เฝ้าระวังน้ำป่า อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

ภูมิภาค
3 ส.ค. 66
10:22
993
Logo Thai PBS
เฝ้าระวังน้ำป่า อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปีที่ผ่านมา เกิดน้ำป่าไหลเข้าท่วมพื้นที่ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ถึง 3 ครั้ง สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน และมีทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก ปีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเฝ้าระวังป้องกันอย่างใกล้ชิด

ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลบ้านกลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ต้องคอยตรวจสอบเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลาในช่วงฤดูฝน เพราะจะสามารถแจ้งเตือนได้หากฝนตกหนักจนวิกฤต โดยเฉพาะการอพยพชาวบ้านไปอยู่ในที่ปลอดภัย ป้องกันความสูญเสีย


นายอุทัย ศิริโรจน์ธรรม ผู้ใหญ่บ้านแม่ปอน หมู่ 15 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ระบุว่า หากได้ยินเสียงเตือน จะแจ้งชาวบ้านให้ไปอยู่ที่โบสถ์ของหมู่บ้าน ซึ่งอยู่พื้นที่สูง เพื่อความปลอดภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนหมู่บ้านด้านล่างให้เฝ้าระวังด้วย

นายก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ระบุว่า ตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีลำน้ำแม่กลาง และลำน้ำแม่ยะ ไหลผ่าน หากเกิดฝนตกหนักบนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ น้ำจะไหลลงมา ทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก

เฉพาะปี 2565 ที่ผ่านมาเกิดน้ำป่าไหลเข้าท่วมถึง 3 ครั้ง และท่วมถนนจนไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ปีนี้เทศบาลตำบลบ้านหลวง จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านเฝ้าระวังป้องกันอย่างอย่างใกล้ โดยเฉพาะเรื่องการเตือนภัย

สำหรับตำบลบ้านหลวง มี 19 หมู่บ้าน และเกือบทั้งหมดถือเป็นหมู่บ้านเสี่ยงภัยน้ำป่าและดินโคลนถล่ม ทุกหมู่บ้านจึงประสานงานและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงฤดูฝน

ด้านนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการให้ผู้ เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังป้องกันน้ำป่าและดินโคลนถล่ม โดยให้อุทยานฯ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และทุกอำเภอ ซักซ้อมผู้นำในพื้นที่ เตรียมรับสถานการณ์ เนื่องจากเชียงใหม่มีหมู่บ้านเสี่ยงภัยน้ำป่าและดินโคลนถล่มมากถึง 600 หมู่บ้าน กระจายใน 25 อำเภอ

นายชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการด้านภัยพิบัติธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์ถึงปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบเรื่องน้ำท่วมทั้งทางตรง-ทางอ้อม ของ จ.เชียงใหม่ ว่า การพัฒนาเมืองส่งผลต่อน้ำท่วม เช่น เมื่อ 100 ปีก่อน ความกว้างแม่น้ำปิงกว้างกว่านี้ 2 เท่า แต่เมื่อมีคนเข้ามา เมืองถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีการวางผังเมืองที่ดี ก็ย่อมส่งผลให้แม่น้ำหรือพื้นที่รับน้ำถูกรุกราน

เมื่อพื้นที่รอบๆ แม่น้ำลดลง แต่ปริมาณน้ำยังเท่าเดิม ความสูงของน้ำในลำน้ำก็ย่อมมากขึ้น ง่ายขึ้นตาม โอกาสน้ำล้นออกจากตลิ่งก็มีมากไปด้วย สิ่งเหล่านี้จะเกิดกับเมืองเก่าๆ ที่สร้างเมืองแบบไม่มีการวางแผนกับเส้นทางน้ำ

สาเหตุอีกข้อคือ “สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว” ที่ทำให้โลกทั้งโลกอากาศแปรปรวน ถ้าฝนตกก็จะตกไม่ยอมหยุด แต่ถ้าปีไหนที่ไม่ตกก็ไม่ตกเลย เหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดห่างจากปี 2554 ถึง 11 ปี แม้จะมีการคาดการณ์จากนักวิชาการด้านภูมิอากาศหลายคนว่า น้ำท่วมใหญ่จะเกิดทุกๆ 10 ปี แต่นายชูโชค มองว่า อาจจะมีโอกาสเกิดถี่ขึ้นก็ได้ในอนาคต ไม่เฉพาะในเชียงใหม่ แต่เกิดกับทุกประเทศในโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง