ปิดตำนาน เทวดาเพลง "ครูชลธี ธารทอง"

Logo Thai PBS
ปิดตำนาน เทวดาเพลง "ครูชลธี ธารทอง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม่ดอกบัวที่อยู่ในสระ จะบานคอยพระ หรือบานคอยเณร
ถ้าบานคอยพี่ ไว้พรุ่งนี้ตอนเพล คอยได้ไหมคนดี

บทเพลงเทพธิดาผ้าซิ่น ที่ขับร้องโดย เสรี รุ่งสว่าง โดยมี ครูชลธี ธารทอง ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้รจนาคำประพันธ์

"ครูชล" ของลูกศิษย์ หรือ "ชลธี ธารทอง" ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะ การแสดง ประจำปี 2542 และได้รับฉายา "เทวดาเพลง" ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังหาคนเทียบได้ยาก

ครูชลธี ชื่อจริง "สมนึก ทองมา" เกิดวันที่ 31 ส.ค.2480 เป็นหนุ่มเมืองน้ำเค็ม จ.ชลบุรี เริ่มเรียนชั้น ป.1 ที่โรงเรียนวัดแก้วศิลาราม และชั้น ป.4 ที่โรงเรียนวัดโคกขี้หนอน และระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนประชาสงเคราะห์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี จากนั้นก็ได้ย้ายมาอยู่กับญาติที่ราชบุรี ปัจจุบันพักอาศัยอยู่ที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

ชีวิตในวัยเด็กของครูชลธี ไม่ได้สุขสบายมากนัก บิดามีอาชีพรับจ้างทั่วไป ตอนคลอดครูชลธี แม่เจ็บท้องขณะกำลังเกี่ยวข้าว และตกเลือดเสียชีวิต ในขณะที่ครูชลธีมีอายุแค่เพียง 6 เดือน แม้ชีวิตจะลำบาก แต่เป็นคนหนักเอาเบาสู้ ทั้งทำนา ทำไร่ ขุดดิน เผาถ่าน ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง

ด้วยความชอบและรักในเสียงเพลงลูกทุ่งตั้งแต่วัยเด็ก จึงสมัครเป็นนักร้องเพลงเชียร์รำวงของวงดาวทอง ในยุคที่วงดนตรีสุรพล สมบัติเจริญ โด่งดังสุดขีด ครูชลธี หรือ "สมนึก" ในขณะนั้น สมัครเข้าเป็นนักร้องในวงดนตรีสุรพล มีโอกาสขึ้นเวทีร้องเพลง แต่เนื่องจากไม่มีที่พักในกรุงเทพฯ จึงต้องเดินทางไปกลับราชบุรี และด้วยความไม่ชำนาญเส้นทางในกรุงเทพ จึงมาเข้าวงสายตลอดและถูกไล่ออกจากวงดนตรีในที่สุด

เส้นทางชีวิตหลังหนีไม่พ้นเสียงเพลง เข้ามาอยู่ในวงลิเก และวงการพากย์หนัง ก่อนจะลาไปอุปสมบท หลังจากสึกออกมา ไปสมัครเป็นหางเครื่องอยู่กับวงดนเตรี "เทียนชัย สมญาประเสริฐ" ซึ่งเป็นวงของสามี นักร้องดัง "ผ่องศรี วรนุช" อยู่ได้ไม่นานนัก ครูชลธี จึงลาออกจากวงดนตรีดังกล่าว เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าขโมยทองของนักร้องในวง ระหว่างที่รถของคณะเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ

ต่อมาครูชลธี ได้ไปสมัครประกวดร้องเพลงที่จัดโดยวงรวมดาวกระจาย ของ ครูสำเนียง ม่วงทอง โดยใช้เพลงที่แต่งขึ้นเองและได้ชัยชนะ ครูสำเนียงรับให้มาอยู่ร่วมคณะ แต่ไม่ได้ขึ้นร้องหน้าเวทีเพราะนักร้องเต็ม โดยครูสำเนียงเป็นคนตั้งชื่อให้ว่า "ชลธี ธารทอง" เนื่องจากเห็นว่าเป็นคนจังหวัดชลบุรี

อยู่กับครูสำเนียงมาปีครึ่ง ครูชลธี จึงได้ขึ้นร้องเพลง และได้อัดแผ่นเสียงรวม 4 เพลง แต่ไม่เพลงไม่ดัง ระหว่างนั้นจึงใช้เวลาว่างศึกษาวิชาแต่งเพลงจากครูสำเนียง และนำความรู้ความสามารถในการเขียนโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มาใช้ในการแต่งเพลง

ในขณะที่อยู่วงรวมดาว ครูชลธี อกหักเพราะไปหลงรักสาวในวง แต่สาวไม่เล่นด้วยจึงอกหักและแต่งเพลงร้องแก้กลุ้ม ชื่อเพลง "พอหรือยัง" บังเอิญนักร้องในวงได้ยินและชอบจึงมาขอไปร้องบนเวที ภายหลังนักร้องคนดังกล่าวโดนไล่ออก และไปอยู่กับวงดนตรี ศรคีรี ศรีประจวบ เมื่อศรคีรีได้ยินเพลงนี้จึงถามว่าใครแต่ง นักร้องคนนั้นได้บอกว่าเขาแต่งเอง ศรคีรีจึงขอเอามาอัดแผ่น เสียงโดยใช้ชื่อคนแต่งว่า ศรคีรี อย่างไรก็ตามเมื่อ ชลธี ธารทอง ออกมา ทักท้วง ศรคีรี ได้ออกมาอธิบายจนเป็นที่เข้าใจกันทุกฝ่าย

ชะตาชีวิตพลิกผัน ครูชลธี เมื่อครั้งอยู่วงดาวกระจาย แม้จะมีโอกาสบันทึกแผ่นเสียงถึง 4 เพลง แต่แล้วก็ต้องออกจากวงรวมดาว เมื่อถูกกล่าวหาว่าดังแล้วแยกวง จากนั้นก็มีนายทุนออกเงินตั้งวงให้ ชื่อวงดนตรีสุรพัฒน์ แต่ไม่ได้รับความนิยมและต้องปิดตัวลง

ช่วงเวลานั้น เพลงของครูชลธีขายไม่ออก เพราะไม่มีใครรู้จักชื่อเสียง เป็นจังหวะเดียวกับ ศรคีรี ศรีประจวบ มาขอให้ช่วยแต่งเพลงให้ แต่เมื่อแต่งเพลงเสร็จ ศรคีรี ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเสียก่อน ครูชลธี จึงตัดสินใจหันหลังให้วงการเพลง และอพยพครอบครัวไปช่วยพ่อตาแม่ยาย ทำไร่ข้าวโพดที่แก่งเสือเต้น

แต่ก่อนจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ครูชลธี บังเอิญไปพบกับเด็กล้างรถที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวบุคคโล ซึ่งมีน้ำเสียงถูกใจ จึงตัดสินใจมอบเพลงที่แต่งไว้ให้ ศรคีรี กับเด็กคนนั้นไป 2 เพลงโดยไม่คิดเงิน

เด็กคนนั้นก็คือ สายัณห์ สัญญา ที่โด่งดังจากเพลง ลูกสาวผู้การ และ แหม่มปลาร้า

เมื่อเพลงที่ "สายัณห์ สัญญา" ขับร้องโด่งดัง "มนต์ เมืองเหนือ" จึงเรียกตัวครูชลธี กลับกรุงเทพฯ มาแต่งให้ เสกศักดิ์ ภู่กันทอง ร้องในบทเพลง "ทหารอากาศขาดรัก" และผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นเพลง จำปาลืมต้น, นักเพลงคนจน, กินอะไรถึงสวย, นางฟ้ายังอาย, น้ำตาอีสาน, ล้นเกล้าเผ่าไทย, พบรักปากน้ำโพ, จดหมายจากแนวหน้า, ล่องเรือหารัก, คนกล่อมโลก, เทพธิดาผ้าซิ่น, เรียกพี่ได้ไหม, มือถือไมค์, ไฟส่องหน้า

และในปี 2559 แต่งเพลง ฟ้าร้องไห้ แสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สำหรับการประพันธ์เพลงของ ครูชลธี มีจุดเด่นในการเลือกสรรถ้อยคำในลักษณะของกวีนิพนธ์มาใช้ในการแต่งเพลง เนื้อหามีสาระส่งเสริมคุณค่าวิถีชีวิตไทย ท่วงทำนองเพลงมีความไพเราะตรึงใจผู้ฟัง บทเพลงมีความดีเด่นในศิลปะการประพันธ์ที่ใช้ฉันทลักษณ์หลายรูปแบบ

นอกจากนี้ยังเป็นนักแต่งเพลงที่แต่งทั้งคำร้องและทำนองเพลงเอง ผลงานเพลงล้วนแต่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักฟังเพลง ครูชลธี ยังสร้างนักร้องลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น สายัณห์ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ, เสกศักดิ์ ภู่กันทอง, วิไล พนม, สดใส รุ่งโพธิ์ทอง, เสรีย์ รุ่งสว่าง, เอกพจน์ วงศ์นาค, บุษบา อธิษฐาน, สุนารี ราชสีมา และ ดำรง วงศ์ทอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สิ้น เทวดาเพลง "ครูชลธี ธารทอง" วัย 85 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง