วิจัยพบการกระตุ้นผ่านขั้วไฟฟ้า ช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรังได้ถึง 90%

Logo Thai PBS
วิจัยพบการกระตุ้นผ่านขั้วไฟฟ้า ช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรังได้ถึง 90%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยค้นพบแนวทางใหม่ในการบรรเทาอาการปวดเรื้อรังอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการกระตุ้นบำบัดผ่านการวางขั้วไฟฟ้าอิเล็กโทรดบนผิวหนัง (Scrambler Therapy) ช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรังได้ถึง 90%

นักวิจัยเสนอวิธีใหม่ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังจากโรคปลายประสาทอักเสบที่เกิดจากเคมีบำบัด โรคข้ออักเสบ อาการบาดเจ็บที่หลัง หรืออาการปวดเรื้อรังจากสาเหตุอื่น ๆ ด้วยการกระตุ้นบำบัดผ่านการวางขั้วไฟฟ้าอิเล็กโทรดบริเวณผิวหนัง (Scrambler Therapy) ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการบรรเทาอาการปวดในระยะสั้นเท่านั้น แต่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดในระยะยาวได้อย่างถาวร

ในการวิจัยทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม 381 ครั้ง นักวิจัยพบว่าการบำบัดด้วยวิธีการกระตุ้นผ่านขั้วไฟฟ้าอิเล็กโทรดไปยังผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ที่มีอาการปวดเรื้อรัง สามารถบรรเทาความปวดของผู้ป่วยได้อย่างมากถึง 80-90% ซึ่งการบำบัดด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลดีกว่าการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าแบบอื่น ๆ เพราะไม่มีอันตราย และยังช่วยลดการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid Analgesics) ซึ่งอาจเกิดอันตรายร้ายแรงหากหยุดใช้ยาอย่างฉับพลันลงได้อย่างมาก

การบำบัดด้วยการกระตุ้นผ่านการวางขั้วไฟฟ้าอิเล็กโทรดบริเวณผิวหนัง (Scrambler Therapy) มีจุดมุ่งหมายเพื่อแทนที่สัญญาณความเจ็บปวดจากเส้นประสาทที่เสียหายด้วยสัญญาณจากเส้นประสาทข้างเคียง หรือกล่าวง่าย ๆ คือ เป็นการ "รบกวน" ข้อมูลที่ส่งไปถึงสมอง ด้วยการยกเลิกการสื่อสารจากเส้นประสาทที่เสียหายซึ่งเป็นแหล่งที่มาของอาการปวด โดยกระแสไฟฟ้าจะไปปิดกั้นช่องทางการส่งความรู้สึกเจ็บปวดไปสู่สมอง ทำให้รับรู้ความเจ็บปวดลดลง สามารถสกัดแรงกระตุ้นความเจ็บปวดที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบ อีกทั้งผู้ป่วยยังรู้สึกผ่อนคลายในขณะรักษา

นักวิจัยหวังว่าจะมีการต่อยอดให้ทั่วโลกหันมาศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของการบำบัดด้วยการกระตุ้นผ่านขั้วไฟฟ้า (Scrambler Therapy) ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ในทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในปี 2009 และคาดว่าจะถูกนำมาใช้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังอย่างแพร่หลายมากขึ้น

ที่มาข้อมูล: scitechdaily, newatlas, hopkinsmedicine, studyfinds

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง