ไขคำตอบ งดออกเสียง = ไม่เห็นด้วย จริงหรือไม่ ?

การเมือง
14 ก.ค. 66
11:03
5,916
Logo Thai PBS
ไขคำตอบ งดออกเสียง = ไม่เห็นด้วย จริงหรือไม่ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หลังเสร็จการโหวต "นายกรัฐมนตรี" เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2566 ด้วยคะแนน เห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน ทำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ยังได้รับคะแนนเสียงไม่เพียงพอให้นั่ง "นายกฯ" เนื่องจากเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง แม้จะได้เสียงสนับสนุนจาก 13 ส.ว. แต่ยังมีโอกาสอีก 2 ครั้ง คือวันที่ 19 ก.ค. และ 20 ก.ค.นี้

มติที่ประชุมครั้งนี้มี ส.ส. และ ส.ว. "ไม่เห็นชอบ" และ "งดออกเสียง" จำนวนมาก ทำให้คนที่ติดตามผลการลงมติ "โหวตนายกฯ" ตั้งคำถามว่า การออกเสียงลงคะแนนแต่ละประเภทมีความหมายอย่างไร โดยเฉพาะคำว่า "งดออกเสียง"

เรื่องนี้ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นนี้ด้วยว่า "การงดออกเสียงมีผลทางกฎหมายเท่ากับไม่เห็นชอบนั่นเอง แต่พูดให้สวย ๆ ไปหยั่งงั้น"

งดเว้นการออกเสียง เป็นอย่างไร

ข้อมูลจาก หอสมุดรัฐสภา ให้ความหมายของคำว่า งดเว้นการออกเสียง ว่า การที่สมาชิกสภาไม่ออกเสียง หรือ งดการแสดงความเห็น ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตติหรือข้อปรึกษาที่ต้องมีการลงมติในที่ประชุมสภา เมื่อมีการเสนอญัตติหรือข้อปรึกษาต่อสภาที่ต้องมีการลงมติเพื่อให้สภาตัดสินใจหรือวินิจฉัยแล้ว ประธานในที่ประชุมสภาจะถามมติของที่ประชุม และสมาชิกสภาที่อยู่ในที่ประชุมก็จะออกเสียงลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตตินั้น

แต่ในบางกรณีที่สมาชิกสภาอาจจะยังไม่ตัดสินใจหรือหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น ก็สามารถใช้วิธีการ งดเว้นการออกเสียง ได้ ถือเป็นสิทธิของสมาชิกสภาที่สามารถทำได้ซึ่งไม่ถือว่าขัดข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 แล้วแต่กรณี

หอสมุดรัฐสภา ยังอธิบายการงดเว้นการออกเสียงในการลงมติโดยเปิดเผย ดังนี้

  • การลงมติโดยใช้วิธีการเรียกชื่อสมาชิกสภาเป็นรายบุคคล สมาชิกสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียง ต้องกล่าวคำว่า "งดเว้นการออกเสียงหรืองดออกเสียง" เมื่อเลขาธิการสภาเรียกชื่อตน
  • การลงมติโดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน สมาชิกสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงจะต้องสอดบัตรและกดปุ่มงดเว้นการออกเสียง
  • การลงมติโดยใช้วิธีการยกมือพร้อมแสดงบัตรลงคะแนนซึ่งมีเฉพาะในวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงต้องยกมือพร้อมแสดงบัตรลงคะแนนสีขาว

ส่วนการงดเว้นการออกเสียงในการลงมติเป็นการลับ ทำได้ดังนี้

  • การลงมติโดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน สมาชิกสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงจะต้องสอดบัตรและกดปุ่มงดเว้นการออกเสียง
  • การลงมติโดยใช้บัตรออกเสียงลงคะแนน หากเป็นการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเขียนเครื่องหมายกากบาท (x) ลงในช่องทำเครื่องหมายหน้าคำว่างดเว้นการออกเสียงหรืองดออกเสียง
  • แต่หากเป็นการดำเนินการในวุฒิสภาหรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกรัฐสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงต้องเขียนเครื่องหมายวงกลม (O) บนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้

คะแนนเสียงของสมาชิกสภาที่ งดเว้นการออกเสียง ไม่นำมานับรวมเป็นเสียง เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย จึงไม่มีผลในทางสนับสนุนหรือคัดค้านฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในกรณีที่ใช้เสียงข้างมากธรรมดาในการชี้ขาดญัตติหรือข้อปรึกษานั้น

แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่ต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการชี้ขาด การงดเว้นการออกเสียงก็อาจมีผลเท่ากับเป็นการไม่เห็นด้วยกับญัตตินั้นได้ เช่น ในกรณีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 151 ซึ่งกำหนดให้มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

การงดเว้นการออกเสียง จึงทำให้เกิดผลเท่ากับว่า ไม่เห็นด้วย กับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนั้นนั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับกระแสการเมือง : วันที่ 13 ก.ค.66 สึนามิลูกแรก “พิธา” ยังคว้างกลางทะเล

สภานักศึกษา มช.ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วย ส.ว.เหตุไม่เคารพฉันทามติประชาชน

เปิดรายชื่อ 13 ส.ว. โหวต "เห็นชอบ" พิธานั่งนายกฯ

"พิธา" ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้ ยันเดินหน้าแก้ ม.112

ประชุมสภา: ย้อนฟังวิสัยทัศน์ "พิธา" ก่อนโหวตไม่ผ่าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง