แจกเงินดิจิทัล 10,000 โจทย์ใหม่ โจทย์ใหญ่ รัฐบาลเพื่อไทย

เศรษฐกิจ
24 ส.ค. 66
13:22
4,014
Logo Thai PBS
แจกเงินดิจิทัล 10,000 โจทย์ใหม่ โจทย์ใหญ่ รัฐบาลเพื่อไทย

โจทย์ใหม่ และโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต้องพบและเลี่ยงไม่ได้ คือ การนำงบประมาณจำนวน 5.6 แสนล้านบาท มาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ประเทศตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ คือ การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่า มีทั้งผลดี-ผลเสีย

แต่ประเด็นสำคัญ จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าด้านการใช้งบประมาณโดยต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และแหล่งที่มาของงบประมาณ

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง วิเคราะห์ว่า แจกเงินดิจิทัลหากทำจริงมีข้อเสีย คือ การเพิ่มภาระงบประมาณ และซ้ำเติมหนี้สิน ส่วนข้อดีคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ 

หากจะทำต้องดูงบประมาณประเทศควบคู่ไปด้วย ปัจจุบันวงเงินจากงบฯ ปี 2567 เพิ่มจากงบปี 2566 อยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท จำนวนนี้ 20 % เป็นงบลงทุน คิดเป็นเงินประมาณ 7 แสนล้านบาท ที่เหลือกว่า 76 % จะเป็นเป็นงบประมาณประจำ

นโยบายการแจกเงินดิจิทัล เป็นเพียงการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย กระตุ้นความต้องการในระยะสั้น นโยบายนี้อาจเป็นความเสี่ยงที่กระทบทางการคลัง เนื่องจากเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในนโยบายดังกล่าว สูงกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน มีคำถามว่า วิธีการหาเงินจะมาจากแหล่งใด เงินตัวนี้ไปกระทบกับเงินงบประมาณรายจ่ายอื่น ๆ หรือไม่

รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย มั่นใจว่า มาตร การนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นแน่นอน เม็ดเงินจะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลายล้านล้านบาท โดยจะทำให้สำเร็จภายใน 6 เดือน

แต่ปัญหาคือแม้จะทำได้ แต่จะส่งผลกระทบเสถียรภาพทางการคลัง และกระทบหลายนโยบายเดิมที่รัฐบาลชุดเก่าทำไว้แล้วหรือไม่ และที่คาดหวังว่าเงินส่วนนี้จะเป็นรายได้สร้างภาษีกลับมาเข้ารัฐนั้นตอบโจทย์อย่างที่ตั้งเป้าไว้ หรือไม่

และเชื่อว่าเพื่อไทยอาจไม่ได้จบแค่เงินดิจิทัล 10,000 แต่ยังมีโยบายอื่น ๆ ที่จะนำมาแจกจ่ายภายใต้งบประมาณจำกัด สร้างปัญหาหนี้รวมถึงสเถียรภาพทางเศรษฐกิจและการคลัง

นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า สำหรับรัฐบาลผสม ทุกพรรคการเมืองที่เข้าร่วมแต่ละพรรคมีนโยบายไม่ต่างกัน คือ ลด แลกแจก แถม การแจกเงินดิจิทัล มีข้อกังวลและน่าเป็นห่วงว่า จะสร้างปัญหาซึ่งไทยไม่เคยเห็นมาก่อน

หากมีปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการแข็งขันลดลง แต่ถ้าบริหารไม่ดี จะเพิ่มปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจไทยใกล้เคียงกับลาติอเมริกา อาเจนตินาอีกด้วย

การเมืองฉุดเศรษฐกิจขยายตัวช้า

รศ.ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้ามาก ครึ่งปีแรกขยายตัวแค่ 2.2 % ในไตรมาส 2 ขยายตัวต่ำลงมาเหลือ 1.8 % โดยในไตรมาสแรกขยายตัวอยู่ที่ 2.6 – 2.7 ซึ่งผิดคาดที่ว่าในไตรมาส 2 จะขยายตัวได้ถึง 3 % ซึ่งมาจากหลายปัจจัยหนึ่งในนั้น คือ "เรื่องปัญหาทางการเมือง"

หากมองประโยชน์ระยะสั้นไทยจำเป็นจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ขยายตัวอย่างน้อยที่สุดปีนี้ 3% โดยมีมาตรการร่วมกับเอกชนโดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ และกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

สำหรับงบประมาณเก่าที่จะกำลังหมดลง รัฐบาลสามารถกระตุ้นได้เนื่องจากยังมีงบลงทุน ของรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชน ขณะที่โครงการต่าง ๆ ที่มีการเบิกจ่ายยังไม่ครบต้องกระตุ้นให้มีโครงการในลักษณะนี้ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรกไทยมีปัญหาเรื่องการส่งออก ติดลบ 5% กว่า ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ขยายตัวช้าลง หากมีการเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยขยายไปตลาดใหม่ ๆ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา เอเซียกลาง ยุโรป หากเราทำงานหนักขึ้น ในการขยายสัดส่วนนี้จะเป็นตัวช่วยเสริมได้

หนี้สาธารณะวิกฤต อยู่ในช่วงปริ่มน้ำ

รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทย อยู่ในระดับสูงที่ 61% ต่อจีดีพี ซึ่งอยู่ในลักษณะที่ปริ่มน้ำ และหนี้สาธารณะไม่ควรเกิน 60% ก่อนหน้านี้ เคยมีการขยายเพดานหนี้ จาก 60% เป็น 70% ต่อจีดีพี เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 แต่ปัจจุบันเหตุการณ์คลี่คลายแล้ว หนี้สาธารณะจึงไม่บานปลาย

หากมีการขยายเพดานเกิดจากความจำเป็น หรือก่อหนี้เพิ่ม ไม่ควรทำแล้ว เพราะจะไปกระทบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะสั้นนั้น ต้องคำนึงถึงเสถียรภาพทางการคลัง ซึ่งอาจทำได้หากไม่ก่อหนี้ สามารถพัฒนาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ขยายตัวดีขึ้น รายได้สูงขึ้น เก็บภาษีได้มากขึ้น

รศ.ดร.สมชาย ย้ำว่า การพัฒนาประเทศ ควรคู่ขนานไปกับนโยบายเชิงโครงสร้างและพัฒนาความสามารถ ด้านการแข่งขัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง อัตราการเติบโตของประเทศไทย ขยายตัวแค่ 3%

ขณะที่ อาเซียน เฉลี่ย 5 % ที่เป็นแบบนี้เพราะส่วนหนึ่งพบว่าไทยมี "ค่าแรงสูงขึ้น" สวนทางกับฝีมือการทำงานที่ยังเท่าเดิม สู้ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ เช่น เวียดนาม ที่ฝีมือแรงงานดีกว่าไทย ขณะที่ค่าแรงถูกกว่า

หนี้ครัวเรือนหนัก รายได้ไม่พอรายจ่าย

นอกจากนี้ รศ.ดร.สมชาย ยังตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลชุดใหม่นำเสนอนโยบาย แรงงานขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาท จะยิ่งเป็นปัญหาเพราะทำให้ขีดความสามารถไทยแย่ลง ต้นทุนสูงขึ้น

และต้องตอบคำถามว่าจะทำอย่างไร หากจะพัฒนาเรื่องค่าแรงและทักษะแรงงาน และการพัฒนาทักษะแรงงานอย่างเดียวอาจยังไม่พอ จึงต้องทำให้เหมาะสม

เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ กำลังใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งปัจจุบันยังทำได้ไม่เต็มที่ และเป็นเรื่องที่ต้องทำคู่ขนานกันไป

ส่วนประเด็นหนี้ครัวเรือนก็มองข้ามไม่ได้ คือ หนี้ครัวเรือนตอนนี้ 91% หรือประมาณ 15 ล้านล้านบาท อาจจะมีปัญหารายได้ไม่พอจ่าย ดังนั้นในระยะสั้นอาจต้องหาวิธีการมาช่วย ส่วนระยะกลางและระยะยาว อาจเป็นในเรื่องการลดดอกเบี้ย โดยเข้าไปช่วยให้เขามีขีดความสามารถ เลี้ยงตัวเองได้ อาจต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยที่สุดเริ่มดำเนินมาตรการ เป็นจุดเริ่มต้นให้เห็นโครงสร้างว่ากำลังทำอยู่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดเงื่อนไข "เงินดิจิทัล" เพื่อไทยแจก 10,000 บาท

เพื่อไทย แจงไม่มีแอปฯ "เงินดิจิทัล 1 หมื่น" เริ่มใช้ครึ่งปีแรก 2567

ข่าวที่เกี่ยวข้อง