ภารกิจท้าทาย "สัตวแพทย์ไทย" กู้วิกฤตสัตว์ป่าเสี่ยงสูญพันธุ์

สิ่งแวดล้อม
3 ส.ค. 66
19:24
1,798
Logo Thai PBS
ภารกิจท้าทาย "สัตวแพทย์ไทย" กู้วิกฤตสัตว์ป่าเสี่ยงสูญพันธุ์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
4 ส.ค. วันสัตวแพทย์ไทย พูดคุยกับ น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ หรือหมอต้อม นักวิจัยสัตว์ป่าผู้มีส่วนร่วมในการฟื้นคืนพญาแร้ง ผสมเทียมละมั่งในหลอดแก้วสำเร็จตัวแรกของโลก มอง 3 ทศวรรษ "หมอสัตว์ป่า" เพิ่มขึ้น 5 เท่า แต่ระบบค่าตอบแทนยังไม่สอดคล้องความเสี่ยง

"สัตวแพทย์" บุคลากรที่คอยดูแล รักษา ป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยงแสนรักของหลายคน ทั้งสุนัข แมว กระต่าย หนู นก สัตว์เศรษฐกิจวัว ควาย แพะ แกะ ไก่ ปลา จนถึงสัตว์ป่า เสือ กระทิง เก้ง กวาง

ปีนี้คนไทย และเหล่า FC ได้เห็นภาพการขนย้ายช้าง "พลายศักดิ์สุรินทร์" ทางเครื่องบิน จากประเทศศรีลังกากลับมารักษาในไทย สะท้อนถึงศักยภาพ "หมอไทย" ไม่แพ้ชาติใดในโลก

วันที่ 4 ส.ค.ของทุกปี ตรงกับ "วันสัตวแพทย์ไทย" เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของสัตวแพทย์ โดย พล.ต. ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นพระบิดาของวิชาสัตวแพทย์สมัยใหม่ ทรงก่อตั้งโรงเรียนอัศวแพทย์ทหารบก ซึ่งได้พัฒนา

ต่อมาเป็นโรงเรียนนายสิบสัตวแพทย์ และโรงเรียนนายดาบสัตวแพทย์ทหารบก ถือว่าเป็นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทย และในปี 2478 พัฒนาเป็นแผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ ในสถานศึกษาพลเรือนเป็นครั้งแรก เพื่อผลิตสัตวแพทย์ในระดับปริญญา

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับอีกหนึ่งบุคลากรสำคัญ น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ หรือหมอต้อม นายกสมาคมสัตวแพทย์สัตว์ป่าและสวนสัตว์ ผู้ที่ทำงานคลุกคลีในวงการสัตวแพทย์นับ 30 ปี

"Exotic Pet" เติบโตก้าวกระโดด

หมอต้อม ประเมินแนวโน้มการเติบโตของวงการสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ หรือ Exotic Pet ว่า ค่อนข้างเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีคลินิกเฉพาะดูแลสัตว์กลุ่มนี้ เพราะผู้เลี้ยงให้ความสนใจมาก และค่อนข้างมีศักยภาพในการจ่ายค่าดูแลรักษา เชื่อว่าในอนาคตไทยจะสามารถเพาะสัตว์กลุ่มนี้ เป็นวงการอุตสาหกรรมทั้งในประเทศ และส่งออก เช่น ชูการ์ไกลเดอร์ เต่า นก อีกัวนา

ในขณะที่วงการสัตวแพทย์สัตว์ป่า น้อง ๆ รุ่นใหม่ สนใจเข้ามาเรียนและทำงานเป็นหมอช้าง หมอสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น ปัจจุบันทางสมาคมฯ มีสมาชิก 150-200 คน หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่า จากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่มีสัตวแพทย์ทางด้านนี้ไม่กี่คน เช่น น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ, รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร ซึ่งถือเป็นผู้นำด้านแนวความคิด และยังคงทำงานอยู่ในวงการนี้

"หมอสัตว์ป่า" เฝ้าระวังรอยโรค 

"สุขภาพคนมีหมอ พยาบาล อสม.เป็นล้าน ๆ คนรับมือโรคได้ ระบบปศุสัตว์ก็มีหมอเป็นพันคน แต่ในสัตว์ป่า ถ้าเกิดโรคระบาดในกระทิง ปลาตายในแม่น้ำ ช้างเจ็บป่วย เรายังต้องพัฒนาอีกมาก ทั้งจำนวน คุณภาพ ระบบ เพราะโรคที่เปลี่ยนไปมาจากสัตว์ป่าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชะมด อีเห็น ค้างคาว ติดต่อไปสู่ปศุสัตว์และคน ทั้งเมอร์ส ไวรัสนิปาห์ ลัมปี สกิน และโควิด สิ่งเหล่านี้เราต้องการหมอสัตว์ป่าที่มีความเชี่ยวชาญ รองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"

หมอต้อม เล่าถึงความสำคัญของสัตวแพทย์สัตว์ป่า ที่จะช่วยดูแลเฝ้าระวังโรคระบาดจากสัตว์ป่าสู่ปศุสัตว์ และสู่คนได้  

"หมอไทย" เก่งไม่แพ้นานาชาติ

สัตวแพทย์ไทยมีศักยภาพไม่แพ้นานาชาติ หลายคนเดินทางไปทำงานทั้งสวนสัตว์เอกชน อควาเรียมในต่างประเทศ รวมถึงดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้บริหารในองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทั้งที่โรม หรือสาขาภูมิภาค และ สพ.ญ.ดร.นุชรินทร์ ศงสะเสน คนไทยที่เป็นหัวหน้าทีมสัตวแพทย์สัตว์ป่า

สัตวแพทย์ไทยไปรักษาสัตว์ในสหรัฐอเมริกา สอบใบอนุญาตยากมาก

ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่มีแนวโน้มดีขึ้น ยกตัวอย่างในองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ก็มีสัตวแพทย์ที่ได้รับตำแหน่งถึงระดับรองผู้อำนวยการ 3-4 คน

แม้สัตวแพทย์สัตว์ป่าจะเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขยังถือว่าน้อยอยู่ เพราะไทยมีประเด็นปัญหาสัตว์ป่าที่ต้องแก้ไข ทั้งสัตว์ในธรรมชาติ สัตว์ในสวนสัตว์ และสัตว์เลี้ยง

หมอต้อง บอกว่า สัตวแพทย์รุ่นใหม่หลายคนเรียนจบปริญญาเอกจากต่างประเทศ ทำให้การศึกษาเฉพาะทางเริ่มพัฒนาขึ้น แต่ในวงการสัตวแพทย์ ยังขาดระบบเทียบเคียงค่าตอบแทนคุณวุฒิวิชาชีพระดับสูง ทำให้แรงจูงใจค่าตอบแทนในการทำงานในหน่วยงานองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ, กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ไม่เทียบเท่าเอกชน ทั้งปางช้าง สวนสัตว์

ชงเพิ่มค่าตอบแทนคุณวุฒิ-ความเสี่ยงหมอสัตว์ป่า

หมอต้อม ระบุว่า การทำงานกับสัตว์ป่ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูง มีโอกาสเผชิญหน้าช้างตกมัน กระทิง สัตว์บาดเจ็บ แต่ยังมีปัญหาค่าตอบแทนไม่สอดคล้องความเสี่ยง ทุกวันนี้คนที่ทำงานในวงการจึงอยู่ด้วยอุดมการณ์และใจรัก จึงเสนอว่าควรเพิ่มค่าตอบแทนดังกล่าวด้วย

หมอสัตว์ป่า มีความเสี่ยงสูง เจอสัตว์อันตราย สัตว์บาดเจ็บ ช้างตกมัน แต่ค่าตอบแทนยังไม่สอดคล้องความเสี่ยง คนพวกนี้อยู่ด้วยความหลงใหล ความสุข ความรักในการทำงาน

หมอต้อม อยากเห็นสัตว์แพทย์สัตว์ป่าใน 3 หน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคง และมีระบบที่ดีในการรักษาคนดีคนเก่งให้เป็นกำลังหลักของประเทศ จึงเสนอว่าควรมีระบบค่าตอบแทนที่เหมาะสม โครงสร้างโรงพยาบาล อุปกรณ์ เครื่องมือ ยา ครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และงบประมาณดำเนินการเหมาะสมภารกิจ รวมถึงการต่อยอดงานวิจัย 

หมอต้อม ยกนำตัวอย่างความสำเร็จของการฟื้น "พญาแร้ง", ละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลก และการผสมแพนด้าหลินปิง และการผสมเทียมช้าง ว่าสิ่งเหล่านี้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ แต่ดำเนินการภายในงบประมาณจำกัด โชคดีที่มีภาคมหาวิทยาลัยเข้ามาสนับสนุน จึงอยากให้ทั้งวงการเติบโตไปด้วยกัน เพราะเป็นสุขภาพหนึ่งเดียว สุขภาพคน สุขสัตว์ สุขภาพสิ่งแวดล้อม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดความทรงจำ "หมอบริพัตร" สัตวแพทย์ผู้ดูแล "หลินฮุ่ย" 
หมอล็อต "ผมอยู่เพื่อรักษาสัตว์ป่า ไม่ใช่รักษาภาพลักษณ์" 

สำเร็จ! “พญาแร้ง" คู่แรก กลับบ้าน "ห้วยขาแข้ง" ในรอบ 30 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง