ชาวเหนือแห่ปลูก "ทุเรียน" หวั่นจุดชนวนปัญหาการแย่งชิงน้ำ

ภูมิภาค
19 ส.ค. 66
11:03
804
Logo Thai PBS
ชาวเหนือแห่ปลูก "ทุเรียน" หวั่นจุดชนวนปัญหาการแย่งชิงน้ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เกษตรกรบางส่วนในภาคเหนือหันมาปลูก "ทุเรียน" ราชาแห่งผลไม้ หลังไม้ผลในท้องถิ่นมักประสบปัญหาราคาผันผวน และ ตกต่ำ แต่การขยายพื้นที่ปลูกทุเรียน ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร น้ำ และ ป่าไม้

ต้นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง อายุกว่า 20 ปี หลายร้อยต้นในสวนเกษตรบริเวณเชิงเขาใน ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นสิ่งยืนยันว่าจังหวัดเชียงใหม่สามารถปลูกทุเรียนได้

 

สมเดช เหงาจิ้น เจ้าของสวนเล่าว่า แม้ต้นทุเรียนที่นำมาปลูกจะมีหลายต้นตายไป แต่ต้นที่รอด ก็ให้ผลทุเรียนคุณภาพ เนื้อแห้ง กลิ่นไม่ค่อยแรง และ รสชาติอร่อยไม่แพ้ทุเรียนภาคใต้ หรือ ภาคตะวันออก โดยปัจจัยน่าจะมาจากสภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม

สมเดช เหงาจิ้น เจ้าของสวน

 

หากเทียบกับไม้ผลอื่นๆ เนื้อที่ปลูกเท่ากัน ทุเรียนให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เพราะมีราคาขายที่สูง ใช้แรงงานดูแลไม่มาก และ เหนื่อยน้อยกว่า

 

ปัจจุบัน อ.แม่แตง และ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ ที่มีเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น แต่การขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนอย่างไม่มีการวางแผน ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร น้ำ และ ป่าไม้

 

คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งใน อ.เชียงดาว เห็นถึงโอกาสของ ทุเรียน และ ต้องการผลักดันการปลูกทุเรียนอย่างยั่งยืน จึงรวมตัวทำธุรกิจ ส่งเสริมการปลูก และ พัฒนาการตลาด ในนาม "เชียงดาวการทุเรียน"

วันเฉลิม เกิดแก้ว แกนนำกลุ่มเชียงดาวการทุเรียน


วันเฉลิม เกิดแก้ว แกนนำกลุ่มเชียงดาวการทุเรียน เล่าว่า แนวคิดหลักของการปลูกทุเรียน คือ การปลูกน้อย แต่เน้นคุณภาพ วางแผนการปลูกอย่างเหมาะสม ลดการรบกวนสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ

 

เพราะ ทุเรียน เป็นพืชที่ใช้ปริมาณน้ำเยอะมาก เราจึงอยากให้เกษตรกรตระหนักรู้ในเรื่องนี้ ไม่ต้องการให้เกษตรกรปลูกเยอะ แล้วก็มีปัญหาเรื่องน้ำตามมา เพราะเราเคยเห็นการแย่งน้ำเพื่อใช้ในผลผลิตทางการเกษตรมาแล้ว และ ไม่อยากให้มีการแผ้วถางทำลายป่า เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเชิงพาณิชย์

 

กลุ่มเชียงดาวการทุเรียน จึงทำโครงการทุเรียนหลังบ้าน เพราะมองว่าต้นทุเรียนที่มีคุณภาพ มีอายุเกินกว่า 10 - 20 ปี สามารถให้ผลผลิตเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าการปลูกทุเรียนหลายๆต้น

 

ทุเรียนแค่ 2 ต้น ให้กำไรได้มากกว่าการปลูกลำไยถึง 10 ไร่ แต่เกษตรกรก็จะต้องเข้ามาศึกษา ในเรื่องการตลาด และ ช่องทางการขายผ่านระบบออนไลน์

 

เราอยากจะเป็นสื่อกลางระหว่างคนปลูกทุเรียน กับ ผู้บริโภค เพื่อให้ชาวสวนขายทุเรียนได้ราคา และผู้บริโภคพอใจกับทุเรียนคุณภาพและ รับรู้แนวทางการปลูกทุเรียนแบบยั่งยืนที่ชาวสวนกำลังทำอยู่

 

ล่าสุด เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ อ.แม่แตง และ อ.เชียงดาว มีต้นทุเรียนรวมกันมากกว่า 5 พันต้น ซึ่งจะเริ่มให้ผลผลิตในอีก 4-5 ปี ข้างหน้า โดยคาดหวังว่า ทุเรียน จะเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชุมชนได้ในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง