เอกภพอาจมีอายุมากถึง 26.7 พันล้านปี 2 เท่าจากเดิมที่คาดการณ์ไว้

Logo Thai PBS
เอกภพอาจมีอายุมากถึง 26.7 พันล้านปี 2 เท่าจากเดิมที่คาดการณ์ไว้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
งานวิจัยใหม่เผย เอกภพอาจมีอายุยาวนานกว่าที่เราคาดการณ์ไว้มากถึง 2 เท่า ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติความเข้าใจด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของมนุษยชาติ

 เดิมทีแล้ว นักดาราศาสตร์คาดว่าเอกภพน่าจะมีอายุประมาณ 13.7 พันล้านปี ซึ่งตัวเลขนี้มาจากการวัดอัตราการขยายตัวของเอกภพ เพื่อหาว่าเวลาผ่านไปเท่าใดแล้วหลังจากเกิดเหตุการณ์บิ๊กแบง ตัวเลขล่าสุดที่คาดว่าน่าจะใกล้เคียงอายุของเอกภพมากที่สุดคือ 13.797 พันล้านปี

อย่างไรก็ตาม มีดาวฤกษ์หลายดวงที่นักดาราศาสตร์พบว่า มันน่าจะมีอายุมากกว่าอายุของเอกภพที่เราคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ด้วยการมาถึงของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ นักดาราศาสตร์พบกาแล็กซีจำนวนหนึ่งที่เกิดขึ้นเพียง 300 ล้านปีหลังเหตุการณ์บิ๊กแบง แต่กลับมีพัฒนาการของโครงสร้างกาแล็กซีเทียบเท่ากับกาแล็กซีที่มีอายุมากกว่า 1,000 ล้านปี นอกจากนี้กาแล็กซีเหล่านี้ยังมีขนาดเล็กมากอีกด้วย

ด้วยความที่ทฤษฎีที่ใช้ในการคำนวณอายุของของเอกภพในปัจจุบันที่เรียกว่า “แลมบ์ดา-ซีดีเอ็ม” (Lambda-CDM) นั้นอาจจะยังมีข้อบกพร่องอยู่ จึงมีนักวิทยาศาสตร์เสนอแนวคิดใหม่ขึ้นมาที่เรียกว่า “Impossible Early Galaxies” ซึ่งพยายามอธิบายว่าเหตุใดเราจึงพบกาแล็กซีที่มีอายุมากกว่าเอกภพ จึงนำไปสู่การคาดการณ์อายุของเอกภพใหม่ที่ 26.7 พันล้านปี และหากทฤษฎีนี้เป็นจริง ก็หมายความว่ากาแล็กซีต่าง ๆ นั้นก่อตัวขึ้นมาเร็วกว่าที่เราคิดไว้

อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้นี้ยังเป็นเพียงสมมุติฐานหนึ่งที่ยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป ว่ามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกับทฤษฎีแลมบ์ดา-ซีดีเอ็มเดิมที่อาจจะยังมีข้อบกพร่องในตัวของมันเอง จึงยังไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในเอกภพได้นั่นเอง

ที่มาข้อมูล: มหาวิทยาลัยออตตาวา
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง