“บุหรี่ไฟฟ้า GEN 5” ภัยร้าย เจาะเป้าหมายเด็ก-เยาวชน

สังคม
11 ส.ค. 66
14:50
1,867
Logo Thai PBS
“บุหรี่ไฟฟ้า GEN 5” ภัยร้าย เจาะเป้าหมายเด็ก-เยาวชน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“บุหรี่ไฟฟ้า GEN 5 คือบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้การตลาดปรับรูปลักษณ์ใหม่ ใช้การ์ตูน มีเรื่องราว ดูเหมือนของเล่น สวย น่ารัก ราคาถูก ส่งถึงบ้าน และพยายามทำให้เห็นว่าไม่มีอันตราย ... ซึ่งนั่นคือ ความอันตรายที่เพิ่มขึ้นกับเด็กไทย”

ผศ.ศรีรัช ลาภใหญ่ นักวิชาการอิสระด้านการสื่อสารการตลาด นำภาพของ “บุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ล่าสุด” ที่ให้คำนิยามว่า GEN 5 มาเปิดเผยในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การเสพติด ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2566 ในหัวข้อ “การตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย”

ซึ่งเมื่อมองในมุมของนักวิชาการด้านการสื่อสารการตลาด ผศ.ศรีรัช เห็นว่า รูปโฉมล่าสุดของบุหรี่ไฟฟ้าที่สามารถสั่งซื้อได้อย่างง่ายดายทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ล้วนเป็นการทำการตลาดเจาะจงไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนตั้งแต่อายุ 10 – 15 ปี เท่านั้น

รูปลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกนำมาเปิดเผยในการประชุมนี้ล้วนเป็นรูปลักษณ์ที่น่ารักและยากต่อการแยกแยะว่า เป็น “บุหรี่ไฟฟ้า” หรือ “ของเล่น” มีตั้งแต่รูปโฉมกล่องนม ตัวการ์ตูนที่เด็กๆ รู้จักเป็นอย่างดี ตัวต่อ ตุ๊กตา มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์กล่องใสเหมือนของเล่นทั่วไป ผศ.ศรีรัช จึงให้คำนิยามว่า “TOY POD”

TOY POD ไม่ใช่ TOY มันไม่ใช่ของเล่น

TOY POD ไม่ใช่ TOY มันไม่ใช่ของเล่น

TOY POD ไม่ใช่ TOY มันไม่ใช่ของเล่น

แต่ TOY POD ไม่ใช่ TOY มันไม่ใช่ของเล่น และอาจทำให้ผู้ปกครองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่อยู่ในการครอบครองของลูกตัวเองคือบุหรี่ไฟฟ้า และถ้าเราใช้หลักการตลาดมาวิเคราะห์ เราสามารถเรียกวิธีการทำตลาดแบบนี้ว่า การตลาดล่อเหยื่อ นั่นคือ การมุ่งเน้นโจมตีไปที่เป้าหมายอ่อนแออย่างเด็กและเยาวชน

เป็นการตลาดที่ใช้หลักการ Child Friendly Marketing ด้วยวิธีการที่เปิดกว้าง ไม่หลบซ่อน เข้าถึงง่าย และดูเหมือนไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันตราย คำถามใหญ่ก็คือ เมื่อทำการตลาดแบบนี้แล้ว เรายังสามารถเชื่อได้ว่า ไม่มีเป้าหมายเพื่อขายให้กับเด็ก ... จริงหรือ”

“ก่อนหน้านี้บุหรี่ไฟฟ้าปรับรูปโฉมมาแล้วทั้งหมด 4 GEN แต่ก็ยังเป็นรูปโฉมที่มองออกว่าเป็นบุหรี่ ซึ่งเมื่อเรายังมองเห็นว่ามันเป็นบุหรี่ มันยังคงให้ความรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่มีอันตราย แต่รูปโฉมที่เราเรียกว่า GEN 5 นี้ กลับเหมือนของเล่นมาก ต่างจากบุหรี่มวนอย่างสิ้นเชิง ออกแบบสวยงาม มีกลิ่นหอม มีชื่อเรียกกลิ่นต่างๆ มีเรื่องราวของตัวละคร เป็นการตลาดที่เล่นกับประสาทสัมผัสของเด็กอย่างครบครัน ตั้งแต่การมองเห็น ความรู้สึก การสัมผัส การรับรส และการได้กลิ่น” ผศ.ศรีรัช กล่าว

tracking changes from Gen 1 to Gen 5

tracking changes from Gen 1 to Gen 5

tracking changes from Gen 1 to Gen 5

เมื่อเจาะลึกลงไปที่รูปแบบการส่งเสริมการขาย ผศ.ศรีรัช เปิดเผยผลการศึกษาการค้นหาแหล่งจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในโซเชียลมีเดียต่างๆ พบแหล่งที่ขายในประเทศไทยถึง 436 ร้าน อยู่บนเว็บไซต์ 104 ร้าน ,facebook 44 ร้าน ,Instragram 41 ร้าน ,Tiktok 66 ร้าน ,Twitter 152 ร้าน ,Line Shoping 27 ร้าน และ Shopee 2 ร้าน ซึ่งจะเห็นว่า แหล่งจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เปลี่ยนไปตามความนิยมของแพลตฟอร์มด้วย โดยที่มีอัตราเพิ่มขึ้นมากก็คือ Tiktok

และหากเปรียบเทียบข้อมูลย้อนกลับไปอีกประมาณ 3 ปี ก็จะพบว่า ตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในโซเชียลมีเดีย เติบโตขึ้นถึง 45.3% เมื่อเทียบกับในปี 2020 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกว่า บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันถูกตั้งราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 250-350 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ แถมยังมีราคาต่ำที่สุดเพียง 97 บาทต่อชิ้นเท่านั้น

แม้การขายบุหรี่ไฟฟ้าจะยังผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่ ผศ.ศรีรัช เปิดเผยว่า หากเข้าไปดูวิธีการส่งเสริมการขายของพวกเขาในโซเชียลมีเดีย เรารวบรวมวิธีการต่างๆ ได้มากถึง 23 วิธี โดยเฉพาะการชักชวนให้คนทั่วไปมาร่วมเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งสามารถทำงานนี้ได้เป็นรายวัน ลงข้อความโฆษณาไว้ว่า ไม่ต้องมีเงินลงทุน ไม่ต้องรับของไปสต็อกเก็บไว้ ไม่ต้องจัดส่งของเอง เพียงแค่ทำหน้าที่เป็นคนกลางหรือเอเยนต์หาลูกค้ามาให้ก็รับเงินส่วนต่างไปได้เลยถึง 30% จากราคาจำหน่าย และนั่นทำให้มีคนจำนวนมากหันไปทำธุรกิจนี้

การตลาดของกลุ่มผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้าเจาะเป้าหมายไปที่เด็กและเยาวชน

การตลาดของกลุ่มผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้าเจาะเป้าหมายไปที่เด็กและเยาวชน

การตลาดของกลุ่มผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้าเจาะเป้าหมายไปที่เด็กและเยาวชน

ไม่ใช่แค่เข้าไปเป็นคนขายง่ายๆ บางเพจเขายังเปิด live chat ไว้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อหาลูกค้า บางร้านมีแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง บางร้านใช้กลยุทธ์ขายน้ำยากลิ่นต่างๆเป็นกล่องสุ่ม และที่น่าตกใจมากๆ คือ มีรูปแบบส่งเสริมการขายกระทั่งการเปิดให้ผู้ซื้อสามารถผ่อนชำระเป็นงวดๆ ได้โดยไม่มีดอกเบี้ยอีกด้วย

“ดังนั้น เราจำเป็นต้องรีบส่งข้อมูลนี้ไปให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ซึ่งจำเป็นต้องรับรู้และต้องรีบมีมาตรการออกมาตอบโต้กับการทำการตลาดทางโซเชียลมีเดียของกลุ่มผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้า ก่อนที่จะแพร่หลายไปในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างกว้างขวางกว่านี้” ผศ.ศรีรัช กล่าวทิ้งท้าย

ส่วนประเด็นที่มีข้อเสนอจากฝ่ายการเมืองให้แก้ปัญหาการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ด้วยการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เพื่อนำเงินรายได้เข้ารัฐและยังอาจจะสามารถทำให้ออกมาตรการต่างๆ มาควบคุมการเข้าถึงของเยาวชนได้เช่นเดียวกับที่ใช้กับบุหรี่มวน ผศ.นพ.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ยังไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

โดยให้เหตุผลว่า แม้ในขณะนี้ที่บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่ ก็ยังแทบไม่เห็นการบังคับใช้กฎหมายกับผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเลยทั้งที่เขาทำกันอย่างเปิดเผยทางโซเชียลมีเดีย

ดังนั้นหากจะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายและเริ่มใช้มาตรการควบคุมเช่นเดียวกับบุหรี่มวน รัฐก็ต้องแสดงให้เห็นก่อนว่ามีศักยภาพในการบังคับใช้กฎหมายได้จริงเพื่อไม่ให้มีข้อสงสัยว่า การปล่อยให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างแพร่หลายเช่นนี้ เป็นเพราะมีวงจรผลประโยชน์ของธุรกิจสีเทาจากบุหรี่ไฟฟ้าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่

อ่านข่าวอื่นๆ :

เบอร์แปลกอย่ารับ! เตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข่มขู่ นศ.เรียกค่าไถ่ 

6 เรื่องต้องรู้ ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ หลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง