Rapid Diagnosis Test) ทำให้วินิจฉัยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้เร็วขึ้น

อ่านข่าวอื่นๆ

เดือนเดียวป่วย "ฝีดาษลิง" เพิ่ม 48 คน สูงขึ้น 2.3 เท่า

รู้จัก ไวรัสพันธุ์ใหม่ "แลงยา" ที่อาจระบาดแทน "โควิด-19"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง