พบปูน้ำจืดพันธุ์ใหม่สายพันธุ์ Thaiphusa ในสวนยาง จ.กาญจนบุรี

สิ่งแวดล้อม
10 ส.ค. 66
13:58
1,569
Logo Thai PBS
พบปูน้ำจืดพันธุ์ใหม่สายพันธุ์ Thaiphusa ในสวนยาง จ.กาญจนบุรี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ข่าวดี! ประมงกาญจนบุรี ยืนยันผลการตรวจสอบปู 4 ตัวที่พบในสวนยาง บ้านขนุนคลี่ ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นปูนำจืดสกุล Thaiphusa รอการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ

วันนี้ (10 ส.ค.2566) เพจเฟซบุ๊ก ททท.สำนักงานกาญจนบุรี : TAT Kanchanaburi Office รายงานว่า ข่าวดีของชาวกาญจนบุรี ค้นพบปูน้ำจืดพันธุ์ใหม่ของโลก ที่ อ.ทองผาภูมิ 

สำหรับรายละเอียดังกล่าว ระบุว่าตามหนังสือศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2566 ได้ส่งตัวอย่างปูน้ำจืด จำนวน 4 ตัว เพื่อให้กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพิสูจน์ชนิดปู ที่พบจากบริเวณหมู่ที่ 4 บ้านขนุนคลี่ ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 

ล่าสุดกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำกาญจนบุรี ได้ตรวจสอบตัวอย่างปูน้ำจืดดังกล่าวแล้วพบว่าเป็นปูน้ำจืดสกุล Thaiphusa ซึ่งไม่สามารถระบุชนิดได้ โดยปูตังกล่าวเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ อยู่ในระหว่างการจัดทำเอกสารวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพรในวารสารวิชาการ หากมีการตีพิมพ์ และเผยแพร่เอกสารวิชาการดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งการตั้งชื่อปูที่พบใหม่ในครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ เคยมีการค้นพบปูราชินี โดยทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตใช้ชื่อ สิริกิติ์ เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ เพื่อเทิดพระเกียรติและเฉลิมพระเกียรติในวาระครบ 5 รอบของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และได้ทรงพระราชทานให้ในวันที่ 23 ธ.ค.2534

ปัจจุบันพบเป็นปูประจำถิ่นในป่าพรุน้ำจืดบริเวณลุ่มน้ำน้อย อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และอุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี และไม่เคยมีรายงานพบที่อื่นอีกเลย มีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Supachai Ponthip ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาว อ.ทองผาภูมิที่มีข่าวดี เรื่องการพบปูน้ำจืดชนิดใหม่ (ปูน้ำจืด Thaiphusa) ซึ่งเกิดจากการผลักดันของนายจีรพันธ์ ขันแก้ว (พี่จี) ผู้ริเริ่มศึกษาพฤติกรรมปูชนิดนี้

ก่อนส่งเรื่องต่อให้นายไพศาล รัตนา ประมงอำเภอทองผาภูมิ นำปูจำนวนหนึ่งส่งให้กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด พิสูจน์หาชนิดของปูทั้ง 4 ตัว จนพบว่าเป็นปูชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน

ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ต้องรอนักวิชาการจากกรมประมง ลงพื้นที่บ้านขนุนคลี่ เพื่อทำการศึกษาและหาข้อมูลของปูดังกล่าว ก่อนจะจัดทำเอกสารวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารวิชาการ พร้อมทั้งการตั้งชื่อปูที่พบใหม่ในครั้งนี้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง