เปิด 4 นายพลตัวเต็ง ลุ้นชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 14

อาชญากรรม
17 ส.ค. 66
17:13
64,462
Logo Thai PBS
เปิด 4 นายพลตัวเต็ง ลุ้นชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 14
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

สิ้นเดือนกันยายนนี้ หากยึดตามปฏิทินกรมปทุมวัน “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเกษียณอายุราชการ และนับเป็นครั้งแรกที่ ผบ.ตร. ไม่มีอำนาจในการเสนอชื่อ ผบ.ตร. คนใหม่ แต่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ 2565 ในมาตรา 78 (1) ที่ระบุว่า

ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ให้นายกรัฐมนตรี คัดเลือกข้าราชการตำรวจในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. โดยคำนึงอาวุโส ความรู้ความสามารถประกอบ โดยเฉพาะประสบการณ์งานสืบสวนสอบสวน หรืองานป้องกันปราบปรามนำรายชื่อเสนอต่อ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

หากดูตามชั้นลำดับอาวุโสในปี 2566 พบว่ามี 4 คน คือ “บิ๊กรอย” พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ซึ่งมีอาวุโส ลำดับที่ 1 ส่วน “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มีอาวุโสอยู่ในลำดับ 2 ขณะที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. มีอาวุโสอยู่ในลำดับที่ 3 และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. อาวุโสในลำดับ 4

พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์

พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์

พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์

“รอย อิงคโรจน์” เจ้าของฉายา นายพล take me home

สำหรับ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้มีลำดับอาวุโสคนแรก เคยผ่านการลุ้นชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. มาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ครั้งนี้ได้สิทธิเข้าชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. รอบที่ 2 หากพลิกประวัติด้านการศึกษา ก็ไม่ธรรมดาเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24 และนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 40

ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย พล.ต.อ.รอย จบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท MPA จากสหรัฐอเมริกา จบหลักสูตรหลัก FBI จากสหรัฐอเมริกา หลักสูตรสืบสวนจากสหรัฐอเมริกา-ออสเตรเลีย ระหว่างปี 2561-2564

ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร “พล.ต.อ.รอย” รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ ควบคู่กับการเป็นหัวหน้าศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.), ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง (ศตปค.ตร.), ศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) และ ศูนย์บังคับและต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) (ศบตอ.ตร.)

ส่วนผลงานปี 2561-2564 เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. รับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวน, ป้องกันปราบปราม, กฎหมายและคดีและงานบริหารงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้รับมอบหมายงานพิเศษเป็น รอง ผอ. ศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ

ผลงานเด่นสุด เปิดปฏิบัติการสนธิกำลังร่วมเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ บุกเข้าช่วยเหลือคนไทยในอาคารแห่งหนึ่ง กลางเมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา หลังถูกหลอกไปทำงาน คอลเซ็นเตอร์หลอกลวงคนไทยด้วยกันเองและถูกกักขังบังคับให้ทำงาน ช่วยเหลือและพากลับไทยได้นับร้อย จนได้รับฉายาว่า “นายพล take me home”

ล่าสุด ได้รับมอบหมายจาก ผบ.ตร. นำทีมกวาดล้างอาชญากรรม เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ในช่วงเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ พล.ต.อ.รอย จะเกษียณอายุราชการ ในปี 2567

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

“บิ๊กโจ๊ก เต็มคาราเบล” สุรเชษฐ์ หักพาล

สำหรับอาวุโส ลำดับที่ 2 “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ครบวาระเกษียณอายุราชการ ปี 2574 เรียกว่าเหลืออายุราชการมากที่สุด แต่มีอายุน้อยที่สุดในบรรดาผู้เข้าชิงและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จบมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมหาวชิราวุธ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 31 และจบปริญญาตรี จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 47

ขณะที่ดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวน กำกับดูแลงานสืบสวนของ บก.สส. และงานสืบสวน ในภูธร 1-9 ด้วย รวมไปถึงกำกับดูแลงาน สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, รพ.ตร. (เฉพาะ นต.)

นอกจากนี้ยังเป็นหัวหน้าศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง (ศปนม.ตร.), ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และปราบปรามการค้ามนุษย์ (ศพดส.ตร.)

ผลงานเด่นของ “บิ๊กโจ๊ก” ภายหลังที่ถูกโอนกลับเข้ามาเป็นข้าราชการตำรวจ เมื่อ 28 มีนาคม 2564 ในขณะนั้นยศ พล.ต.ท. ตลอดช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ได้นำทีมลุยงานสืบสวนคลี่คลายคดีความหลายคดีด้วยกัน

คดีล่าสุดที่เข้ามาสางปมจนกระจ่างคือ “แอม สรารัตน์” ผู้ต้องหา คดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จากกรณีใช้สารพิษ โพแทสเซียมไซยาไนด์ ผสมอาหาร เครื่องดื่ม เพื่อปลิดชีพคนใกล้ชิด หวังทรัพย์สิน ล้างหนี้

จากการเสียชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่ง “บิ๊กโจ๊ก” ทำการสืบสวนขยายผลพบความเชื่อมโยงที่ต้องสงสัยว่า แอม สรารัตน์ ก่อเหตุในลักษณะเดียวกันอีกถึง 14 คดี ในช่วงเวลาต่อเนื่องกันหลายปี 

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์

“บิ๊กต่าย” กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ มือถอดบทเรียนหลักสูตร กอส.

“บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. เป็นชาว จ.ราชบุรี จบมัธยมศึกษาที่ ร.ร.เบญจมราชูทิศ จ.ราชบุรี นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 และปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 41 โดยจะครบวาระเกษียณอายุราชการ ในปี 2569

ดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. และเป็นหัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ศปปง.ตร.), และศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) เติบโตในวายงงานบริหารตั้งแต่กำกับดูแล สกบ., สกพ., สทส., สงป., สง.ก.ตร., สง.ก.ต.ช., รพ.ตร. (ยกเว้น นต.), บช.ศ., รร.นรต., บช.น.(เฉพาะ ศฝร.บช.น.) ภ.1-9 (เฉพาะ ศฝร.ภ.1-19) บช.ก. (เฉพาะ ศฝร.) บช.ตชด. (เฉพาะ บก.กฝ.), สตม., (เฉพาะ ศฝร.ตม.) สยศ.ตร.(ยกเว้น ผอ.ผก.ผค.) บ.ตร., สท., สลก.ตร., วน. โรงพิมพ์ตำรวจ

ผลงานล่าสุดได้รับมอบหมายให้ตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนปรับปรุงแก้ไขระเบียบคำสั่งกฎ ก.ตร และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการรับบุคคลเข้ามาเป็นตำรวจสัญญาบัตร การบรรจุ แต่งตั้ง ครองยศ รวมถึงการเข้าเรียนหลักสูตร กอส. หลักสูตรการอบรมบุคคลภายใน (ข้าราชการตำรวจชั้นประทวน) เป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอน.)

และหลักสูตรอื่นๆ ให้สอดคล้องสถานการณ์ ปัจจุบัน และสอดรับกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ฉบับใหม่ โดยสำนักงานกำลังพลไปถอดบทเรียน กรณี ร.ต.อ.หญิง อาทิติยา และข้าราชการตำรวจรายอื่นๆประกอบการพิจารณาเพื่อยกร่างกฎระเบียบใหม่

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล

“มือปราบสายธรรมะ” “บิ๊กต่อ” ต่อศักดิ์ สุขวิมล 

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. “บิ๊กต่อ” เป็นชาว จ.เพชรบุรี จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนโยธินบูรณะ ระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสิงห์แดง รุ่นที่ 38 และปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ก่อนเป็นตำรวจ หลังเรียนจบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ทำงานเป็นพนักงานในบริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ อยู่ได้ 7 ปี จึงลาออกมาสมัครรับราชการตำรวจ โดยเข้าอบรมหลัก สูตรการฝึกอบรม ผู้มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4

เป็นรอง ผบ.ตร.รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เป็นหัวหน้าศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ศปลป.ตร.), ศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม (ศปป.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติ (ศปทส.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ (ศปจร.ตร.), ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง (ศปข.ตร.)

นอกจากนี้ยังกำกับดูแล บช.น. (ยกเว้น บก.สส., จร. อคฝ. ศฝร.บช.น.) ภ.1-8 (ยกเว้น บก.กค. บก.สส. ศฝร.ภ.1-8) ภ.9 (ยกเว้น ภ.จว.ยล. ปน. นธ. สภ. 4 อำเภอใน จว.สงขลา, บก.กค. บก.สส., บก.สส.จชต., ศฝร.ภ.9 กก.ปพ.) บช.ก. (ยกเว้น บก.ทล., ปพ. ศฝร.) สยศ.ตร. (เฉพาะ ผอ., ผก.) บช.ปส.

รวมทั้งงาน สอท. หรือ ตำรวจไซเบอร์ ซึ่งมีผลงานปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลัง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ มักปรากฏตัวในงานบุญ งานกุศลไปจนถึงงานศพของผู้ใต้บังคับบัญชาที่เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา

ขณะที่งานปราบปรามล่าสุด คือ กวาดล้างขบวนการออกทะเบียนรถยนต์โบราณ โดยมิชอบ ซึ่งพบมากกว่า 60 คัน ทั้งนี้ “บิ๊กต่อ”จะเกษียณอายุราชการ ปีใน 2567

สำหรับการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ให้ 3 ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิเสนอรายชื่อเห็นชอบ ครั้งแรกของการเสนอชื่อ ผบ.ตร. โดยนายกรัฐมนตรี โดยมี ก.ตร.ผู้ทรงคณวุฒิ พิจารณาเห็นชอบ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 มีผลบังคับใช้ เปลี่ยนแนวทางการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ไปจากเดิม มาตรา 78 (1) ระบุใจความว่า

ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกข้าราชการตำรวจในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.โดยคำนึงอาวุโส ความรู้ความสามารถประกอบ

โดยเฉพาะประสบการณ์งานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม นำรายชื่อเสนอต่อ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง

จะเห็นได้ว่า ปีนี้ตำแหน่ง ผบ.ตร.ต้องเสนอต่อ ก.ตร. ไม่ใช่ ก.ต.ช. เหมือนที่เคยเป็นมาอีกแล้ว ซึ่ง ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ มี ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 นาย

พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

นอกจากอำนาจการเสนอชื่อจะเปลี่ยนมือแล้ว ผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ในอดีตต้องเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช.

แต่ในปีนี้จะเป็นปีแรกที่ต้องเสนอต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นอดีตตำรวจ 3 นาย และมาจากการเลือกตั้ง โดยถือเป็นครั้งแรกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่อีกด้วย

แม้จะไม่มีกำหนดการเสนอชื่อ ผบ.ตร. คนต่อไป เอาไว้อย่างเป็นทางการ แต่ตามหลักการทั่วไปแล้ว จะต้องเสนอชื่อภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมกับวาระการแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการตำรวจระดับนายพลประจำปี เพื่อให้การคัดเลือก ผบ.ตร. คนใหม่ แล้วเสร็จ ก่อนที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ จะเกษียณราชการในวันที่ 30 ก.ย.ปีนี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าวันที่ 24 ส.ค.จะมีการนัดประชุม ก.ตร. 24 ส.ค. เพื่อเสนอแต่งตั้ง ผบ.ตร. และระดับ รอง ผบช. ถึง ผบก.ต่อไป

รายงานพิเศษ : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง