คนการเมืองมองต่างมุม กรณีปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ

การเมือง
15 ส.ค. 66
07:28
2,205
Logo Thai PBS
คนการเมืองมองต่างมุม กรณีปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองหลังจากตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ ที่จ่ายให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อย ล่าสุด รมว.มหาดไทยชี้แจงว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ รอทางคณะกรรมการผู้สูงอายุกำหนดเกณฑ์การจ่าย

กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง หลังจากตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ ที่จ่ายให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อย ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชี้แจงว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ รอทางคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กำหนดเกณฑ์การจ่าย

กรณีราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ซึ่งมีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ "ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ" ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กำหนด

อ่านข่าว พม.ยืนยันผู้สูงอายุเดิมยังได้รับเบี้ยยังชีพ หลังรัฐบาลปรับหลักเกณฑ์ 

มท.1 ชี้รอ พม.เคาะเกณฑ์ปรับจ่าย "เบี้ยผู้สูงอายุ"

วานนี้ (14 ส.ค.66) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงว่า เรื่องเงินดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่งบประมาณส่วนนี้ นำมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.เป็นผู้จ่าย

กระทรวงมหาดไทยก็ต้องออกระเบียบเพื่อให้ อปท.สามารถจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุตามหลักเกณฑ์ได้ แต่จะจ่ายได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำหนด เมื่อกำหนดแล้ว อปท.จึงจะจ่ายได้ กระทรวงมหาดไทยก็ต้องไปออกระเบียบให้สอดคล้องกับที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด

อ่านข่าว มท.1 ชี้ยังไม่ได้ข้อยุติ รอ พม.เคาะเกณฑ์ปรับจ่าย "เบี้ยผู้สูงอายุ" 

ส่วนกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่า เป็นการลักไก่ทำช่วงรัฐบาลรักษาการนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า ยังไม่มีการทำอะไรเลยจนกว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดมา เพราะฉะนั้นที่พูดไปเป็นความเข้าใจผิด ก่อนจะถามกลับว่า ถ้าให้เลย ตนได้ด้วยนะ ตนอายุ 70 ก็ได้ 700 ด้วย เหมาะสมหรือไม่ที่ตนจะได้

ทั้งนี้ ระหว่างรอระเบียบจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติออกมา หน่วยงานท้องถิ่นจะดำเนินการอย่างไรนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า ถ้าถึงวันนั้นแล้วยังไม่มีระเบียบออกมา ต้องหารือกัน เนื่องจากถ้าจ่ายไปแล้วไปเรียกคืนก็จะค่อนข้างวุ่นอีก รวมถึงยังมีกรณีบุคคลที่ไม่ควรจะได้ด้วย

รัฐแจงปรับเกณฑ์จ่ายเพื่อความยั่งยืนทางการคลัง

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ 50,000 ล้านต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านต่อปี และแตะ 90,000 ล้านแล้วในปีงบประมาณ 2567

ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยฯ แก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า เป็นการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว พร้อมขอฝ่ายการเมืองอย่ามองเป็นการลักไก่ เพราะไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะทำเช่นนั้น

"วิโรจน์" ติงรัฐบาลลักไก่ปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ

ก่อนหน้านี้ นายวิโรจน์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรงมาก ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุอยู่ 11 ล้านคน และไม่เห็นด้วยกับการจะใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจนในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ไม่ครอบคลุม และจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น อีก 6 ล้านคน จะถูกรัฐลอยแพ

นายวิโรจน์ ยังชี้ว่า การบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน อาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ก็เป็นได้ การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในครั้งนี้ ถือเป็นการลักไก่ของรัฐบาลรักษาการที่ไม่ควรทำ พร้อมขอให้ประชาชนจับตาดูต่อไป ว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ามารับไม้ต่อ จะจัดการอย่างไรกับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับนี้

"สุดารัตน์" ติงรัฐบาลทำลายหลักรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

เช่นเดียวกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กคัดค้านระเบียบดังกล่าว โดยชี้ว่าจะเป็นการทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกให้เฉพาะคนจน ซึ่งขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหลักสากล เป็นระบบที่รัฐบาลเลือกปฏิบัติ และสร้างบุญคุณในฐานะการช่วยเหลือ หรือแบ่งคนรวยคนจน ทั้งที่จริงมันคือสวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว

แนวคิดเช่นนี้นอกจากจะสะท้อนปัญหาว่ารัฐบาลหาเงินไม่ได้ ใช้เงินไม่เป็นแล้ว ยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทย

ทั้งนี้ ที่มาที่ไปของเรื่องดังกล่าว ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2564 กรณีมีผู้สูงอายุจำนวนมากรับบำนาญพิเศษ ซ้ำซ้อนกับการรับเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นเหตุให้กรมบัญชีกลางทยอยเรียกเงินคืนย้อนหลัง ซึ่งจากการตรวจสอบภายหลังพบนับหมื่นราย กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กระทั่งกรมบัญชีกลางมีหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะต้องเรียกเงินคืนหรือไม่ 

อ่านข่าว เบี้ยผู้สูงอายุยังจ่ายเกณฑ์เดิม ไม่มีเบี้ยพิเศษรายปีคนละ 1,000 บาท 

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าไม่ต้องคืนเงิน ส่วนกรณี อบต.เรียกคืนมาแล้ว ให้คืนเงินจำนวนนั้นกลับไปให้ผู้สูงอายุ และในย่อหน้าสุดท้ายของความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

นอกเหนือจากประเด็นที่กรมบัญชีกลางสอบถามไปว่า ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ "รีบ" แก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติผู้สูงอายุฯ 

เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีสถานะเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล มีข้อเสนอแนะออกมาเช่นนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องปรับแก้ตามข้อเสนอแนะดังกล่าว หากไม่ทำก็เสี่ยงที่จะมีปัญหากับหน่วยงานด้านการตรวจสอบ เช่น สตง. ปปช. เป็นต้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ภาคประชาสังคมยื่นหนังสือค้านตัด "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  

ครม.คืนเงินให้ "ผู้สูงอายุ" ที่ได้รับเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนสวัสดิการอื่น 

ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้านบาท ช่วยผู้สูงอายุ เริ่ม 19 ก.ค.นี้ 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง