บริษัทฝรั่งเศสใช้ "ว่าวยักษ์" ลากเรือขนส่งสินค้า ลดการใช้เชื้อเพลิง

Logo Thai PBS
บริษัทฝรั่งเศสใช้ "ว่าวยักษ์" ลากเรือขนส่งสินค้า ลดการใช้เชื้อเพลิง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บริษัทด้านพลังงานของฝรั่งเศสได้แนะนำนวัตกรรมใหม่ เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงและลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมการเดินเรือ ด้วยการติดตั้ง "ว่าวยักษ์ Seawing" กับเรือขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทร

ต่อจากนี้ “ว่าว” จะไม่ได้เป็นแค่เครื่องเล่นชนิดหนึ่งอีกต่อไป เมื่ออุตสาหกรรมการเดินเรือกำลังหันมาสนใจนวัตกรรมใหม่ที่บริษัทพลังงานของฝรั่งเศสตั้งใจจะผลักดันการขนส่งที่ใช้พลังงานลม และสนับสนุนอุตสาหกรรมการเดินเรือให้ใช้พลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการผลิตว่าวขนาดใหญ่ที่มีชื่อ "Seawing" ซึ่งเป็นว่าวขนาด 1,000 ตารางเมตร ที่จะติดตั้งเข้ากับเรือและบินเหนือผิวน้ำ 300 เมตร เพื่อช่วยให้เรือบรรทุกสินค้าลดการใช้เชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงโดยเฉลี่ย 20%

บริษัทมีแผนที่จะเปิดโรงงานเพื่อผลิต "ว่าวยักษ์ Seawing" ในปี 2026 โดยการใช้งานบนเรือบรรทุกสินค้าจะเป็นระบบอัตโนมัติ ใช้งานง่ายและไม่ซับซ้อน เพียงแค่กดปุ่มที่ติดตั้งอยู่บนดาดฟ้าเรือแล้วว่าวขนาดใหญ่ก็จะลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อช่วยสร้างแรงลากจูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรือบรรทุกสินค้าจะไม่ต้องใช้เครื่องยนต์เลย การติดตั้งว่าว Seawing จะช่วยลดการใช้กำลังจากเครื่องยนต์รวมถึงลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงลงด้วยการอาศัยพลังงานลมเข้ามาแทนที่ เพื่อทำให้เรือเคลื่อนที่ได้เช่นเดียวกับเรือใบนั่นเอง

การลดการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" ลง 20% ฟังแล้วอาจดูเหมือนไม่ใช่ปริมาณที่มากนัก แต่รู้หรือไม่ว่าการขนส่งสินค้าจำนวนมหาศาลข้ามมหาสมุทรนั้น สร้างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 3% ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมการบินที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 2% ของทั่วโลกในปี 2021 ดังนั้นการขนส่งทางเรือยังเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และควรค่าแก่การมองหานวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยมลพิษเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและกฎเกณฑ์ด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนระหว่างประเทศที่เริ่มมีออกมา ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้บริษัทขนส่งทางเรือหลายแห่งหันมาสนใจการใช้พลังงานลมมากขึ้น โดยว่าวยักษ์ Seawing ได้รับคำสั่งซื้อจำนวนมากจากบริษัทเดินเรือชื่อดังของญี่ปุ่น และบริษัทผู้ผลิตคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายภายในสิ้นปี 2025 ซึ่งถือเป็นอีกก้าวในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือให้ไปสู่ยุคลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อความยั่งยืนต่อไป

ที่มาข้อมูล: airseas, gizmodo, greekreporter, techspot
ที่มาภาพ: airseas
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง