บทบาท 4 ศาลตามรัฐธรรมนูญ 2560 "ผู้ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทในสังคม"

ไลฟ์สไตล์
4 ส.ค. 66
13:49
8,400
Logo Thai PBS
บทบาท 4 ศาลตามรัฐธรรมนูญ 2560 "ผู้ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทในสังคม"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ศาล" ของไทยเริ่มต้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีหลากหลายศาล จนถึงช่วง ร.5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงการศาล ผ่านพระปรีชาสามารถและพระอุตสาหะของ "พระองค์เจ้ารพีฯ" มาถึงปัจจุบันที่รัฐธรรมนูญ 2560 แบ่งศาลไว้ 4 ศาล

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอุตสาหะของ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงช่วยแปลต้นร่างที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษมาเป็นภาษาไทย ทำให้ประเทศไทยมีประมวลกฎหมายของไทยฉบับแรก คือ ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ซึ่งใช้เวลาร่างทั้งสิ้น 11 ปี (ตั้งแต่ปี 2450-2451) และพระองค์เจ้ารพีฯ ยังทรงมีบทบาทสำคัญในประมวลกฎหมายฉบับอื่นๆ อีกมากมาย อีกทั้งทรงมีพระดำริว่า

การที่จะยังราชการศาลยุติธรรมให้เป็นไปด้วยดีนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีผู้รู้กฎหมายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยการเปิดให้มีการสอนกฎหมายขึ้นเป็นที่แพร่หลาย
ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127

ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127

ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127

จึงทรงสถาปนาโรงเรียนสอนกฎหมาย สังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนทั้งหลายมีโอกาสรับการศึกษากฎหมาย รวมถึงยังทรงเป็นกรรมการในคณะกรรมการ "ศาลกรรมการฎีกา" ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของประเทศ ที่ต่อมาได้กลายเป็นศาลฎีกาในปัจจุบัน 

ในสมัยพระองค์เจ้ารพีฯ การปฏิรูปงานศาล เป็นสิ่งจำเป็นต่อสยามประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยอำนาจตุลาการขาดอิสระถูกแทรกแซงโดยอำนาจบริหาร มีการทุจริตการตัดสินคดี เกิดวิกฤตการณ์เรื่องเอกราชทางการศาล ชาวต่างชาติไม่ยอมขึ้นศาลไทย แต่กลับตั้งศาลกงสุลพิจารณาตัดสินคดีคนในชาติของตนเอง 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

เพื่อทำให้การยุติธรรมสามารถทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงพัฒนาระบบงานยุติธรรมทั้งระบบ และมีการจัดทำประมวลกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวมาแล้ว เพื่อให้ศาลสามารถตัดสินคดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและสามารถตัดสินคดีโดยปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายปกครอง

การที่ศาลสามารถตัดสินคดีความได้อย่างอิสระนั้น
ถือได้ว่าเป็นหลักประกันความยุติธรรมในศาลอันเป็นที่พึ่งของประชาชน

พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงเอาพระทัยใส่คุณสมบัติของบุคคลผู้ที่จะมาเป็นผู้พิพากษาเป็นพิเศษ พระองค์ทรงยึดมั่นว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอุดมคติสำคัญยิ่งกว่ากิจส่วนตัวใดๆ ทรงตักเตือนผู้พิพากษาเสมอมาว่า "อย่ากินสินบน"

รู้จักศาลทั้ง 4 ตามรัฐธรรมนูญ 2560

ระบบศาลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 บัญญัติว่า 

อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม

ตามบทบัญญัติดังกล่าวได้แบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ทาง โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล เท่ากับทรงมอบให้ศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจในการวินิจฉัย ชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นคดีมาสู่ศาล ทั้งเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้สำเร็จ ลุล่วงไปตามหลักนิติธรรม โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มี 4 ศาล คือ

  1. ศาลรัฐธรรมนูญ
  2. ศาลปกครอง
  3. ศาลยุติธรรม
  4. ศาลทหาร

ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกหลักสำคัญในการทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญ ว่ากฎหมายใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมิได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และการธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือเรื่องการกระทำ การปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญขึ้น และเป็นคดีเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญโดยนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับกับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร

ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ

ตามมาตรา 200 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา ได้แก่

  1. ผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน 3 คน
  2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน 1 คน
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 1 คน
  5. ผู้ทรงคุณวุฒิ (ตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือรองอัยการสูงสุด) จำนวน 2 คน

ด้วยองค์ประกอบของ องค์คณะศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนนั้น มีเพียง 3 คนที่เป็น "ผู้พิพากษา" ดังนั้นจึงเป็นที่มา ที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่ใช้คำว่า "คำพิพากษา" แต่จะใช้คำว่า "คำวินิจฉัย หรือ คำสั่ง" แทน เพราะผู้ตัดสินมิใช่ผู้พิพากษาทั้งองค์คณะ 

และคำวินิจัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ไม่สามารถใช้หลักจารีตประเพณี หยิบยกเอาคำตัดสินในอดีต หรือคำพิพากษาฎีกาในอดีต เป็นบรรทัดฐานเฉกเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลยุติธรรมได้ เนื่องจาก ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินบนหลักของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่บังคับใช้เท่านั้น

ศาลปกครอง

เป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาตรา 276 และมีการจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มีฐานะเทียบเท่าศาลยุติธรรมและมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษา "คดีปกครอง" เช่น คดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน และ รัฐต่อรัฐ ทั้งนี้เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการปฏิบัติราชการ ศาลปกครองออกเป็น 2 ชั้น คือ

  1. ศาลปกครองสูงสุด 
  2. ศาลปกครองชั้นต้น ในชั้นนี้แบ่งแยกย่อยได้อีก 2 ประเภท คือ
    • ศาลปกครองกลาง มีเขตศาลตลอดท้องที่ของกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น เช่น นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม 
    • ศาลปกครองในภูมิภาค เช่น ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองระยอง 
ศาลปกครอง

ศาลปกครอง

ศาลปกครอง

ศาลยุติธรรม

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 194 บัญญัติว่า ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น โดยที่ศาลปกครองจะตัดสินคดีทั่วๆ ไป ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนมากที่สุด ศาลประเภทนี้เป็นศาลเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และเป็นศาลที่ทุกประเทศทั่วโลกมี ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ไม่ได้มีในทุกประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาที่มีเพียงศาลยุติธรรมเท่านั้น 

ศาลยุติธรรมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

  1. ศาลธรรมดา
  2. ศาลชั้นต้นชำนัญพิเศษมีอยู่ 5 ศาล คือ ศาลแรงงาน, ศาลภาษีอากร, ศาลทรัพย์ทางปัญญาและการค้าระหว่าง
    ประเทศ, ศาลล้มละลาย และ ศาลเยาวชนและครอบครัว
  3. ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแบ่งออกเป็น 5 แผนก คือ แผนกคดีทรัพย์ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ, แผนกคดีภาษีอากร, แผนกคดีแรงงาน, แผนกคดีล้มละลาย และ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว
ศาลยุติธรรม

ศาลยุติธรรม

ศาลยุติธรรม

ศาลยุติธรรมแบ่งออกเป็น 3 ชั้น 

  1. ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลแพ่ง, ศาลแพ่งกรุงเทพใต้, ศาลแพ่งธนบุรี, ศาลอาญา, ศาลอาญากรุงเทพใต้, ศาลอาญาธนบุรี, ศาลจังหวัด, ศาลแขวง และ ศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น, ศาลจังหวัด, ศาลแขวง มีทั้งในกรุงเทพฯ และนอกกรุงเทพฯ สำหรับศาลยุติธรรมอื่น หมายถึง ศาลชำนัญพิเศษ

  2. ศาลอุทธรณ์ ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค มี 9 ภาค และศาลยุติธรรมอื่นที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลนั้น กำหนดให้เป็นศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลยุติธรรมอื่น หมายถึง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

  3. ศาลฎีกา มีอยู่ศาลเดียว

ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ หรือศาลชั้นต้น ออกเป็นแผนกหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกหรือผู้พิพากษาหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น แผนกหรือหน่วยงานละ 1 คน เช่น ในศาลฎีกา มีการตั้งแผนกคดีแรงงาน, แผนกคดีล้มละลาย, และแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว, แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น

ศาลทหาร

ตามมาตรา 199 บัญญัติว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารและคดีอื่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ การจัดตั้ง วิธีพิจารณาคดี และการดำเนินงานของศาลทหาร ตลอดจนการแต่งตั้งและการให้ตุลาการศาลทหารพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

ศาลทหาร

ศาลทหาร

ศาลทหาร

ตั้งแต่ปี 2434 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงเรื่องการศาลทั้งหมด โดยตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น และรวบรวมศาลต่างๆ เข้ามาสังกัดกระทรวงยุติธรรมจนหมดสิ้นทุกศาล ยกเว้นแต่เพียงศาลทหารเพียงศาลเดียวที่ยังคงให้สังกัดกระทรวงกลาโหมอยู่ตามเดิม ศาลทหารมี 2 ประเภท คือ

  1. ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ หมายถึงศาลทหารในเวลาที่มีการรบหรือสงครามหรือมีการประกาศกฎอัยการศึก
  2. ศาลทหารในเวลาปกติ มีการแบ่งศาลทหารออกเป็น 3 ชั้น คือ ศาลทหารชั้นต้น, ศาลทหารกลาง และ ศาลทหารสูงสุด

ที่มา : ระบบศาลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม, สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

อ่าน : 7 สิงหาคม "วันรพี" พระบิดาแห่งกฎหมายไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง