สธ.ชงตั้ง รพ.ดึง “ทันตแพทย์” อยู่ในระบบ หลังพบ เรียนจบ-ลาออกเพียบ

สังคม
5 ส.ค. 66
11:43
742
Logo Thai PBS
สธ.ชงตั้ง รพ.ดึง “ทันตแพทย์” อยู่ในระบบ หลังพบ เรียนจบ-ลาออกเพียบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปลัด สธ.เผยตั้ง รพ.ทันตกรรม พร้อมผลิตบุคลากรรองรับ ทั้งสายงาน ชี้มี 5 ปัจจัยให้คงอยู่ในระบบมากที่สุด หลังพบจบใหม่ปีละ 800 คน แต่อยู่ไม่ถึงครึ่ง เพราะลาออกไปเอกชน ชูค่าตอบแทน ความก้าวหน้า สวัสดิการที่ดี เปิดโอกาสขึ้นซี 9 เทียบเท่าแพทย์

วันนี้ (5 ส.ค.2566) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการผลักดันนโยบาย รพ.ทันตกรรม ที่ต้องมีการจัดหาบุคลากรมารองรับเพิ่มขึ้น ว่า สำหรับเรื่องบุคลากร พบว่าแต่ละปีมีทันตแพทย์เรียนจบ 800 คน แต่มาอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ถึงครึ่ง หรือประมาณ 1 ใน 4 ย่อมไม่เพียงพอ

หากมี รพ.ทันตกรรมขึ้นมาในแต่ละพื้นที่ ก็ต้องมีบุคลากรมารองรับเพิ่มเติม เช่นปัจจุบันมี 6,000 คน เราต้องผลิตอีก 30,000 คน จึงจำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องผลิตทันตแพทย์ขึ้นเอง

กระทรวงสาธารณสุข มีศักยภาพในการผลิตทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตได้ เพราะปัจจุบันเราผลิตแพทย์ได้เองแล้ว ประกอบกับเรามี รพ.จำนวนมากในภูมิภาค จึงเป็นข้อดีที่เราจะสามารถฝึกปฏิบัติได้จริง ดังนั้น เรื่องทักษะ ความชำนาญในการดำเนินการจึงไม่ต้องกังวล

ส่วนเรื่องวิชาการ สามารถฝึกอบรมเพิ่มเติมได้เช่นกัน แต่เราจะไม่เน้นเพียงการบริการดูแลรักษา เราต้องเน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคด้วย

ที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ทันตแพทย์ อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหลายปัจจัย เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า มีทันตแพทย์จบการศึกษาปีละ 800 คน แต่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขเพียง 200 คน ที่เหลือลาออก ส่วนใหญ่ไปอยู่ภาคเอกชน จะทำอย่างไรเพื่อลดปัญหาตรงนี้

นพ.โอกาสกล่าวต่อว่า การรวบรวมข้อมูลพบว่า บุคลากรที่จะอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขมีอยู่ 5 ปัจจัย คือ ค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้า ภาระงาน และเรื่องอื่น ๆ เช่น ครอบครัว ต้องกลับไปดูแลพ่อแม่ ลูกต้องย้ายโรงเรียน เป็นต้น จึงต้องวางปัจจัยให้บุคลากรอยู่ในระบบให้ได้ หลักๆ ดังนี้

1.ค่าตอบแทน การจะมีค่าตอบแทนได้ ต้องมีกิจการที่ตอบสนองกัน เช่น ที่ได้ค่าตอบแทนเพิ่มจะเป็นในกลุ่มนอกเวลา ดังนั้น หากเปิด รพ.นอกเวลา ให้บุคลากรได้มีค่าตอบแทนเพิ่ม และประชาชนยังได้รับบริการอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาตนเคยถามกับเพื่อนๆ ข้าราชการว่า เวลาไปรักษาหรือดูแลสุขภาพช่องปากไปที่ไหน ส่วนใหญ่ตอบไปเอกชน เห็นได้ชัดว่า ข้าราชการเข้าไม่ถึงบริการเหมือนกัน ดังนั้น เราจึงควรเปิด รพ.ทันตกรรมขึ้น และให้บุคลากรได้รับค่าตอบแทนด้วย

2.สวัสดิการ เรื่องบ้านพักส่วนใหญ่ได้รับการดูแลพอสมควร แต่หากบริหารจัดการเอง มีรพ.เฉพาะก็สามารถสร้างบ้านพักให้บุคลากรภายในองค์กรได้ ที่ผ่านมาหลายวิชาชีพ อย่างพยาบาล เคยได้ยินข่าว 1 ห้องพักอยู่กัน 4 คน ตอนนี้ก็ยังมีอยู่ ซึ่งขณะนี้มีการสร้างหอพักเพิ่มแล้ว ประมาณ 4,000 ยูนิต สิ้นปีนี้น่าจะได้ 10,000 ยูนิต และในปี 2567 น่าจะถึง 20,000 ยูนิต

3.ความก้าวหน้า ต้องให้บุคลากรได้มีโอกาสเลื่อนระดับเทียบเท่าแพทย์เป็นอย่างน้อย คือ ระดับซี 9 โดยก่อนเกษียณต้องมีโอกาสเลื่อนระดับได้ทุกคน ซึ่งการจะทำตรงนี้ได้สำเร็จก็จะกลับมาที่ รพ.ทันตกรรม

เมื่อมีรพ. ต้องมีบุคลากรมารองรับภารกิจงานที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้เราสามารถนำข้อมูลไปเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) พิจารณาเรื่องความก้าวหน้าได้

หากเรามีข้อมูลข้อเท็จจริงก็จะเหมือนกรณีพยาบาล ที่เพิ่งได้รับความก้าวหน้าเลื่อนระดับชำนาญการพิเศษ หรือ ซี 8 กว่า 1 หมื่นตำแหน่ง ที่มีการนำเสนอข้อมูลภาระงาน ความจำเป็นตามเหตุผลที่เกิดขึ้นจริง จน ก.พ. พิจารณาเห็นชอบ

4.ภาระงาน ปัจจุบันทันตแพทย์มีจำนวนน้อย ก็ต้องมีการผลิตเพิ่ม แต่เมื่อเพิ่มแล้วก็ต้องจัดบริการทันตกรรมมากขึ้น และครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งก็กลับมาที่ รพ.ทันตกรรม ที่จะแก้ไขและตอบโจทย์ตรงนี้ และ 5.เรื่องอื่น ๆ โดยต้องให้ความสำคัญทั้งหมด

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การมี รพ.ทันตกรรม จะช่วยเรื่องความก้าวหน้าให้กับวิชาชีพ และสายงานต่าง ๆ ด้านทันตกรรมทั้งหมด ที่สำคัญบุคลากรยังมีโอกาสเติบโตเข้าสู่สายงานบริหารได้

ล่าสุดสำนักงานเขตสุขภาพ เสนอว่า น่าจะมีทันตแพทย์สำนักงานเขตสุขภาพ หรือ Chief Dental Officer (CDO) ตนได้มอบหมายให้ ผู้ตรวจราชการฯ รับเรื่องนี้ไปดำเนินการต่อไป รวมถึง รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป หากยังไม่มี รพ.ทันตกรรม ให้พัฒนาเป็นศูนย์ทันตกรรม และตั้งเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายทันตกรรม หรือเป็น ผอ.ศูนย์ทันตกรรม พิจารณาตามความเหมาะสม โดยเราต้องการเปิดโอกาสให้ทันตแพทย์ เป็นผู้บริหารจัดการเอง ส่วนกระทรวงฯ จะดูภาพรวม ดูเป้าหมายเป็นสำคัญ

“รพ.ทันตกรรม ยังไม่จำเป็นต้องสร้างตึกใหม่ จัดทำชั้นใดชั้นหนึ่งทำก็ได้ พื้นที่ที่ว่างสามารถทำได้ หรือจะใช้โมบายยูนิตทำก่อน และในอนาคตหากดำเนินการแล้วผลดีเกิดขึ้นมาก ก็สามารถขยายไปสู่การมีกอง เป็นกรมทันตกรรมก็ว่ากันไป ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของสถานการณ์” ปลัดสธ.กล่าว

อ่านข่าวอื่นๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง