"ปิยบุตร" เปิดเวทีแจง 3 ประเด็นปมแก้ ม.112

การเมือง
14 ก.ค. 66
14:24
1,824
Logo Thai PBS
"ปิยบุตร" เปิดเวทีแจง 3 ประเด็นปมแก้ ม.112
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"รศ.ปิยบุตร" เปิดเวทีนอกสภาฯ แจงยิบ 3 ประเด็น ปมแก้ ม.112 กระทบสถาบันฯ ชี้แค่ข้ออ้างไม่โหวตให้ "พิธา" เป็นนายกฯ

วันนี้ (14 ก.ค.2566) รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ไลฟ์เฟซบุ๊กอภิปรายนอกรัฐสภา ตามที่สมาชิกรัฐสภา นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส. พรรครวมไทยสร้างชาติ และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลังอภิปรายยกเหตุการแก้มาตรา 112 มาเป็นเหตุผลไม่โหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ชี้การโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นคนละเรื่องกับการแก้มาตรา 112 ที่สำคัญเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ใน MOU 8 พรรค และ 151 ส.ส.ก้าวไกล จะดำเนินการในฐานะพรรคการเมืองที่เสนอเอง

รศ.ปิยบุตร กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข แต่การประชุมรัฐสภา วานนี้ (13 ก.ค.) กังวลใจที่สมาชิกรัฐสภานำวิธีคิดระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาอภิปรายอ้างเหตุผล และทำให้สังคมเข้าใจผิด


รศ.ปิยบุตร โต้ 3 ประเด็น คือ การอภิปรายยกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ จะละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.อภิปรายอ้างว่าเป็นผลกระทบจากการแก้มาตรา 112 โดยชี้ว่าองค์พระมหากษัตริย์ เป็นประมุขของรัฐ ไม่ได้หมายถึงเนื้อเดียวกับรัฐ โดยหัวใจหลักเขียนไว้เพื่อยกให้พระมหากษัตริย์มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่มีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยแท้ แต่ให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงไม่ถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง

"ขออย่ามาอภิปราย ชักแม่น้ำทั้ง 5 แต่ละสายออกมาเพื่อชี้นำประชาชนให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ล้มล้างการปกครอง แบบนี้ไม่ถูกต้อง เชื่อว่าพรรคก้าวไกลมีแรงต้านทานที่สูงพอ และรู้ดีว่าจะต้องโดนข้อหาเหล่านี้ไปตลอด แต่ก็ยืนยันว่าไม่ใช่ เขาต้องการดำรงสถาบันให้สอดคล้องกับยุคสมัย แต่มาอภิปรายสถาบันตอนเลือกนายกรัฐมนตรีทำไม"

รศ.ปิยบุตร ย้อนถามนายวรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ที่อ้างเหตุผลการตั้งพรรคเพื่อปกป้องสถาบันฯ แต่โจมตีพรรคก้าวไกลล้มล้างสถาบันฯ สุดท้ายก้าวไกลได้ 14 ล้านเสียง แต่ไทยภักดีได้ไม่กี่แสนเสียง ย้ำการรักษาสถาบันฯ ขอการเมืองอย่าใช้วิธีการเช่นนี้

ส่วนประเด็นเรื่องการลงสัตยาบัน ธรรมนูญกรุงโรม (ICC) ซึ่งอภิปรายว่า นับจนถึงปัจจุบันหลังจากศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดมา 21 ปี ยังไม่มีพระมหากษัตริย์ของประเทศสมาชิกถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

รศ.ปิยบุตร กล่าวว่า หากสมาชิกรัฐสภาจะไม่ชอบนายพิธาและพรรคก้าวไกล ไม่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ขออย่าใช้ประเด็นสถาบันฯ และการแก้มาตรา 112 มาอ้างไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อรักษาสถาบันฯ ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ขอให้การเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย และหากไม่เห็นด้วยจริง ๆ ก็สามารถที่จะไปโหวตคว่ำได้ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง