"อมยิ้ม" เก็บตัวอย่างน้ำลาย ช่วยวินิจฉัยโรคทางเดินหายใจ แทนวิธีกวาดคอ

Logo Thai PBS
"อมยิ้ม" เก็บตัวอย่างน้ำลาย ช่วยวินิจฉัยโรคทางเดินหายใจ แทนวิธีกวาดคอ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อุปกรณ์เก็บตัวอย่างน้ำลายแบบใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอมยิ้ม ช่วยให้การเก็บน้ำลายเพื่อวินิจฉัยโรคเป็นเรื่องง่ายขึ้น แทนวิธีการกวาดคอแบบเดิม ๆ

การเก็บน้ำลายเพื่อการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ทางการแพทย์ มักใช้วิธีการกวาดคอ ซึ่งหากใครเคยได้ทำก็คงจะรู้ว่าเป็นความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย และคงไม่อยากทำบ่อย ๆ แน่ แต่การเก็บน้ำลายเพื่อวินิจฉัยโรคก็ยังมีอีกหลายวิธี เช่น ชุดตรวจโควิด-19 แบบน้ำลาย ผู้ตรวจต้องบ้วนน้ำลายลงในอุปกรณ์ แต่วิธีการเช่นนี้ก็ยังไม่ใช่วิธีการที่น่าพึงพอใจ หรือชวนให้ทำได้บ่อย ๆ อุปกรณ์การเก็บตัวอย่างน้ำลายจึงถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบของอมยิ้มเก็บตัวอย่างน้ำลาย

"อมยิ้มเก็บตัวอย่างน้ำลาย" มีลักษณะคล้ายช้อนที่มีร่องเกลียว รสชาติเหมือนอมยิ้มโดยได้รับความหวานจากสารทดแทนน้ำตาลจากบีทรูทที่เรียกว่า “ไอโซมอลต์” (Isomalt) ผู้ใช้อุปกรณ์สามารถใช้งานได้เหมือนอมยิ้มปกติ น้ำลายและแบคทีเรียจะเข้าไปในร่องเกลียวที่ออกแบบมาเพื่อดักจับน้ำลายและแบคทีเรีย โดยสารให้ความหวานไอโซมอลต์จะช่วยให้น้ำลายไหลเข้าไปในร่องได้ง่าย และให้อุปกรณ์ได้รับน้ำลายเพียงพอ

ในการศึกษาครั้งนี้ ทีมงานได้ให้ชุดอุปกรณ์อมยิ้มกับกลุ่มอาสาสมัครผู้ใหญ่ 28 คน พร้อมกับใช้ชุดเก็บตัวอย่างน้ำลายแบบดั้งเดิม อาสาสมัครจะต้องใช้อุปกรณ์ กรอกแบบสอบถาม และส่งตัวอย่างไปที่ห้องปฏิบัติการ จากนั้นนักวิจัยได้ทำการวัดระดับแบคทีเรีย 2 ชนิด ได้แก่ แบคทีเรีย Streptococcus mutans และ Staphylococcus aureus ซึ่งพบว่า อมยิ้มและชุดเก็บตัวอย่างน้ำลายแบบดั้งเดิมแสดงผลลัพธ์ที่เหมือนกัน

อาสาสมัครที่เข้าร่วมทดสอบการใช้อมยิ้มเก็บน้ำลายเพื่อช่วยวินิจฉัยโรคทางเดินหายใจ ได้ให้คะแนนอมยิ้มว่าเป็นวิธีการเก็บน้ำลายที่ชื่นชอบมากที่ชุด เนื่องจากเป็นตัวเลือกที่สะอาดที่สุด และน่าขยะแขยงน้อยที่สุด อีกทั้งยังพบว่าแม้เก็บอุปกรณ์ไว้นาน 1 ปี ก็ยังคงให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำและน่าเชื่อถือได้

ทั้งนี้ "อมยิ้มช่วยเก็บตัวอย่างน้ำลาย" ยังคงอยู่ในช่วงของการศึกษาและพัฒนาเพิ่มเติม แต่ทีมวิจัยเน้นย้ำว่าการคิดค้นอมยิ้มเก็บตัวอย่างน้ำลายนี้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น และเชื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนาวิธีการทดสอบที่เป็นมิตร และสะดวกต่อผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น

ที่มาข้อมูล: newatlas, laboratoryequipment, zmescience, studyfinds
ที่มาภาพ: acs
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง