ผลโหวตข้อบังคับที่ 41 ไม่แคล้วถึงศาล รธน.ชี้ขาด

การเมือง
21 ก.ค. 66
15:36
338
Logo Thai PBS
ผลโหวตข้อบังคับที่ 41 ไม่แคล้วถึงศาล รธน.ชี้ขาด

มติสภา 395 ต่อ 312 เสียง งดออกเสียง 8 และ ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เรื่องโหวตนายกฯ เป็นญัตติ การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ จึงซ้ำไม่ได้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2566

นอกจากสกัดทางเดินสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายพิธาจนอยู่หมัดแล้ว ยังกลายเป็นที่มาของ “ทัวร์ลง” ที่รัฐสภาอย่างไม่ขาดสาย

เพราะ 8 ชั่วโมงที่เสียไป ปล่อยให้ทั้ง 2 ฝ่ายอภิปรายวนไปวนมา ไม่ไปไหน และเนื้อหาสาระยังเป็นการเถียงกันว่า การเสนอชื่อนายพิธาเป็นญัตติหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้อเสนอ หรือเป็นญัตติพิเศษ ต่างจากญัตติทั่วไป

ที่สำคัญ คือความพยายามยกเอาความสำคัญของข้อบังคับที่ 41 การประชุมรัฐสภา ปี 2563 ให้มีความสำคัญเสมือนอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ จนคนในแวดวงกฎหมายต่างเอะใจเหตุใดจึงออกมารูปนี้

แม้ว่าสภาจะเป็นเวทีสำหรับการถกเถียงหาทางออกในเรื่องสำคัญๆ แต่การตอบโต้ซ้ำไปซ้ำมา กลับปล่อยให้ดำเนินต่อไป ทั้งที่รู้อยู่ว่า หากปล่อยให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตต้องออกมาอย่างที่เห็น เพราะเสียง สว.กับ สส.ขั้วรัฐบาลเดิมรวมกัน ย่อมเป็นเสียงข้างมาก

ทั้งนำไปสู่จุดเริ่มของคำถามและปัญหามากมายตามมา ตั้งแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ สส.ขั้วรัฐบาลเดิม กับ สว.ล้นหลาม และเหตุการณ์วันที่ 19 ก.ค. ทั้งสาระที่ถกเถียงกัน และมติที่ออกมา ยังสะเทือนไปถึงวงการกฎหมาย นักนิติศาสตร์ กูรู และผู้รู้ด้านกฎหมาย ที่มีปฏิกิริยาและแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับตรรกะดังกล่าว เพราะอาจถึงขั้นเป็นตรรกะวิบัติด้วยซ้ำ

ที่จริงการประชุมสภา เป็นหน้าที่ของประธานที่ต้องดูแลควบคุม ทั้งยังมีอำนาจในมือสามารถใช้ดุลยพินิจได้เลย หากเห็นว่าจำเป็นและสมควร แต่ปล่อยการถกเถียงกันต่อไป ไม่ยอมใช้ดุลยพินิจ กระทั่งโยนให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตตัดสิน จึงตกเป็นเป้าใหญ่ เพราะเป็นต้นตอของปัญหาและความยุ่งยากที่ตามมา

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะประธานรัฐสภา ครั้งนี้อาจอยู่ในสถานะที่ต้องระมัดระวังตัว เพราะพรรคประชาชาติก็อยู่ในกลุ่ม 8 พรรคการเมืองที่เสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ แต่หากใช้ดุลยพินิจในทางบวกกับขั้ว 8 พรรค อาจถูกมองว่าเข้าข้างนายพิธา แต่หากใช้ดุลยพินิจในเชิงลบต่อนายพิธา ก็อาจโดนรุมจวกจากขั้ว 8 พรรคร่วมรัฐบาลได้

นายวัน นอร์ จึงตกเป็นเป้าคนแรกจากนักวิชาการด้านกฎหมาย ตั้งแต่รุ่นใหญ่ รุ่นกลางลงถึงรุ่นเล็ก อาทิ นายอรรถจักร สัตยานุรักษ์ จากคณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ยังขึ้นเขียนจดหมายเปิดผนึกส่งถึงนายวันมูหะมัด นอร์ ระบุชัดว่า ได้ทำสิ่งผิดพลาดมหันต์ ในฐานะประธานสภาฯ เป็นการทำลายคุณค่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วยข้อบังคับการประชุมซึ่งต่ำศักดิ์กว่า

สอดคล้องกับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 58 และเป็นปรมาจารย์ด้านกฎหมาย มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ได้โพสต์เฟซบุ๊คตั้งแต่การประชุมรัฐสภาสิ้นสุดลง ว่า เอาข้อบังคับการประชุมมาทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นง่อย และผิดหวังส.ส.ที่ไปร่วมลงมติห้ามเสนอชื่อซ้ำ

นายบวรศักดิ์ ยังชี้ช่องให้คนที่คิดว่าสิทธิของตนถูกกระทบ สามารถไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ หากผู้ตรวจฯไม่ส่งศาล ก็ไปยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ยังมีกูรู นักกฎหมายอีกหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ และยังห่วงใยว่า จะมีผลต่อการเรียนการสอนของนิสิตนักศึกษาอย่างเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งปมคำถามแบบรัวๆ คือต่อไป จะยังสอนว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้อีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีผู้ขานรับการชี้ช่องของ นายบวรศักดิ์แล้ว คือนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ที่รับบทเสือปืนไว จะทำคำร้องส่งด่วนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติชัดแจ้ง รวมทั้ง น.ส.รสนา โฆษิตตระกูล อดีต สว.กรุงเทพฯ ที่โพสต์ข้อความสนับสนุน

จึงมีโอกาสเป็นหนังเรื่องยาว และต้องลุ้นติดตาม เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย และมีมติออกมาอย่างไร จะมีผลผูกพันกับทุกองค์กร

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง