เปิดใจ "ช่างภาพไทยพีบีเอส" กับภาพสุดเอ็กซ์คลูซีฟ เครื่องบินทักษิณแตะรันเวย์ดอนเมือง

สังคม
24 ส.ค. 66
17:14
3,295
Logo Thai PBS
เปิดใจ "ช่างภาพไทยพีบีเอส" กับภาพสุดเอ็กซ์คลูซีฟ เครื่องบินทักษิณแตะรันเวย์ดอนเมือง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ภาพมุมสูงที่บันทึกเหตุการณ์ขณะเครื่องบินส่วนตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ค่อยๆ ร่อนลงมาจน แตะรันเวย์ท่าอากาศยานดอนเมือง เคลื่อนมาตามทางวิ่ง และหยุดลง ก่อนที่นายทักษิณจะปรากฏตัวเดินขึ้นรถตู้เข้าไปยังอาคาร MJETS

ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวถ่ายทอดผ่านรายการพิเศษ"เกาะติดสถานการณ์ทักษิณกลับไทย" เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้รับความชื่นชมในโลกออนไลน์ ว่าเป็น “ภาพที่ดีที่สุด” ในเหตุการณ์นี้ จนหลายคนอยากรู้เบื้องหลัง ที่มาที่ไปของการเลือกโลเคชั่นถ่ายภาพที่ไม่เหมือนใคร

ผู้อยู่เบื้องหลังภาพเหตุการณ์สุดเอ็กซ์ครูซีฟในวันนั้นคือ ปรีชาพล อินทรโชติ ผู้จัดการกลุ่มสร้างสรรค์ภาพข่าว สำนักข่าว องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส หนึ่งในทีมช่างภาพที่เสาะหาโลเคชั่นเพื่อสร้างความแตกต่างในการนำเสนออย่างภาพเหตุการณ์สำคัญ และเป็นผู้ร่วมวางแผนการทำงานข่าวให้กับช่างภาพไทยพีบีเอสมานานกว่า 20 ปี

ภาพจากช่างภาพไทยพีบีเอส ที่ถูกกล่าวถึงในโลกออนไลน์ว่าเป็นภาพที่ดีที่สุดในวันนั้น (22 ส.ค.2566)

ภาพจากช่างภาพไทยพีบีเอส ที่ถูกกล่าวถึงในโลกออนไลน์ว่าเป็นภาพที่ดีที่สุดในวันนั้น (22 ส.ค.2566)

ภาพจากช่างภาพไทยพีบีเอส ที่ถูกกล่าวถึงในโลกออนไลน์ว่าเป็นภาพที่ดีที่สุดในวันนั้น (22 ส.ค.2566)

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ปัจจุบันมีสถานการณ์ เหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะข่าวการเมือง ช่างภาพมีการวางแผนการทำงานอย่างไร เพื่อให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพ และน่าสนใจ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูง

ปรีชาพล : การจะวางแผนได้ต้องมีข้อมูลมาก่อน ข้อมูลเราได้จากการประชุมข่าว จากกองบรรณาธิการที่ประชุมร่วมกัน เช่น กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับมา เราก็ต้องรู้ว่าไปยังไง ไปที่ไหน มีรูปแบบการดำเนินการยังไง อันนี้เราต้องการข้อมูลทั้งหมดเลย

เมื่อเราได้ข้อมูลมา แผนกช่างภาพนำมาวางแผนว่า เราจะใช้คนยังไง เราจะใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง เราต้องการภาพอะไรบ้าง แบบไหน อันนี้คือสองส่วนที่เราต้องคิดไปพร้อมกัน คือ ภาพ เราอยากได้ภาพแบบไหน ภาพมันเป็นยังไง

เวลาที่ต้องรายงานข่าวไปแล้ว เราอยากเห็นภาพหน้าจอเป็นยังไง การได้มาซึ่งภาพหน้าจอที่เราคิดไว้ ควรจะต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง นี่ก็เป็นเรื่องของอุปกรณ์

นอกจากอุปกรณ์แล้ว คนของแผนกช่างภาพที่ใช้อุปกรณ์แบบนี้ได้ มีใครบ้าง ก็ต้องคิดควบคู่กันไป ซึ่งคนแบบนี้ต้องใช้ควบคู่กับอุปกรณ์แบบนี้ ถ้าอุปกรณ์อีกแบบหนึ่งก็เป็นคนอีกแบบหนึ่ง เพราะความถนัดของช่างภาพกับอุปกรณ์ก็มีความหลากหลายกันไป ฉะนั้นต้องมีข้อมูลมาก่อน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ในแต่ละเหตุการณ์ข่าว ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ หรือการแถลงข่าว เรามีเป้าหมายอย่างไร

ปรีชาพล : เรื่องนี้เป็นความต้องการของตัวองค์กรอยู่แล้ว ว่าเราต้องการอะไรบ้าง แบบไหน อย่างไร เรารับผิดชอบทั้งทางออนแอร์ และออนไลน์

แม้ว่าเราจะเป็นช่างภาพข่าว ช่างภาพที่มาจากทีวี หรือทำงานทีวีเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันทางสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทในการรายงานข่าว ภาพข่าวที่ช่างภาพเราถ่ายมา จึงถูกนำไปใช้ทั้งแพลตฟอร์มออนแอร์ และออนไลน์

เพราะฉะนั้นการถ่ายภาพ ที่นำมาใช้ทั้งออนแอร์และออนไลน์ มีความเหมือนและแตกต่างกันในบางเรื่อง เหมือนกันก็คือภาพเหตุการณ์ทั่วไปที่ต้องถ่ายมา แต่ความแตกต่างคือภาพที่ถ่ายมาบนออนไลน์ต้องใช้มากกว่า เพราะออนไลน์มีเวลาในการนำเสนอนานกว่า

Private Jet ของ ทักษิณ ชินวัตร กำลังร่อนลงรันเวย์ของสนามบินดอนเมือง

Private Jet ของ ทักษิณ ชินวัตร กำลังร่อนลงรันเวย์ของสนามบินดอนเมือง

Private Jet ของ ทักษิณ ชินวัตร กำลังร่อนลงรันเวย์ของสนามบินดอนเมือง

ในอดีตเมื่อช่างภาพไปทำงานชิ้นหนึ่ง อย่างงานแถลงข่าว ถ้าเป็นทีวี คนมาแถลงข่าวจบก็คือจบ ปิดกล้อง แต่ถ้าเป็นงานออนไลน์ มันอาจจะต้องนานกว่านั้น เช่น ก่อนที่จะมีการแถลง อาจจะต้องเริ่มถ่ายภาพแล้ว ออนไลน์อาจจะต้องสตรีมขึ้นไป เพื่อเป็นการไปดึงคนดูมาก่อน ก่อนที่จะเข้าแถลงข่าว หลังจากแถลงจบ ออนไลน์อาจจะต้องแช่ภาพไว้ซักหน่อยก่อน เพื่อให้เห็นบรรยากาศอีกนิดหน่อย อันนี้คือความต่างระหว่างออนไลน์ กับทีวี

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : เลือกอุปกรณ์ในการทำงานอย่างไร ให้เหมาะสมกับงาน

ปรีชาพล : มี Keyword ที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง คือเรื่องของความเร็ว พอเป็นเรื่องของออนไลน์ ความเร็วเป็นเรื่องสำคัญของออนไลน์ เพราะฉะนั้น เรามีอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่เรียกว่าสตรีม ที่เป็นสตรีม 4 G ตัวนี้เหมาะกับการไลฟ์สด เมื่อเหตุการณ์เกิดเราสามารถส่งภาพกลับมาได้ทันที

เราจะมีอุปกรณ์ชนิดนี้ให้กับช่างภาพ ซึ่งเรามี 2 แบบคือ แบบชุดใหญ่เลย และเป็นแบบชุดเล็ก งานบางงาน เราอาจจะต้องการที่เป็นชุดใหญ่ เพราะว่า การแข่งขันในเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตหรือแบนวิชในพื้นที่นั้นสูง เราอาจจะต้องอุปกรณ์ชิ้นใหญ่หน่อย

แต่ในบางพื้นที่ที่ไม่มีความจำเป็นในการแข่งขัน หรือใช้แบนวิชน้อย เราก็จะมีอุปกรณ์อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเอาไปสนับสนุนได้ เราจะเอาไว้ตอบโจทย์ในเรื่องของความไว เช่นรายการสด ซึ่งในที่นี่ไม่ได้หมายความว่าเป็นออนแอร์อย่างเดียว แต่เป็นรายการสดในแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ประเมินสถานการณ์การทำงานตอนนี้เป็นยังไงบ้าง อย่างงานการเมือง ที่มีการแข่งขันสูง เรายังต้องเข้าไปเสริมหรือเพิ่มอุปกรณ์อะไรอีกบ้าง

ปรีชาพล : ในเรื่องของอุปกรณ์อาจจะต้องมีเสริมเข้าไปอีก เพราะว่า อุปกรณ์บางส่วนหมดสภาพก็มี เตรียมหมดสภาพก็มีหรือชำรุดแล้ว อีกอย่างก็คือ ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีทุกวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้นทางเราก็ต้องศึกษาว่า ทางบรอดคาสติ้งเอง เทคโนโลยีไปถึงไหน เราก็ต้องเตรียมเอาไว้ด้วย

ในส่วนของข้อกังวลคือเรื่องของความรวดเร็ว เนื่องจากไทยพีบีเอสเป็นสถานีโทรทัศน์ สิ่งหนึ่งที่เราพยายามเสนอตลอดเวลาก็คือ ความสด ความทันท่วงที ทันต่อเหตุการณ์ทั้งหมด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราพยายามทำให้คนดูไทยพีบีเอส ได้รับชมเหตุการณ์ในเวลาที่เร็วที่สุด เท่าที่จะเร็วได้ นี่คือหัวใจของเรา ทำให้เราต้องหมั่นหาเทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ มาเพื่อตอบสนองเรื่องความไว

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : มีการพัฒนาคนอย่างไร เพราะระยะหลังฝ่ายช่างภาพ ได้พัฒนาผู้ช่วยช่างภาพเพื่อมาทำงานเสริมได้มากขึ้น

ปรีชาพล : ในส่วนของคนปกติช่างภาพทำงานร่วมกับผู้ช่วยช่างภาพ ซึ่งผู้ช่วยช่างภาพจะทำหน้าที่เสมือนแขนขาให้กับช่างภาพเลย เราก็มีแนวคิดว่า ทำไมเราจึงไม่ให้เขามีความรู้แบบเดียวกับที่ช่างภาพเป็น ยิ่งถ้าเขามีความรู้ความสามารถได้อย่างที่ช่างภาพเป็น นอกจากเขาจะช่วยงานเราได้เยอะแล้ว เป็นโอกาสในการที่เขาจะแสวงหาด้วย

เราอยากให้คนที่มาทำงานกับเรา ไม่ใช่แค่มาช่วยเราอย่างเดียว เราอยากถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เรามีให้กับเขาด้วย เพราะโอกาสข้างหน้า เขาอาจจะช่างภาพทำงานร่วมกับเราก็ได้ อันนี้ก็จะเป็นประโยชน์

ในส่วนของการพัฒนา นอกจากงานที่ต้องออกในออนแอร์แล้ว ก็จะมีในแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย

ทุกวันนี้ช่างภาพก็ต้องศึกษาเรื่องการทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย เช่น การตัดต่อคลิป เราก็ต้องตัดเป็น เพราะคงปฏิเสธได้บาก เพราะทุกวันนี้คนโดยทั่วไปก็ใช้โซเชียลมีเดียอยู่แล้ว เช่น เฟซบุ๊ก TiKTok Twitter
ภาพจากช่างภาพไทยพีบีเอส ที่ถูกกล่าวถึงในโลกออนไลน์ว่าเป็นภาพที่ดีที่สุดในวันนั้น (22 ส.ค.2566)

ภาพจากช่างภาพไทยพีบีเอส ที่ถูกกล่าวถึงในโลกออนไลน์ว่าเป็นภาพที่ดีที่สุดในวันนั้น (22 ส.ค.2566)

ภาพจากช่างภาพไทยพีบีเอส ที่ถูกกล่าวถึงในโลกออนไลน์ว่าเป็นภาพที่ดีที่สุดในวันนั้น (22 ส.ค.2566)

เพราะฉะนั้นเบสิกทุกคนมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ในฐานะที่เราทำงานแบบนี้อยู่แล้ว เราจะดึงสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา มาใช้ประโยชน์ให้กับตัวเราได้อย่างไร แล้วเป็นประโยชน์กับองค์กรด้วย ฝึกให้เขาตัดต่อ ฝึกให้เขาคิด จับประเด็น

เวลาเขาไปทำข่าวในแต่ละอย่าง ให้เขากลับมาเล่าให้เราฟังว่า วันนี้เขาไปทำอะไรกลับมาบ้าง และเขามีประเด็นแบบไหน เรื่องไหนน่าสนใจ เรื่องนี้เอามาทำเป็นคลิปสั้นๆ ได้มั้ย ส่งให้ทีมออนไลน์ไปเพื่อให้ไปนำเสนอบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เราก็พยายามฝึกทบทวน ดูคลิปต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นประโยชน์กับแผนกช่างภาพ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : เวลาเลือกสถานที่ (Location) เพื่อถ่ายภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละข่าว มีการเลือกอย่างไร

ปรีชาพล : เรื่องนี้ตอบยาก เพราะว่า ช่างภาพแต่ละคนมีมุมมองทางศิลปะการถ่ายภาพที่หลากหลาย แตกต่างกัน มุมนี้บางคนบอกว่าสวย มุมนี้บางคนบอกว่าไม่สวย

อยากบอกว่ามุมที่ดีที่สุด อาจจะไม่ได้ภาพที่ดีที่สุด มุมที่ไม่ดีที่สุด อาจจะได้ภาพที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้น ภาพที่ประสบผลสำเร็จคือภาพที่มีคนดูมากที่สุด เราถือว่าภาพนั้นประสบความสำเร็จ ซึ่งมันอาจจะไม่ได้มาจากมุมที่ดีที่สุดก็ได้ครับ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทักษิณกลับไทย : ส่องเครื่องบินส่วนตัว "พาทักษิณกลับบ้าน"

ทักษิณกลับไทย : "ทักษิณ" คืนกลับแผ่นดินเกิดในรอบ 17 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง