เส้นทางสู่วิกฤติของลูนา 25 จากความขัดแย้งสู่หายนะบนดวงจันทร์

Logo Thai PBS
เส้นทางสู่วิกฤติของลูนา 25 จากความขัดแย้งสู่หายนะบนดวงจันทร์
วันที่ 19 สิงหาคม 2023 ภารกิจลูนา 25 ของรัสเซีย ซึ่งเป็นแผนการส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ในรอบ 47 ปี ประสบความล้มเหลว เมื่อรัสเซียขาดการติดต่อกับตัวยานอวกาศก่อนที่ในวันถัดมา ทางการรัสเซียแถลงข่าวการพุ่งชนดวงจันทร์ของลูนา 25 ซึ่งหายนะครั้งนี้อาจเป็นผลพวง

ท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกจากกรณีการบุกยึดยูเครน รัสเซียได้ส่งยานอวกาศลูนา 25 เดินทางสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในรอบ 47 ปี แต่ภายหลังตัวยานประสบความล้มเหลวในการลงจอดและตกกระแทกผิวดวงจันทร์ก่อนกำหนด นำไปสู่การเป็นยานอวกาศลำที่ 2 ที่จบชีวิตบนดวงจันทร์ในปีนี้

ในปี 1976 ยานอวกาศลำสุดท้ายที่เดินทางไปยังดวงจันทร์ของสหภาพโซเวียต ได้จบสิ้นภารกิจในยุคสงครามเย็นที่เป็นการแข่งขันด้านอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต หลังจากนั้น สหภาพโซเวียตกับชาติตะวันตกอื่น ๆ ก็ได้ร่วมมือกันสำรวจอวกาศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ปัญหาทางการเงินของรัสเซียทำให้นาซาต้องให้ความช่วยเหลือด้านการเงินในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ นับเป็นปัญหาเรื้อรังที่นำไปสู่การขาดเสถียรภาพในภารกิจการสำรวจอวกาศ

ภาพประกอบนี้ คือยานลูนา 25 ในห้องประกอบยานอวกาศของรัสเซียในระหว่างนำเข้าไปติดตั้งกับตัวจรวดโซยุส ณ ฐานปล่อย ในปี 2023 สิบปีหลังจากที่ยานอวกาศลำนี้ควรจะเสร็จ

เดิมที รัสเซียมีแผนร่วมมือกับอินเดียในการพัฒนายานอวกาศเพื่อลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ร่วมกับโครงการจันทรายานของอินเดีย อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เรื้อรังทั้งในด้านงบประมาณและด้านความพร้อมในเทคโนโลยี ทำให้รัสเซียไม่สามารถส่งมอบงานตามที่ได้ตกลงกันไว้ได้ จนอินเดียเลือกที่จะผลิตยานอวกาศด้วยตัวเองทั้งระบบ และปล่อยให้รัสเซียต้องสานต่อภารกิจลูนา 25 ด้วยตัวเอง

จนวันที่ 11 สิงหาคม 2023 ณ ฐานปล่อยวอสโตชินี ทางตะวันออกของรัสเซีย จรวดโซยุสก็ได้บรรทุกเอายานอวกาศลูนา 25 ขึ้นจากฐานปล่อย เดินทางสู่ดวงจันทร์ในที่สุด หลังจากที่มีการปรับแก้แบบไปหลายรอบ จากเดิมที่จะมียานโคจรติดไปด้วย ตอนนี้เหลือแต่ยานลงจอดอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ภารกิจนี้นับว่าเป็นการแสดงศักยภาพของรัสเซียหลังจากที่ถอนตัวจากโครงการอาร์ทิมิสของนาซา และหันไปร่วมมือกับจีนแทนในปี 2019

อย่างไรก็ตามสัญญาณของหายนะได้เริ่มขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2023 เมื่อรัสเซียออกมายอมรับว่าพวกเขามีปัญหาในการติดต่อกับยานอวกาศ หลังจากที่ตัวยานจุดเครื่องยนต์เพื่อปรับวงโคจรเตรียมพร้อมการบินลงสู่พื้นผิวของดวงจันทร์ ซึ่งทันทีที่มีการรายงานดังกล่าวออกมา สื่อหลายสำนักก็ตีข่าว ยานลูนา 25 ที่ในช่วงการปล่อยอาจพูดได้ว่าไม่มีใครสนใจมากนัก จึงกลายมาเป็นเป้าสายตาของคนทั้งโลกว่า รัสเซียเองจะสูญเสียยานอวกาศลำนี้ไปหรือไม่ เพราะในปีนี้ ญี่ปุ่นเพิ่งเสียยานอวกาศฮากุโตะอาร์ ยานอวกาศเอกชนที่ตั้งเป้าจะลงจอดดวงจันทร์ในเดือนเมษายน 2023 แต่ก็เกิดข้อผิดพลาดจนตัวยานตกกระแทกผิวดวงจันทร์เช่นกัน

จนวันที่ 20 สิงหาคม 2023 รัสเซียได้ออกมายอมรับผ่านทางช่องทางแจ้งข่าวสารเทเลแกรม (Telegram) ของหน่วยงานอวกาศรอสคอสมอส (Roscosmos) บอกว่า พวกเขาคาดว่าตัวยานลูนา 25 เดินทางไปยังวงโคจรที่ไม่ได้วางแผนไว้ และตกกระแทกสู่ผิวดวงจันทร์ ปิดฉากภารกิจการเดินทางครั้งนี้

ความล้มเหลวของโครงการลูนา 25 นั้นอาจส่งผลโดยตรงต่อความร่วมมือกับจีน เพราะจีนเองก็ล้วนแต่ประสบความสำเร็จอย่างมากในโครงการฉางเอ๋อ ซึ่งเป็นโครงการสำรวจดวงจันทร์ที่มีตั้งแต่การส่งตัวยานโรเวอร์ไปวิ่งบนผิวดวงจันทร์ ไปจนถึงการเก็บตัวอย่างหินของดวงจันทร์กลับโลก

แน่นอนว่ารัสเซียเองมีแผนโครงการลูนา 26 ที่ตั้งเป้าจะเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง แต่การผิดพลาดต่อเนื่องกันหลาย ๆ ภารกิจนั้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อความเชื่อใจกับชาติพันธมิตร และที่สำคัญก็คือส่งผลกระทบอย่างมากต่องบประมาณและทรัพยากรในประเทศ ที่ตอนนี้อาจเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงสงครามและการเผชิญต่อการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ

แม้ความผิดพลาดในครั้งนี้อาจไม่ได้สะท้อนถึงความล้มเหลวด้านวิศวกรรม เนื่องจากการสำรวจดวงจันทร์แม้เวลาจะผ่านไป 50 ปีนับจากมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกสำเร็จ แต่ความยากของการสำรวจอวกาศนั้นยังคงไม่จางหายไปไหน แต่ก็สะท้อนว่ารัสเซียเองขาดการบริหารจัดการที่เหมาะสม จนนำมาสู่ปัญหาเรื้อรังที่ยากจะแก้

ที่มาภาพ: ROSCOSMOS
ที่มาข้อมูล: spaceth
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง