นักวิจัยใช้ "สาหร่ายขนนกทะเลสีแดง" ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนในมูลวัว

Logo Thai PBS
นักวิจัยใช้ "สาหร่ายขนนกทะเลสีแดง" ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนในมูลวัว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยในสวีเดนค้นพบว่าการเติมสาหร่ายขนนกทะเลสีแดงลงในมูลวัวสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากก๊าซมีเทนในมูลวัวได้เกือบ 50% ซึ่งถือเป็นความหวังใหม่ในการทำฟาร์มปศุสัตว์อย่างยั่งยืน

"มีเทน" เป็น "ก๊าซเรือนกระจก" อันดับ 2 รองจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลให้เกิด "ภาวะโลกร้อน" ได้มากที่สุด และประมาณ 1 ใน 3 ของก๊าซมีเทนที่เกิดจากมนุษย์นั้นถูกปล่อยออกมาจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น วัว แกะ หรือแพะ ก๊าซมีเทนจากสัตว์เหล่านี้จะถูกปล่อยผ่านการเรอและการสลายตัวของมูลสัตว์

ขณะนี้นักวิจัยในสวีเดนได้ทำการวิจัยผสมสาหร่ายขนนกทะเลสีแดงลงในมูลของวัว ซึ่งเป็นสาหร่ายชนิดหนึ่งที่มีการกระจายพันธุ์ทั่วโลกในเขตร้อนถึงน้ำอุ่น โดยสารประกอบหลักในสาหร่ายคือโบรโมฟอร์ม (Bromoform) สารชนิดนี้มีความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการสลายตัวของมูลสัตว์ โดยการปิดกั้นกระบวนการที่ก๊าซถูกสร้างขึ้น ซึ่งเป็นสารยับยั้งก๊าซมีเทนตามธรรมชาติที่ได้ผลดีที่สุด ปัจจุบันผลการวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่าการเติมสาหร่ายขนนกทะเลสีแดงในอุจจาระของวัวช่วยลดการผลิตก๊าซมีเทนจากมูลวัวได้อย่างมีนัยสำคัญถึง 44% เมื่อเทียบกับมูลวัวที่ไม่มีการเติมสาหร่ายขนนกทะเลสีแดง

ก่อนหน้านี้มีการศึกษามากมายที่ใช้สาหร่ายขนนกทะเลสีแดงผสมในอาหารวัวเพื่อลดการผลิตก๊าซมีเทนในลำไส้แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก อีกทั้งการทดลองยังส่งผลข้างเคียงไปถึงระดับไอโอดีนที่เพิ่มขึ้นในนมวัว เนื่องจากสาหร่ายชนิดนี้มีไอโอดีนในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบไปสู่สุขภาพของมนุษย์ที่บริโภคนมด้วย เพราะถึงแม้ไอโอดีนจะเป็นสารอาหารที่จำเป็นแต่อาจเป็นพิษได้หากได้รับในปริมาณสูงเกินไป

แม้ว่าผลลัพธ์ในการทดลองระหว่างสาหร่ายขนนกทะเลสีแดงกับมูลวัวจะเป็นที่น่าพอใจ แต่นักวิจัยก็ชี้ว่าพวกเขาได้ทำการศึกษาแบบนำร่องโดยใช้มูลจากวัวเพียง 4 ตัวเท่านั้น สำหรับการศึกษาค้นคว้าในอนาคตจะต้องเพิ่มจำนวนวัวในการทดลองเก็บมูลสัตว์ และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบปฏิสัมพันธ์ระหว่างสารประกอบของสาหร่ายกับมูลวัวแต่ละสายพันธุ์

แม้ว่านี่จะเป็นการศึกษาเล็ก ๆ แต่นักวิจัยก็หวังว่าจะเป็นการปูทางให้ทีมวิจัยอื่น ๆ หันมาศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการหยุดการผลิตก๊าซมีเทนในมูลสัตว์เพื่อการทำฟาร์มปศุสัตว์อย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มาข้อมูล: newatlas, globalseafood, technologynetworks, theguardian
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง