ตำรวจไซเบอร์ ยึดทรัพย์ "ราชาคริปโต" 300 ล้านบาท

อาชญากรรม
26 ก.ค. 66
14:55
1,565
Logo Thai PBS
ตำรวจไซเบอร์ ยึดทรัพย์ "ราชาคริปโต" 300 ล้านบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจไซเบอร์ เปิดปฏิบัติการล่าขุมทรัพย์ ค้น 2 จุด ยึดทรัพย์ "ราชาคริปโต" กว่า 300 ล้านบาท ทั้งบ้านหรู รถยนต์ โฉนดที่ดินอาคารชุด

วันนี้ (26 ก.ค.2566) ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ เปิดปฏิบัติการล่าขุมทรัพย์ ราชาคริปโต รอบ 3 โดยบุกตรวจค้นและยึดทรัพย์ได้อีกกว่า 300 ล้านบาท พบหลักฐานทางคดีที่เป็นเครื่องแบบคล้ายทหารและเครื่องหมายของสมาคมกำลังสำรองรักษาดินแดนไทยในห้องพัก คาดว่าเอาไว้ใช้หลอกเครือข่ายเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

จุดที่ 1 บ้านพักซอยกาญจนาภิเษก 12 แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท

จุดที่ 2 บ้านพักภายในหมู่บ้านหรูย่านพระราม 9-ศรีนครินทร์ แขวงทับช้าง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ มูลค่า 45 ล้านบาท จากการสอบถามได้ข้อมูลว่า บ้านหลังดังกล่าวมีผู้ซื้อจากโครงการเมื่อประมาณเดือน พ.ย.-ธ.ค.65 ใช้ชื่อนิติบุคคลเป็นผู้ซื้อจากโครงการ เเต่ยังไม่มีผู้มาพักอาศัยแต่อย่างใด

จากการตรวจค้นพบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องการหลอกลงทุนข้ามชาติจำนวนหนึ่งในห้องพัก และชุดลักษณะคล้ายเครื่องแบบทหาร ประดับเครื่องหมาย ผู้กำกับสำรองตรี ระบุชื่อ สมปอง ซู และรูปถ่ายวันประดับเครื่องหมาย ผู้สำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตรรักษาดินแดนรุ่นที่ 34 พร้อมเกียรติบัตรของสังกัดสมาคมกำลังสำรองรักษาดินแดนไทย รวมทั้งหนังสือเดินทางระบุชื่อนายซูเผิงเฟย สัญชาติจีน หรือนายสมปอง ซู

นอกจากนี้ ได้ยึดรถยนต์โตโยต้าอัลพาร์ดสีขาว, รถยนต์โตโยต้า รีโว่ สีดำ, โฉนดที่ดินอาคารชุดจำนวน 8 ห้องชุด, โฉนดที่ดิน 2 ฉบับ ตู้เชฟ 1 ตู้ รวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท

พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รองผู้บัญชาการ สอท. เปิดเผยว่า การตรวจค้นครั้งนี้เป็นการขยายผลจากปฏิบัติการทรูโนวัน ล่าข้ามโลกราชาคริปโตฯ ซึ่งจับนายเซาเซียน ซู, นางคี ยิ ยี และนายคำเฮง จุลมนตรี ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฟอกเงิน หลังจากหลอกผู้เสียหายในหลายประเทศให้ลงทุนในแพลตฟอร์มปลอมสําหรับเทรดเงินสกุลดิจิทัล หลังจากนั้นนำเงินมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และซื้อทรัพย์สินในประเทศไทยหลายรายการ

สำหรับคดีหลอกลงทุนไฮบริดสแกม ผู้ก่อเหตุใช้โปรไฟล์ปลอมตีสนิทผู้เสียหายผ่านช่องทางสื่อโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ก่อนจะชวนลงทุนในแพลตฟอร์มปลอมสำหรับเทรดเงินสกุลดิจิทัลหรือสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยมีผู้เสียหายมากกว่า 20,000 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง