อาหารทะเลผลิตจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ปลา ปกป้องมหาสมุทร ลดการทำร้ายสัตว์

Logo Thai PBS
อาหารทะเลผลิตจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ปลา ปกป้องมหาสมุทร ลดการทำร้ายสัตว์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สตาร์ตอัปเยอรมันใช้เทคโนโลยีชีวภาพด้านอาหารในการผลิตอาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ โดยมีเป้าหมายจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ครั้งแรกที่สิงคโปร์ ในปี 2024

บริษัทสตาร์ตอัปด้านอาหารจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ได้รับเงินระดมทุนจำนวน 16 ล้านยูโร หรือประมาณ 17.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนางานด้านเทคโนโลยี ซึ่งในขณะนี้บริษัทวางแผนที่จะขออนุมัติด้านกฎระเบียบสำหรับอาหารที่ทำขึ้นจากห้องทดลอง ทำให้อาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ปลาพร้อมใกล้เสิร์ฟให้กับผู้บริโภคในเร็ว ๆ นี้

วัตถุประสงค์ของการทำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ปลา คือ กระบวนการปกป้องมหาสมุทร ป้องกันการทำร้ายสัตว์ และช่วยรับประกันคุณภาพอาหาร ทั้งนี้บริษัทยังให้เหตุผลเพิ่มเติมอีกว่าเป็นการประหยัดพลังงาน อีกทั้งเซลล์ปลาสามารถเติบโตได้ดีทั้งในอุณหภูมิห้อง และในถังปฏิกรณ์ชีวภาพ

อาหารทะเลลำดับแรกที่มาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ปลา คือ ลูกชิ้นปลา และฟิชฟิงเกอร์ โดยคาดว่าจะเริ่มต้นเข้าวางตลาดเป็นครั้งแรกในประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากมีการอนุญาตให้ขายไก่ที่เพาะเลี้ยงเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา จึงคาดว่าอาหารทะเลของบริษัทจะได้รับอนุมัติภายในปี 2024

ในสหรัฐอเมริกา เนื้อสัตว์และปลาที่เพาะเลี้ยงกำลังจะเปิดตัวสู่ตลาดเช่นกัน หลังจากล่าสุดกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ได้อนุมัติให้บริษัทสตาร์ตอัปที่ผลิตเนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเซลล์ เช่น บริษัท GOOD Meat และบริษัท UPSIDE Foods สามารถวางขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างเป็นทางการ

เป้าหมายของบริษัทในฐานะผู้บุกเบิกความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีเซลล์กับอาหาร คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาที่ดีต่อสุขภาพ ยั่งยืน และมีรสชาติที่ดี โดยผลิตอาหารจากการเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อไม่ให้เป็นการทรมานสัตว์ด้วยวิธีที่ประหยัดต้นทุน ซึ่งวิธีการนี้มีส่วนช่วยอย่างมากในการปกป้องสภาพภูมิอากาศ และสายพันธุ์ปลา

ที่มาข้อมูล: bluu, thenextweb, technode, businesstimes
ที่มาภาพ: bluu
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง