ตัดสิทธิ “เบี้ยคนชรา” ตัดท่อน้ำเลี้ยง ใจคน(อ)ยากจน

สังคม
15 ส.ค. 66
14:44
5,558
Logo Thai PBS
ตัดสิทธิ “เบี้ยคนชรา” ตัดท่อน้ำเลี้ยง ใจคน(อ)ยากจน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“เงินคนแก่” หรือ “เบี้ยคนชรา” ที่ชาวบ้านเรียก คือ เงินบำนาญที่รัฐบาลให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2552 ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นการใช้ระบบขึ้นทะเบียนก่อนจะเปลี่ยนแปลงเป็นการยืนยันสิทธิ ไม่มีเงื่อนไขหรือคุณสมบัติด้านรายได้ ระบุเพียงว่า จะต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการอื่นอยู่ก่อนแล้ว

ในยุคก่อนชาวบ้านจะเรียกเบี้ยคนชราว่า “เงินอภิสิทธิ์” หมายถึงเป็นเงินที่ได้รับจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยมีการจ่ายเป็นลำดับขั้นบันไดของอายุ เช่น ผู้สูงอายุ อายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท ผู้สูงอายุ อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท ผู้สูงอายุ อายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาท และผู้สูงอายุ อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท

แต่พลันที่ กระทรวงมหาดไทย เผยแพร่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ส.ค.เรื่อง "ระเบียบกระทรวง มหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 " ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2566 ได้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพว่า "เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด" ถือเป็นการสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราแบบ "ถ้วนหน้า" ที่ดำเนินมากว่า 14 ปี

สำหรับผู้ที่ได้สิทธิเดิมอยู่แล้ว รัฐไม่ได้ตัดสิทธิ ในขณะผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัย 60 ปี ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการปรับเกณฑ์ใหม่ มีการตั้งคำถามว่า ควรจะได้รับหรือถูกตัดสิทธิ เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ

และเบี้ยคนชราจำนวน 600 บาท แม้ไม่ใช่เงินจำนวนมาก แต่สำหรับทั่วไปที่อายุเข้าเกณฑ์ ต่างก็ถือเป็นท่อน้ำเลี้ยงใจที่ได้รับจากรัฐบาล และเป็นสิทธิที่ควรจะได้

2575 ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด

เมื่อปี 2564 ไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไปมาก กว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 6 ของประชากรไทย ถือเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์

สำนักงานสถิติแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ช่วงปี 2567-2568 คณะอนุกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ประมาณการว่า ในปี 2575 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด และเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สอดคล้องกับการศึกษาขององค์กร Help Age International ที่เข้าไปศึกษาและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พบว่า ไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และคาดว่า ในปี 2583 จะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 17 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ยอมรับว่า ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ วันนี้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ 50,000 ล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาท และแตะ 90,000 ล้านบาทแล้ว ในปีงบประมาณ 2567 ดังนั้นหากลดการจ่ายเบี้ยฯ แก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย

การพุ่งเป้าช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า คือการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ขอฝ่ายการเมืองอย่ามองเป็นการลักไก่

เงินจำนวน 600 บาท เล็กน้อยแต่มีค่า

นายสุจินต์ ตรงดี อดีตพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะได้รับสิทธิ์เบี้ยคนชราในปี 2567 บอกว่า เมื่อทราบว่ารัฐมีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ โดยพิจารณาจากรายได้หรือเงินฝากในบัญชี อาจทำให้ไม่เข้าเกณฑ์ ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะเกษียณมา ได้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินค่าจ้างเดือนสุดท้ายมาก้อนหนึ่ง ไม่มีรายได้อื่นๆ หากได้เงินผู้สูงอายุ ก็จะใช้เป็นค่ากับข้าว ค่าน้ำ แม้เงิน 600 บาทจะไม่เยอะ แต่ก็ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้ระดับหนึ่ง

คนที่มีเงินฝากในบัญชี ก็เป็นเงินเก็บไว้ใช้ยามแก่ตัว แต่เงินก้อนนี้ใช้ทุกวันมันก็หมดไปเรื่อย ๆ เพราะเราไม่ได้ทำงาน และไม่มีรายได้อื่น เบี้ยผู้สูงอายุถือเป็นสิทธิที่เราควรจะได้ และรัฐก็ไม่ควรมาตัดสิทธิตรงนี้ ไม่เห็นด้วย

ด้านนายธวัชชัย เข็มกำเนิด อดีตพนักงานบริษัทเอกชน กล่าวว่า ได้รับเบี้ยคนสูงอายุมา 2 ปีแล้ว จึงไม่ถูกตัดสิทธิเดิม สำหรับการตัดสิทธิผู้สูงอายุที่มีรายได้สูง เห็นด้วย และรัฐตรวจสอบได้ไม่ยาก เพราะกระทรวงมหาดไทย มีฐานข้อมูลประชาชน ที่เชื่อมโยงกับแอปเป๋าตัง ได้ทำให้ทราบว่า ใครมีรายได้มากน้อยอย่างไร โดยอาจกำหนดวงเงินของผู้สูงอายุว่า มีเงินฝากอยู่ในบัญชีระดับไหน จึงควรจะได้รับและไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ สำหรับบางคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว เงินจำนวนนี้อาจไม่จำเป็น

ชาวบ้านส่วนใหญ่ ก็อยากได้เงินจากรัฐบาล ถือว่า เป็นเงินเดือนคนแก่ เงิน 600 บาท/ เดือน ในต่างจังหวัดมีค่ามากๆ 

ขณะที่นางสุชาดา กุลจันทร์ ข้าราชการบำนาญวัย 76 ปี กล่าวว่า ตนเองได้รับเงินบำนาญจึงไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำหรับข่าวการปรับเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น เบื้องต้นหากรัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอก็อาจจะปรับลดเบี้ยยังชีพลงเพื่อให้ยังสามารถจ่ายให้ผู้สูงอายุได้

นอกจากนี้ ยังมองว่า การพิสูจน์รายได้ของผู้สูงอายุบางส่วนก็ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีผู้สูงอายุบางส่วนที่ประกอบอาชีพและมีรายได้สูงเช่นค้าขาย แต่ก็ยังมีคุณสมบัติ ที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขณะที่ผู้สูงอายุที่ยากจนก็ยังคงหารายได้เพิ่มเติมแม้จะเป็นรายได้เล็กน้อย เช่น เก็บของเก่าขาย  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

"เบี้ยผู้สูงอายุ 2566" เช็กคุณสมบัติ - วิธีลงทะเบียน - ปฏิทินการจ่ายเงิน

มท.1 ชี้ยังไม่ได้ข้อยุติ รอ พม.เคาะเกณฑ์ปรับจ่าย "เบี้ยผู้สูงอายุ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง