"อี้-แทนคุณ" ยื่นสอบ "พิธา" ปมเด็ก 10 ขวบขึ้นเวทีหน้าห้างใหญ่

การเมือง
25 ก.ค. 66
13:19
1,092
Logo Thai PBS
"อี้-แทนคุณ" ยื่นสอบ "พิธา" ปมเด็ก 10 ขวบขึ้นเวทีหน้าห้างใหญ่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อี้ แทนคุณ ยื่น "ปธ.สภาฯ" สอบจริยธรรม "พิธา" ชักใยเด็ก 10ขวบขึ้นเวทีโยงการเมือง-สร้างเกลียดชัง พ่วงสอบ "สส.พรรคส้ม" ทำร้ายร่างกายเพื่อนสาวคนสนิท

วันนี้ (25 ก.ค.2566) นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต ส.ส.กทม. และ รักษาการประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างประเทศ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ คณะทำงานประธานสภา

เพื่อขอให้ตรวจสอบพฤติการณ์การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีการปล่อยปละละเลยและสนับสนุนให้เด็กอายุ 10 ปี ขึ้นเวทีการเมืองและกล่าวคำพูดลักษณะสร้างความเกลียดชัง และกรณีของนายสิริน สงวนสิน ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ทำร้ายสตรี

โดยนายแทนคุณกล่าวว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ก.ค. พรรคก้าวไกล ได้จัดงานเพื่อขอบคุณประชาชนและฟังเสียงทุกคนก่อนโหวตนายก โดยมีประชาชนร่วมรับฟังจำนวนมาก ณ ลานหน้าห้างเซ็นทรัลเวิร์ล โดยมีการนำเด็ก 10 ปี 2 คนขึ้นเวที และนายพิธาได้กล่าวคำพูดในลักษณะยุยงให้เกิดความเกลียดชัง เช่น ตอนหนึ่งระบุว่า

  • อยากให้พิธาเป็นนายกฯ
  • อยากให้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ชื่อว่าพิธา
  • อยากให้จัดการกับระบบปรสิต ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับพรรคก้าวไกลและขบวนการปลุกปั่นทางสังคมได้สื่อสารมาอย่างต่อเนื่อง

ถือเป็นการสนับสนุนให้เด็กนำเสนอแนวคิดทางการเมืองเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองต่อเด็ก เนื่องจากเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ

นายแทนคุณ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นขอเรียกร้องให้ตรวจสอบจริยธรรมอย่างร้ายแรงของนายสิริน ที่มีข่าวทำร้ายร่างกายแฟนสาว ทั้งต่อยที่ใบหน้า และดึงศีรษะให้ลงจากรถ จนสตรีผู้นั้นได้รับบาดเจ็บตามที่เป็นข่าวไปแล้ว

ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดกับจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำให้ภาพลักษณ์ของสมาชิกผู้แทนราษฎรเสื่อมเสีย จึงไม่อยากให้ประธานสภาฯ ปล่อยปะละเลย ผู้กระทำการละเมิดทั้ง 2 กรณีที่เป็นเยี่ยงอย่าง ที่ไม่ดีต่อเด็ก เยาวชน และคนทั่วไป อยากให้ประธานสภาฯ ตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริง ว่ามีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม หรือประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ.2564 หรือขัดกับกฎหมายระเบียบข้อบังคับอื่นใดหรือไม่ เพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง