ทำไม ? อินเทอร์เน็ตบนเครื่องบินจึงถูกและเร็วขึ้น

Logo Thai PBS
ทำไม ? อินเทอร์เน็ตบนเครื่องบินจึงถูกและเร็วขึ้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เมื่อโลกทั้งใบเชื่อมต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ตแม้กระทั่งบนเครื่องบิน เทคโนโลยีดาวเทียมมีส่วนสำคัญในการช่วยให้อินเทอร์เน็ตบนเครื่องบินเร็วมากขึ้น ถูกลงกว่าเดิม หรือบางสายการบินอาจให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรี

ใครที่มีโอกาสได้เดินทางด้วยสายการบินต่าง ๆ อาจจะเคยได้เห็นสัญลักษณ์ไวไฟ (Wi-Fi) ปรากฏที่ประตูเครื่องบิน หรือในห้องโดยสาร รู้หรือไม่ ทุกวันนี้แทบจะทุกสายการบินหลักของโลก ล้วนแต่มีการให้บริการไวไฟในเที่ยวบิน โดยเฉพาะเที่ยวบินระยะไกล และยิ่งไปกว่านั้น สายการบินจำนวนหนึ่งถึงขั้นให้บริการไวไฟแบบไม่มีค่าใช้จ่ายตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น สามารถใช้เพื่อส่งข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย หรือใช้งานได้ตามปริมาณของข้อมูลที่กำหนด ซึ่งสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร โดยเฉพาะในเที่ยวบินระยะไกล (Longhaul) ที่อาจใช้เวลาบินนานนับสิบชั่วโมง

แนวโน้มการให้บริการอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบินนั้นยังจัดว่ามีราคาถูกลงเป็นอย่างมาก เช่น สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ (Japan Airlines) คิดค่าบริการอยู่ที่ 18 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 630 บาท) สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง หรือสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ (Singapore Airlines) เลือกที่จะให้บริการไวไฟบนเครื่องบินฟรี สำหรับผู้โดยสารทุกประเภท

นอกจากราคาที่ถูกลงแล้ว ความเร็วอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบินก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้อาจจะไม่ได้มากเท่ากับอินเทอร์เน็ตบนพื้นโลก แต่เราก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วระดับ 10 เมกะบิตต่อวินาทีได้บนเครื่องบิน

ก่อนที่จะมาไขปริศนาว่าทำไมอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบินถึงได้เป็นที่นิยม มีคุณภาพดีขึ้น และมีราคาถูกลงอย่างมาก เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบินนั้นมาจากไหน

อินเทอร์เน็ต คือเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ทั้งโลกที่ถูกเชื่อมต่อกันทั้งแบบใช้สายและไร้สาย ปัจจุบันโลกทั้งใบเชื่อมกันด้วยเครือข่ายสายใยแก้วนำแสงใต้น้ำ (Submarine Cable) ที่ใช้แสงซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง สามารถและเคลื่อนที่ได้เร็วถึง 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที (ในความเป็นจริง เมื่อแสงเดินทางในตัวกลาง เช่นใน สายใยแก้ว ความเร็วจะลดลง) เพื่อนำส่งข้อมูลดิจิทัลจำนวนมหาศาลบนอินเทอร์เน็ตในแต่ละวินาที แนวคิดการเดินสายดังกล่าวนั้นไม่ได้แตกต่างจากในสมัยก่อนที่มีการวางสายโทรเลขแต่อย่างใด

เมื่อโลกได้รู้จักกับการสื่อสารแบบไร้สายผ่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ โลกก็มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้มากขึ้น แต่ข้อจำกัดของการสื่อสารแบบไร้สาย เช่น ปริมาณของข้อมูล (Throughput) ก็ทำให้ปัจจุบันเรายังคงต้องพึ่งพาการสื่อสารแบบมีสายอยู่ โดยที่การสื่อสารไร้สายนั้นจะเน้นสำหรับกรณีที่ต้องการความสะดวกสบาย เช่นสัญญาณโทรทัศน์ (UHF) คลื่นวิทยุ (FM และ AM) การใช้งานไวไฟส่วนบุคคลในบ้าน หรือเทคโนโลยีโทรศัพท์ไร้สาย (Cellular) รวมถึง 4G และ 5G ที่เราใช้กันในปัจจุบัน นอกจากนี้การสื่อสารแบบไร้สายก็ยังถูกนำมาใช้ด้านการทหาร หรือการสื่อสารผ่านดาวเทียมเช่นกัน

แนวคิดการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2002 เป็นต้นมา ซึ่งในตอนนั้น ผู้ให้บริการดาวเทียม จากเดิมที่ใช้ดาวเทียมสะท้อนคลื่นไมโครเวฟสำหรับการถ่ายทอดสดโทรทัศน์หรือโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า High-throughput Satellite ที่เพิ่มอัตราการรับส่งข้อมูลของตัวดาวเทียมให้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้ หนึ่งในดาวเทียมที่บุกเบิกเทคโนโลยีดังกล่าว เช่น ดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งได้รับชื่อว่าไอพีสตาร์ (IPSTAR)

หลังจากนั้นการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมก็เริ่มเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมเรือเดินสมุทร แท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง หรือพื้นที่ห่างไกลในชนบท และเมื่อเทคโนโลยี High-throughput Satellite ได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ก็ได้มีการพัฒนาตัวรับสัญญาณดาวเทียมสำหรับติดตั้งบนอากาศยานพลเรือน ไม่นานหลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 2003 บริษัทโบอิง (Boeing) ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของโลก ก็ได้เริ่มทดสอบการให้บริการอินเทอร์เน็ตบนดาวเทียมบนเครื่องบินแบบโบอิง 747 เป็นครั้งแรก โดยที่สายการบินที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้คือสายการบินลุฟท์ฮันซา และบริติช แอร์เวย์

ปัจจุบัน เมื่อดาวเทียมแบบ High-throughput Satellite มีปริมาณมากขึ้น บริษัทเอกชนต่าง ๆ หันมาลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน สายการบินเองก็เร่งพัฒนาการให้บริการของตัวเอง จนราคาการให้บริการอินเทอร์เน็ตบนดาวเทียมมีราคาถูกจนเข้าถึงได้ หรือได้รับอนุญาตให้ใช้งานได้ฟรีในบางสายการบิน

จากการรับส่งสัญญาณเพียงแค่ไม่กี่กิโลไบต์ต่อวินาทีในอดีต ปัจจุบันดาวเทียมที่มีอัตราการรับส่งข้อมูลมากที่สุด สามารถรับส่งข้อมูลสูงสุดถึง 1.3 เทระบิตต่อวินาที (รับส่งข้อมูลได้มากกว่าเดิม 1,000 ล้านเท่า)

ดังนั้นในครั้งหน้าหากมีโอกาสได้ใช้บริการไวไฟบนเครื่องบิน เราก็สามารถมั่นใจได้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวกำลังจะมีราคาถูกลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งก็จะช่วยให้การเดินทางของเราไม่น่าเบื่อ และสามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้อยู่ตลอดเวลา

ที่มาภาพ: Unsplash
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง