ไม้พะยูง : ทองคำแห่งผืนป่า

สิ่งแวดล้อม
30 ส.ค. 66
11:56
2,045
Logo Thai PBS
ไม้พะยูง : ทองคำแห่งผืนป่า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ไม้พะยูง หรือ ที่คนอีสานเรียกว่า ไม้ยูง ไม่นิยมนำมาสร้างบ้านเรือนเพราะถือเป็นไม้ชั้นสูง ส่วนใหญ่จะไปทำหิ้งพระ หรือ ปล่อยทิ้งตามหัวไร่ปลายนา

กระทั่งเมื่อประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกเมื่อปี 2551 มีความต้องการใช้ไม้พะยูงจำนวนมาก เพื่อนำมาซ่อมแซมพระราชวังต้องห้ามและทำของที่ระลึกต้อนรับนักท่องเที่ยว

ว่ากันว่าในช่วงนั้น พ่อค้าชาวจีนหอบเงินนับพันล้านมากว้านซื้อไม้พะยูงจากประเทศไทย จนเกิดกระแสตื่นตัวตัดไม้พะยูงทั่วประเทศ "ไม้พะยูง" มีคุณสมบัติที่ต่างชาติ เรียกว่า Siamese Rosewood เนื้อละเอียดแข็งแรงทนทาน ขัดและชักเงาได้ดี

ชาวกัมพูชาบุกทับลาน

ไม้พะยูงที่มีขนาดใหญ่และคุณภาพจะอยู่แถวเทือกเขาพนมดงรักษ์ทั้งในป่าสงวนแห่งชาติ และ เขตอุทยานฯ ครอบคลุม จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ จ.บุรีรัมย์ และ จ.อุบลราชธานี แต่ปัจจุบันแทบจะไม่หลงเหลือ

ชายแดนไทย-กัมพูชา อยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า 200 กม. แต่จากสถิติพบว่า มีชาวกัมพูชาถูกจับดำเนินคดีกว่า 200 คน ซึ่งการเดินทางเข้ามาของกลุ่มแรงงานชาวกัมพูชา จะลักลอบเข้ามาเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ประมาณ 10-30 คน มีเสบียงเพื่อดำรงชีพในป่า 7-10 วันต่อครั้ง และจะมีคนในพื้นที่นำทางและลำเลียงไม้ของกลาง เพื่อไปส่งให้นายทุนตามแนวชายแดน

ประวัติศาสตร์ จันทรเทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวว่า ทำไมต้องเป็นคนเขมร เพราะมาแบกไม้หนึ่งครั้ง ได้เกือบ 20,000 บาท แต่จะมีคนไทยในพื้นที่เป็นหัวโจก เป็นคนรวบรวมไม้ จากนั้นจะเสี่ยงดวงไปขายที่ชายแดนเลย

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ปล้นไม้ "วัด-โรงเรียน" สู่วิธีการที่แยบยล

เมื่อไม้ในป่าธรรมชาติหมด กลุ่มขบวนการค้าไม้ข้ามชาติจะเริ่มหาเป้าหมายใหม่ตามสถานที่ราชการ ทั้งวัดและโรงเรียนโดยจะใช้วิธีการรวมกลุ่มคนพร้อมอาวุธครบมือ เข้าไปตัดในพื้นที่เป้าหมายในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งจะพบเห็นใน จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี

แต่ปัจจุบันกฎหมายเปิดช่องให้สามารถตัดไม้พะยูงในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือที่ราชพัสดุ ขายได้ จึงพบการซื้อ-ขายที่แยบยลมากขึ้น โดยมีตัวละครเพิ่มเข้ามา ทั้งกรมธนารักษ์ ศูนย์ป่าไม้จังหวัด ผู้อำนวยเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันวิธีการนี้กำลังเป็นที่นิยมที่ จ.กาฬสินธุ์

ความต้องการเศรษฐีใหม่

หลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย "เศรษฐีใหม่" หรือ เจ้าสัวจากเมืองจีน ก็มีเริ่มสั่งนำเข้าไม้พะยูงจากไทยทันที เพื่อนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์สวยงามไว้ประดับบารมี โดยใช้เครือข่ายใหญ่ที่มีกลุ่มบุคคลเกี่ยวข้องมากกว่า 100 คน ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัด โดยมีนายทุนใหญ่อยู่ในประเทศกัมพูชาและประเทศลาว ซึ่งจะรับออเดอร์มาจากประเทศจีน ทำให้ไม้พะยูงกลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีต ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ที่จับกุมได้เพราะหลักฐานการโอนเงิน ที่จับไม่ได้เพราะจ่ายเงินสด โดยมีเจ้าหน้าที่ของเราอำนวยความสะดวก แต่เมื่อตรวจสอบก็พบว่า ถูกให้ออกจากราชการไปแล้ว แต่ยังอ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่รับเคลียร์หน่วยงานต่าง ๆ จ่ายเงินก้อนหนึ่งก่อนเพื่อนำไม้ออก และจ่ายส่วนที่เหลือเมื่อไม้ถึงที่หมาย

ไม้พะยูง : ไม้ทองคำ

ไม้พะยูงท่อน ขนาด 2 เมตร ลำต้นตรงและแก่นสีดำจัด ซื้อขายในประเทศลูกบาศก์เมตร (คิว) ละ 300,000-500,000 บาท ขนาด 1.2 เมตร ลำต้นตรง แก่นสีดำ ซื้อขาย 100,000-300,000 บาท ที่เหลือก็ลดหลั่นลงมาตามขนาดและสีของเนื้อไม้

แต่เมื่อเทียบกับไม้สักทองที่ซื้อขายลูกบาศก์เมตรละ 30,000-50,000 บาท จึงสูงมากกว่ากันถึง 10 เท่า เมื่อส่งไปขายต่างประเทศ ก็จะอัพราคาขึ้นอีก 5-10 เท่าจึงมีกลุ่มคนยอมเสี่ยง ยอมทำผิดกฎหมาย เพื่อตัดไม้พะยูงส่งขายตามออเดอร์ของเจ้าสัวจากเมืองจีน

รายงาน : ยุทธนา อินตะสอน ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อหา จนท.รัฐ 8 คน เชื่อมโยงคดีไม้พะยูงของกลางหาย  

กรมอุทยานฯ สกัดจับแก๊งขนไม้พะยูง-ซากสัตว์ป่าที่วังน้ำเย็น 

จับเครือข่ายมู่หลานซุกไม้พะยูง 123 ท่อนในบ่อน้ำ-ขยายผลจนท.เอี่ยว  

หน.สวนพฤกษศาสตร์ดงมะอี่ ปัดเอี่ยวปล้นไม้พะยูง 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง