โดรนรูปร่างคล้ายค้างคาว ติดตั้งกล้องอินฟราเรด ช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชในโรงเรือน

Logo Thai PBS
โดรนรูปร่างคล้ายค้างคาว ติดตั้งกล้องอินฟราเรด ช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชในโรงเรือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยชาวดัตช์ออกแบบโดรนติดตั้งกล้องอินฟราเรด ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากค้างคาวที่ไล่จับเพลี้ยจักจั่นรูปลิ่ม เพื่อช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชที่มารบกวนพืชที่ปลูกในโรงเรือน

พืชที่ปลูกในโรงเรือนมักประสบกับปัญหาแมลงรบกวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อพืชที่ปลูกไว้ในโรงเรือน จึงต้องมีการควบคุมและดูแลเป็นอย่างดี ทำให้เป็นอีกครั้งที่แบทแมนได้กลายมาเป็นฮีโร่ที่ไม่ใช่แค่ในภาพยนตร์ เนื่องจากนักวิจัยชาวดัตช์ได้ทดสอบโดรนที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากค้างคาวที่ช่วยกำจัดเพลี้ยจักจั่นรูปลิ่มจากพืชขนาดใหญ่ รวมถึงพืชที่ปลูกในโรงเรือน

เทคโนโลยีการควบคุมแมลงอัตโนมัติ หรือโดรนรูปร่างคล้ายค้างคาว มีชื่อว่า PATS แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ PATS-C และ PATS-X โดยส่วนแรก คือ PAT-C จะประกอบไปด้วยโมดูลกล้องอินฟราเรดที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตซึ่งติดตั้งทั่วโรงเรือน และใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจจับพร้อมทั้งระบุชนิดของแมลงที่บินผ่านในยามที่แมลงเหล่านั้นบินเข้ามาในโรงเรือน โดยการจำแนกชนิดของแมลงจะขึ้นอยู่กับความถี่และขนาดของปีกแมลง หากแมลงเหล่านั้นเป็นสายพันธุ์ที่เป็นประโยชน์ เช่น ผึ้ง ก็จะไม่ถูกกำจัด แต่หากเป็นแมลงศัตรูพืช PATS-X จะรับหน้าที่กำจัดแมลงเหล่านั้น

PATS-X จะประกอบด้วยโดรน Quadcopter ขนาดเล็กที่วางไว้บนแท่นชาร์จไร้สายในโรงเรือน เมื่อพบสัตว์รบกวน PATS-C จะเปิดใช้งานโดรนและทำหน้าที่นำทางไปยังตำแหน่งของแมลง จากนั้น PAT-X หรือ Quadcopter จะบินตรงไปหาศัตรูพืช ทำการกำจัดแมลงด้วยใบพัด หลังจากนั้นจะกลับไปที่แท่นชาร์จ

PATS-C เวอร์ชันพื้นฐานมีการใช้งานจริงแล้วในโรงเรือนประมาณ 250 แห่งทั่วยุโรป โดยผู้ใช้งานจะรับรู้ข้อมูลของแมลงภายในโรงงานผ่านทางแดชบอร์ดออนไลน์ ส่วน PATS-X กำลังอยู่ระหว่างการทดลองใช้งาน และน่าจะเข้าถึงลูกค้ากลุ่มแรกได้ภายในสิ้นปีนี้

นักวิจัยกำลังทำการพัฒนาเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้โดรนสามารถเจาะลึกลงไปถึงสายพันธุ์แมลงศัตรูพืชที่พบได้บ่อยและเป็นอันตรายที่สุดในโรงเรือนของยุโรป

ที่มาข้อมูล: inceptivemind, newatlas, phys
ที่มาภาพ: pats-drones

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง